ฮุปแต้มอีสาน, สิมอีสาน (Isan Mural Painting and Isan Temple Architectures)

 สิม หอไตร ฮูปแต้ม

 Sim ISAN สิม สิมอีสาน หอไตรอีสาน ฮูปแต้มอีสาน มนต์เสน่ห์แห่งพุทธศิลป์แดนดินอีสาน
 
  
  
บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต : ร้อยเรื่องราว บนผนัง “สิม“
จันทร์ ที่ 2 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2556

ร้อยเรื่องราว บนผนัง “สิม“

           "สวยตรงไหน?" ใครบางคนอาจถามในใจ เมื่อมองภาพวาดที่อยู่เต็มผนัง "สิม" หรือโบสถ์อีสานในคราวแรก ภาพวาดคนดูเหมือนตัวการ์ตูน ลายเส้นก็ดูด้อยฝีมือเมื่อเทียบกับภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยทั่วไป หนำซ้ำลำดับเรื่องราวของเรื่องที่เขียนยังสลับไปมาชวนปวดหัว! แต่คงมีอะไรพิเศษสักอย่าง จึงทำให้ใครหลายคนหลงเสน่ห์ภาพเขียน หรือ "ฮูปแต้ม" เหล่านี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น


           หลายเดือนก่อน "นายรอบรู้" ได้รับเกียรติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชวนไปเยี่ยมชมสิมอีสาน 7 แห่งในแผ่นดินอีสานกลาง ได้แก่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ คณะสื่อของเรามี อ. วิทยา วุฒิไธสง จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ชื่นชอบสิมอีสานมาให้ความรู้ และพาชมความงามแบบ "บ้านๆ" บนผนังสิม พร้อมกันนั้นยังช่วยถอดรหัสชีวิตของคนอีสานเมื่อร้อยปีก่อนที่บันทึกไว้ในฮูปแต้มได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่การกินอยู่หลับนอน จีบสาว ตาย ไปจนถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ


สินไซ หอยสังข์ และสีโห กำลังออกเดินทาง วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องนี้นับว่าโด่งดังที่สุดในอีสาน


           เมื่อมีผู้รู้มา "ร้อย-เรื่อง-ราว" ให้ฟังแล้วถึงเข้าใจว่า สิ่งที่มีค่ามากกว่าความสวยงามของลายเส้น คือภาพวิถีชีวิตของคนอีสานที่บันทึกอยู่บนผนังสิม รวมถึงคติความเชื่อที่แฝงไว้ ทำให้ในลายเส้นที่ไม่สวยกลับมีความงาม เต็มไปด้วย "ความม่วนซื่น" และ "เสน่ห์เฉพาะตัว" อย่างที่ควรหาโอกาสมาชมสักครั้ง


สินไซ พระเอกตลอดกาลแห่งฮูปแต้ม
           ณ จังหวัดขอนแก่น ดินแดนแห่งเสียงแคนอีสาน คณะของเรามาที่สิมวัดไชยศรี อ. เมือง เป็นจุดหมายแรก สิมที่นี่นับว่าเหลือฮูปแต้มที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในขอนแก่น เรื่องราวที่โดดเด่นคือเรื่อง "สินไซ" ที่เขียนบนผนังสิมทั้งด้านในและนอกทุกด้าน ไม่เพียงแต่ที่วัดไชยศรีเท่านั้น เรายังมักพบสินไซได้ตามฮูปแต้มเกือบทุกแห่ง ถ้าเป็นละครก็ต้องเรียกว่าเรื่องนี้ฮิตกันระเบิดระเบ้อ


ฉากนรก ในจินตนาการของช่างแต้ม ที่สิมวัดไชยศรี


           สินไซ เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านซึ่งได้รับความนิยมกันมากในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว โดยเฉพาะคนลาวนั้นนับถือสินไซเป็นฮีโร่ในใจ ในการแข่งขันซีเกมส์ไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ประเทศลาวเป็นเจ้าภาพ ยังมีการยกสินไซขึ้นมาเป็นมาสคอตเลยทีเดียว ส่วนที่ขอนแก่นนั้นสามารถพบรูปตัวละครสินไซได้ตามป้ายถนน ป้ายรถเมล์ เรียกว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองก็ว่าได้ ว่าไปแล้วคงไม่ผิดหากกล่าวว่า สินไซ เป็น "พระเอกตลอดกาล" ของคนอีสาน โด่งดังข้ามกาลเวลามานานชนิดที่ณเดชน์ เวียร์-ศุกลวัฒน์ หรือพระเอกลูกอีสานคนไหนก็ต้องชิดซ้าย

