ฮุปแต้มอีสาน, สิมอีสาน (Isan Mural Painting and Isan Temple Architectures)

 สิม หอไตร ฮูปแต้ม

 Sim ISAN สิม สิมอีสาน หอไตรอีสาน ฮูปแต้มอีสาน มนต์เสน่ห์แห่งพุทธศิลป์แดนดินอีสาน
 
  
  
บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต : ฮูปแต้ม หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังในอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
อังคาร ที่ 26 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2556

(ข้อมูลจาก จิตรกรรมฝาผนังอีสาน ไพโรจน์ สโมสร)

ฮูปแต้ม หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังในอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา

จิตรกรรมอีสาน
         ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์ วิหาร เป็นงานจิตรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคอีสานหรือที่เรียกว่า “ฮูปแต้ม” มีปรากฏอยู่ที่สิม (โบสถ์) วิหารหอไตร และหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ฮูปแต้มที่พบกันเป็นส่วนมากทางภาคอีสานมักจะเขียนอยู่บนผนังด้านนอกของสิมหรือโบสถ์

         รูปแบบและกรรมวิธีการจัดองค์ประกอบศิลป์ในฮูปแต้มอีสานไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ช่างแต้มมีอิสระเสรีในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ช่างแต้มคนเดียวกันหากได้ไปเขียนภาพ ณ สถานที่ที่ต่างกันรูปลักษณ์ขององค์ประกอบศิลป์รวมทั้งรายละเอียดก็จะแตกต่างกันออกไป ช่างแต้มจะเลือกสรรเรื่องราวจากพุทธประวัติหรือจากวรรณกรรมพื้นบ้านเฉพาะส่วนหรือตอนที่ช่างแต้มประทับใจนำมาพรรณนาด้วย เส้นสี และองค์ประกอบภาพที่ต่อเนื่องกันไป จากภาพหนึ่งเชื่อมต่อกับอีกภาพหนึ่งเพื่อสื่อสารความคิดให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ มองเห็นความงามทางสุนทรียศาสตร์และคุณค่าทางคุณธรรมที่แฝงอยู่ในปฐมธาตุทัศนศิลป์ เนื้อหาของภาพแต่ละตอนจะจบลงในตัวของมันเอง

         องค์ประกอบภาพส่วนรวมในฮูปแต้มอีสานคล้ายกับการแสดงหนังตะลุง ผืนผนังภายในและภาพภายนอกของสิมคือ จอหนัง ตัวละครที่กำลังแสดงอิริยาบถต่างๆ ตามท้องเรื่อง คือตัวหนังตะลุงที่ช่างแต้มนำมาประดับบนผืนผนัง จากตอนหนึ่งเชื่อมต่อกับอีกตอนหนึ่ง ใกล้ๆกับเนื้อเรื่อง แต่ละตอนจะมีคำบรรยายภาพด้วยตัวอักษรกำกับไว้ด้วย ช่างแต้มจะใช้เส้นแถบเป็นสิ่งแทนการคั่นเนื้อเรื่องแต่ละตอนหรือไม่ก็ปล่อยช่องว่างรอบองค์ประกอบภาพ เพื่อมิให้เกิดความสับสนระหว่างเนื้อหาแต่ละตอน ช่องว่างจะเกิดคุณค่าคล้ายกับที่พักสายตาคล้ายกับการเว้นวรรคของประโยค หรือการขึ้นบรรทัดใหม่ของคอลัมน์ในการเขียนหนังสือ พื้นผนังหรือฉากหลังไม่มีการรองพื้นด้วยสีหนัก จะรองพื้นด้วยสีขาวล้วนหรือขาวนวล ช่างแต้มจะร่างรูปทรงของตัวละครต่างๆลงบนผืนผนังสีขาวนั้น มีการลงสีตกแต่งเครื่องประดับตัดเส้นลงรายละเอียดในแง่มุมบางส่วนเฉพาะส่วนที่เป็นรูปทรงของตัวละคร จุดเด่นขององค์ประกอบภาพจึงอยู่ที่ตัวละคร บรรยากาศของภาพก็ดูสว่างสดใส ฮูปแต้มลักษณะเช่นนี้พบมากในบริเวณแถบจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม อันเป็นจังหวัดในกลุ่มอีสานกลาง สิมบางหลังช่างแต้มจะระบายสีบางๆมีน้ำหนักอ่อนๆ บริเวณใกล้เคียงกับตัวภาพหรือตัวละคร ทำให้เกิดความเด่นชัดมากขึ้น มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ เกิดความรู้สึกนุ่มนวลมากกว่าที่เป็นสีขาวโดดๆ ดังเช่นงานจิตรกรรมฝาผนังจากวัดพุทธสิมา บ้านฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม หรือวัดโพธิ์คำ บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