           วรรณกรรมสินไซ เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติมาเกิดเป็นสินไซ มีพี่น้องที่ร่วมผจญภัยด้วยกันคือสีโหหรือตัวสิงห์ และหอยสังข์ ทั้งสามถูกใส่ร้ายว่าเป็นตัวกาลกิณี จนถูกท้าวกุศราช บิดาของทั้งสามซึ่งเป็นผู้ครองนครปัญจาลขับไล่ออกจากเมือง แต่ด้วยความกตัญญู สินไซและพี่น้องทั้งสองจึงช่วยกันออกตามหานางสุมณฑา อาสาวแสนสวยที่ถูกยักษ์จับตัวไป ระหว่างทางสินไซและพี่น้องต้องต่อสู้กับศัตรูต่างๆ ไปจนถึงเมืองยักษ์และช่วยอากลับมา ตอนกลับสินไซเสียทีถูกฆ่าตายแต่ก็ได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาและกลับไปสู้กับยักษ์อีกครั้ง ทั้งคู่รบกันยาวนานแต่ไม่มีผู้ชนะ ท้ายที่สุดพระอินทร์ต้องมาช่วยไกล่เกลี่ยให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนานครบรสชาติ รวมถึงคุณธรรมน้ำมิตร และความกล้าหาญของสินไซ ทำให้วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องนี้ครองใจผู้ชมตลอดมา


พระเวสสันดรพานางมัทรี และกัณหา ชาลี ไปอาศัยอยู่ในป่า ต่อมากัณหา-ชาลี ถูกชูชกใช้เป็นทาส และพระธาตุนาดูน พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม

           ภาพสินไซที่สิมวัดไชยศรีนั้นวาดตามลำดับเรื่องราว แต่ก็มีบางช่วงที่สลับไปมา ฉากสินไซต่อสู้นั้นช่างแต้มวาดได้เร้าใจมาก โดยเฉพาะฉากตัดร่างพญางูเป็นชิ้นๆ ฉากบั่นคอนางยักษ์ที่พยายามมาจับสินไซไปเป็นสามี ฯลฯ ระหว่างภาพยังมีการสอดแทรกอักษรไทยน้อย-อักษรโบราณของชาวอีสานอธิบายไว้ด้วย ภาพทั้งหมดเขียนด้วยสีคราม เหลือง เขียว เป็นหลัก มีการวางจังหวะภาพได้อย่างลงตัวดูสวยงาม นอกจากนี้ยังมีเรื่องพระมาลัย ผู้เดินทางไปยังสวรรค์และนรก ซึ่งมีภาพที่ไม่ควรพลาดชมคือ "ฉากนรก" ช่างวาดนรกตามจินตนาการของตน เช่นมีคนถูกคีมหนีบลิ้น ปีนต้นงิ้ว คนลงกระทะทองแดงซึ่งดูรูปร่างเหมือนถ้วยกาแฟ รวมถึงภาพเปรตที่ดูแล้วคล้าย "ดาร์ธเวเดอร์" แห่งสตาร์วอส์มากกว่า อ. วิทยาอธิบายว่าที่ช่างแต้มวาดภาพนรกให้น่ากลัว ก็เพื่อสอนให้ชาวบ้านไม่กล้าทำบาป เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

           นอกจากวัดไชยศรี อีกสิมหนึ่งในขอนแก่นที่มีเรื่องราวสินไซปรากฎอยู่อย่างชัดเจน คือ วัดสนวนวารีพัฒนาราม อ. บ้านไผ่ ที่วาดเรื่องสินไซอย่างเป็นตอนตามลำดับเรื่องราวทีละผนัง แถมยังมีตัวอักษรภาษาไทยกำกับไว้อย่างชัดเจน ส่วนลายเส้นช่างวาดได้อย่างสะอาดตา ดูแล้วเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย เหมาะสำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นศึกษาเรื่องสินไซ


พระเวสสันดร: "การให้" คือหัวใจของคนอีสาน
           อีกเรื่องที่พบบนผนังสิมแทบทุกแห่ง บางทีอาจมีมากกว่าสินไซด้วยซ้ำ นั่นคือเรื่อง พระเวสสันดรชาดก

           ถ้าเคยได้ยินชื่อ ชูชก-กัณหา-ชาลี แสดงว่าเคยได้ฟังชาดกเรื่องนี้มาแล้วแน่นอน พระเวสสันดรชาดกคือชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะมาเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ผู้ให้ทานทุกอย่าง ใครมาขออะไรก็ให้ไปหมด จนถูกชาวเมืองขับไล่ให้ไปอยู่ป่า แม้แต่ลูกพระองค์ก็ให้ไปเป็นคนรับใช้ของชูชก ท้ายที่สุดพระอินทร์เห็นความดีจึงช่วยให้พระเวสสันดรกลับเข้ามาครองเมืองอย่างมีความสุข
           จากวัดสนวนวารีฯ เรายังอยู่ใน อ. บ้านไผ่ โดยมาแวะชมความงามกันต่อที่สิมวัดมัชฌิมวิทยาราม หรือวัดบ้านลาน วัดนี้มีฮูปแต้มเรื่องพระเวสสันดรเรื่องเดียวทุกผนัง ต่างจากสองวัดก่อนหน้าที่มีเรื่องอื่นด้วย


ภาพการลงช่วงและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่สิมวัดโพธาราม และช่างแต้มวาดผนังสิมวัดยางทวงวรารามได้อย่างอลังการ เต็มไปด้วยรายละเอียด