 
 
ฮูปแต้มวัดพุทธสิมา


ฮูปแต้มวัดโพธิ์คำ

         กรรมวิธีการเขียนภาพบนพื้นผนังที่ใช้สีขาวนวลเป็นสีพื้นเช่นนี้เป็นเทคนิค ที่ใช้ในศิลปกรรมสมัยอยุธยา ที่มีชื่อเสียงและมีลักษณะเด่นมากก็คือ ภาพเขียนที่ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทธไธยสวรรย์ อำเภอเมือง จังหวัดอยุธยา ภาพเขียนจากวัดเกาะแก้วสุทธาราม อำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี และวัดช่องนนทรี เขตยานาวา กรุงเทพฯ หรือเป็นแนวเดียวกับการเขียนภาพในสมุดข่อยซึ่งต่างไปจากการเขียนภาพในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มักจะรองพื้นฉากหลังด้วยสีคล้ำเข้มในเบื้องแรก แล้วจึงเขียนภาพตัวละครซ้อนทับลงไป ทำให้ภาพของตัวละครลอยเด่นออกมาจากฉากหลังเกิดน้ำหนัก(Value) อ่อนแก่ชัดเจน เทคนิคลักษณะนี้เหมาะสมกับอาคารที่มีฝาผนังกว้างขวาง มีหน้าต่างพอให้แสงสว่างเข้ามาได้มากกว่าอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแทบจะไม่มีหน้าต่างที่ให้แสงผ่านเข้ามาภายในตัวอาคารได้สะดวก ช่างแต้มอีสานได้ตระหนักถึงเหตุผลที่ว่าต้องพยายามสร้างบรรยากาศภายในตัวอาคารให้เกิดความสว่างให้มากที่สุด โดยให้พื้นผนังมีสีขาวนวล แล้วเขียนภาพตัวละครซ้อนทังลงไป สีที่ช่างแต้มชาวอสานใช้เป็นสีธรรมชาติ และมีสีเคมี

สีธรรมชาติได้แก่

        - สีคราม จากต้นคราม
        - สีเหลือง จากยางต้นรง
        - สีแดง, สีน้ำตาลแดง จากดินแดงประสานกับยางบง
        - สีเขียว เป็นสีผสมระหว่าง สีครามและสีเหลือง
        - สีดำ จาก เขม่าไฟนำมาบดป่นให้ละเอียดหรือหมึกแท่งจากจีน
        - สีเคมี ได้แก่ สีบรรจุซองตราสตางค์แดง

ตัวเชื่อมหรือตัวประสาน
         ระหว่างสีกับผนัง ช่างแต้มจะใช้ยางบง หรือยางมะตูมผสมน้ำ แล้วนำมาผสมกับสีฝุ่นที่บดละเอียดแล้ว บางครั้งก็ใช้ไขสัตว์ พู่กัน ใช้รากดอกเกด(ดอกลำเจียก) ทุบปลาย

ช่างแต้ม
         ช่างแต้มในงานฮูปแต้มอีสานเป็นทั้งฆราวาสและพระภิกษุผู้ซึ่งใช้ชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับธรรมชาติในสังคมชนบท ช่างแต้มมีความเชื่อว่าจะเป็นบุญกุศลหารกได้ถ่ายทอดคุณธรรมที่แฝงอยู่ในพุทธประวัติและวรรณกรรมพื้นบ้านอันเป็นที่นิยมของชาวบ้านไว้ในฮูปแต้ม

         ฮูปแต้มจึงเปรียบเทียบได้กับสื่ออันสำคัญที่จะเป็นตัวเชื่อมโยง โน้มน้าวจิตใจผู้คนที่พบเห็นเกิดอารมณ์ความรู้สึก เกิดรสของความสนุกสนาน และเข้าถึงสาระแห่คุณธรรมที่อ่านได้จากเส้นละสี

         ช่างแต้มมีความเข้าใจในคุณลักษณะของความงามที่เกิดจากความเรียบง่ายอันเป็นคุณสมบัติของศิลปะพื้นบ้าน ทั้งนี้อาจจะเกิดจากมูลเหตุและข้อจำกัดบางประการ ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์และความชำนาญที่ต้องสร้างสมด้วยตนเอง ซึ่งมีผลให้เกิดเป็นรูปแบบฮูปแต้มอีสาน
ประการที่ ๑ พื้นที่ที่ใช้ในการแต้มภาพมีขนาดย่อมทำให้เกิดมุมมองภาพที่จำกัด ซึ่งสืบเนื่องมาจากขนาดของสิมที่มีขนาดเล็ก
ประการที่ ๒ วัสดุอุปกรณ์ซึ่งประกอบไปด้วย สี ตัวประสาน พู่กัน ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นสิ่งที่ได้มาจากการเสาะแสวงหามาด้วยตนเอง และเป็นวัสดุพื้นบ้านที่ได้มาจากธรรมชาติ
ประการที่ ๓ เทคนิควิธีการ ช่างแต้มส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดกันในหมู่เครือญาติจากพ่อมายังลูก ลุงมายังหลาน เป็นต้น
ประการที่ ๔ ช่างแต้มสิมหลังหนึ่งๆ มีจำนวนหลายคน มักจะมีช่างแต้มผู้มีฝีมือเพียงคนเดียวเป็นหัวหน้างาน นอกนั้นเป็นลูกมือ ดังนั้นภาพแต้มจังมีฝีมือไม่สม่ำเสมอกันทุกผนัง สิมหลังหนึ่งอาจมีภาพเด่นเพียง ๒ ด้านหรือด้านเดียวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ฮูปแต้มที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ฮูปแต้มที่วัดสระบัวแก้ว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ช่างแต้มจึงเปรียบได้กับสื่ออันสำคัญที่จะเป็นตัวเชื่อมโยง โน้มน้าวจิตใจผู้คนที่พบเห็นเกิดอารมณ์ความรู้สึก เกิดรสของความสนุกสนาน และเข้าถึงสาระแห่งคุณธรรมที่อ่านได้จากเส้นและสี ช่างแต้มมีความเข้าใจในคุณลักษณะของความงามที่เกิดจากความเรียบง่ายอันเป็นคุณสมบัติของศิลปะพื้นบ้าน ทั้งนี้อาจจะเกิดจากมูลเหตุและข้อจำกัดบางประการ ประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์และความชำนาญที่ต้องสร้างสมด้วยตนเองซึ่งมีผลให้เกิดเป็นรูปแบบฮูปแต้มอีสาน

ช่างแต้มในงานฮูปแต้มอีสาน อาจจำแนกตามลักษณะงานออกได้เป็น ๓ กลุ่ม
         กลุ่มที่ ๑ กลุ่มช่างพื้นบ้านแท้ๆ
         กลุ่มที่ ๒ กลุ่มที่ได้อิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ
         กลุ่มที่ ๓ กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมผสมล้านช้าง-กรุงเทพฯ

กลุ่มช่างพื้นบ้านแท้ๆ
        คือช่างที่ถ่ายทอดและฝึกฝนกันอยู่ในท้องถิ่น ลักษณะงานจึงเป็นศิลปะพื้นบ้านแท้ๆ กลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด

ฮูปแต้มวัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น


กลุ่มที่ได้อิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ
         คือช่างที่เคยไปกรุงเทพฯ อาจเป็นช่างหลวงหรือที่ได้รับการฝึกฝนจากช่างหลวง ลักษณะภาพจึงเป็นลักษณะคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม ผสมผสานกับเนื้อหาสาระและเทคนิควิธีการของพื้นบ้านกลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มผู้วาดภาพวัดหน้าพระธาตุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

ฮูปแต้มวัดหน้าพระธาตุ


กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมผสมล้านช้าง-กรุงเทพฯ
        กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นช่างแถบลุ่มน้ำโขง มีพระครูวิโรจน์รัตโนบลเป็นช่างใหญ่ของกลุ่มนี้ ลักษณะภาพของกลุ่มนี้บางภาพได้รับอิทธิพลจากวัฒนะธรรมหลวงกรุงเทพฯ เช่นภาพจับเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดหัวเวียงรังษี อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม(สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของหลวงชายอักษร) ภาพพุทธประวัติในสิมวัดโพธิ์คำ บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ฝีมือนายลี) แต่หลายๆภาพก็แสดงลักษณะวัฒนธรรมล้านช่าง เช่น ฮูปแต้มที่วิหารวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี (ฝีมือยาครูช่างเวียงจันท์) ฮูปแต้มที่วิหารวัดโพธิ์ชัยนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ช่างแต้มกลุ่มนี้จึงเป็นช่างแต้มท้องถิ่นที่สืบทอดวัฒนธรรมเดิมของตน ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้รับถ่ายทอดลักษณะการเขียนภาพแบบอย่างของกรุงเทพฯเอาไว้ด้วย ช่างแต้มกลุ่มนี้นอกจากจะฝากฝีมือไว้ตามสิมแถบฝั่งฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำโขงแล้ว บางคนก็ยังข้ามไปวาดภาพไว้ตามผนังสิมที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีกด้วย

ฮูปแต้มวัดหัวเวียงรังษี


ตัวอักษรที่พบในฮูปแต้มอีสาน

         สิ่งที่แสดงเอกลักษณ์ของฮูปแต้มอีสานอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวอักษรบรรยายภาพซึ่งมีทั้งตัวอักษรธรรม อักษรไทยและอักษรไทยปัจจุบัน อักษรเหล่านี้เป็นตัวเสริมให้ผู้ชมภาพเกิดความเข้าใจในบางภาพ บางคำแสดงฉากของเรื่องนำมาวาด บางคำบอกเฉพาะชื่อตัวละครในเรื่อง ตัวอักษรไทยปัจจุบันเป็นตัวอักษรที่เติมเข้าไปใหม่เนื่องจากชาวบ้านในปัจจุบันน้อยคนที่จะอ่านตัวอักษรแบบเดิมได้


อักษรธรรมอีสาน บนฮูปแต้มวัดจักรวาฬภูมิพินิจ จังหวัดร้อยเอ็ด



ฮุปแต้มวัดโพธาราม     ฮูปแต้มวัดป่าเรไรย์     ฮูปแต้มวัดทุ่งศรีเมือง




เข้าชม : 5297


บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต 5 อันดับล่าสุด







    หมายเหตุ : บางวัด ภาพจากอินเตอร์เน็ต เพราะยังไม่ได้เดินทางไปชม
ออกแบบโลโก้ ออกแบบกล่อง ออกแบบถุง ออกแบบสิ่งพิมพ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ วาดเส้น จิตรกรรม Drawing  Painting รับทำ SEO, ปั่นเว็บ, หน้า 1, อันดับ 1 ฮูปแต้ม, สิมอีสาน, ฮูบแต้ม, ศิลปะอีสาน, สิม, โบสถ์, หอไตร, สถาปัตยกรรมอีสาน


อาร์ตนานา สตูดิโอ และ เดอะ ไดโนเสาร์ อาร์ต แกลเลอรี่ ™ (หอศิลป์ เดอะแด็ก)
บ้านเลขที่ 9, 48 หมู่ 12 บ้านหนองซำ ต.น้ำอ้อม อ.ค้อวัง จ.ยโสธร 35160 กรุณาโทรติดต่อก่อนการเดินทางหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่เบอร์ โทร. 081- 303 4493, 064-092 9449
www.artnana.com

 ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ อีสานอาร์ตดอทคอม ช่องพุทธศิลป์อีสาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางถ่ายภาพนำมาจัดทำเว็บไซต์ ได้ที่ :

ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกะปิ ชื่อบัญชี นายพัฒยา จันดากูล เลขที่บัญชี 003-2-02799-9 ประเภท ออมทรัพย์

ต้องยอมรับความจริงว่า การเดินทางมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าน้ำมันรถ หากต้องเดินทางไกลๆ หลายร้อยกิโลเมตร ค่าใช้จายในแต่ละเที่ยวก็หลายพันบาท เว็บมาสเตอร์จึงต้องรองบประมาณ และวางแผนการเดินทางให้คุ้มกับค่าน้ำมัน โดยกำหนดจุดที่จะไปถ่ายภาพให้ได้เยอะๆ ก่อนการเดินทาง ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนค่าเดินทางครับ



3.133.121.160 | Copyright © 2008 - 2023 esanart.com All Rights Reserved.
Website designed by Artnana Sudio