           ความโดดเด่นของฮูปแต้มที่วัดบ้านลาน คือการลงสีครามเป็นสีพื้นแทบทุกผนัง แล้วใช้สีเหลืองแซม สีโทนเย็นเกือบทั้งหมดนี้ให้เกิดความรู้สึกสบายๆ ในการชม ทว่าในความเย็นก็มีเรื่องร้อนๆ อยู่ เมื่อเราเหลือบไปเห็นฉาก "อีโรติก" ของชายหญิงกลุ่มหนึ่งที่จับ "อวัยวะ" กันอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม อ. วิทยา กระซิบให้ฟังว่าภาพเหล่านี้มาจากอารมณ์ขันของช่างแต้ม คนอีสานเป็นคนเปิดเผยจึงวาดกันให้เห็นกันไปเลยจะแจ้งทั้งของผู้ชายผู้หญิง

           วัดต่อมาคือวัดอุดมประชาราษฎ์รังสรรค์ ใน ต. นาจารย์ อ. เมือง จ. กาฬสินธุ์ ก็เขียนพระเวสสันดรเพียงอย่างเดียวเช่นกัน วัดแห่งนี้ลายเส้นจะดูมีฝีมือกว่าวัดบ้านลานขึ้นมาอีกขั้น โดยเฉพาะการวาดฉากในป่านั้นช่างแต้มทำได้อย่างยอดเยี่ยม มีสิงสาราสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ นก หมูป่า ฯลฯ สอดแทรกให้ดูอย่างเพลิดเพลิน ทั้งนี้ไปชมสิมแล้วอย่าลืมแวะไปซื้อหมูทอด หมูทุบ และแจ่วบอง ของบ้านนาจารย์ติดมือมาด้วย นับเป็นของฝากขึ้นชื่อ คณะสื่อไปชิมแล้วติดใจกันเป็นแถว

           ส่วนใครที่สงสัยว่าเหตุใดจึงมีภาพพระเวสสันดรอยู่ทุกสิมโดยไม่มีทศชาติชาดกเรื่องอื่นเลย อ. วิทยาสันนิษฐานว่าเรื่องพระเวสสันดรตรงกับคติการดำเนินชีวิตของคนอีสาน ที่ถือการให้และการแบ่งปันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ชาดกเรื่องนี้นอกจากปรากฎบนฮูปแต้มแล้ว ชาวอีสานยังมีประเพณีบุญผะเหวด งานบุญสำคัญในเดือนสี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานบุญสำคัญ 12 เดือนของคนอีสาน ที่เรียกว่า "ฮีตสิบสอง" ในงานจะมีการเทศน์พระเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ โดยเชื่อกันว่าใครที่ฟังครบทั้งหมดในวันเดียวจะได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์


ชีวิตคนบนผนังสิม
           จากกาฬสินธ์ เรามุ่งเข้าสู่มหาสารคาม จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น "สะดืออีสาน" เพราะอยู่ใจกลางภาคอีสานพอดิบพอดี มาถึงที่นี่แล้วต้องไปสักการะพระธาตุนาดูน ใน อ. นาดูน เป็นสิริมงคลกับชีวิตกันเสียก่อน ไม่ไกลจากพระธาตุ มีสิมที่น่าสนใจอยู่ใกล้ๆ ถึงสองสิม นั่นคือ สิมวัดโพธาราม และสิมวัดป่าเรไร
           สิมวัดโพธาราม วาดทั้งเรื่องสินไซ พระเวสสันดร และพุทธประวัติ แต่ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือรายละเอียดชีวิตคนที่แทรกอยู่ในภาพ โดยเฉพาะในฉากที่เฉลิมฉลองพระเวสสันดรกลับสู่เมืองนั้น มีทั้งภาพชายหนุ่มหญิงสาวทำงานลงข่วง ภาพการสรงน้ำพระที่เรียกว่าพิธี "กองฮด" ฯลฯ ทั้งนี้เราขอนำคำอธิบายของ อ. วิทยา มาผสมผสานกับเรื่องที่อ่านเจอในหนังสือ ซ่อนไว้ในสิม ก-ฮ ในชีวิตอีสาน ของคุณอู่ทอง ประศาสนวินิจฉัย เพื่อช่วยไขความเข้าใจภาพที่เด่นๆ ดังนี้
          ภาพ กองฮด จะเห็นพระภิกษุนั่งพนมมืออยู่ใต้รางพญานาคที่มีเทียนปักอยู่รอบๆ ซึ่งเรียกว่า "ฮางริน" โดยมีชาวบ้านล้อมรอบ พิธีกองฮดคือการสรงน้ำพระภิกษุ ชาวบ้านจะร่วมกันจัดขึ้นเพื่อยกย่องพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมีความสามารถ บางทีก็ใช้รดบุคคลที่ชาวบ้านเคารพนับถือ นิยมทำร่วมกับงานบุญอื่นๆ เช่นบุญสงกรานต์ หรือบุญบั้งไฟที่มีคนมาชุมนุมกัน พิธีกองฮดนับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่จะช่วยคุมให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ


ภาพพิธี "กองฮด" หรือสรงน้ำพระสงฆ์ ที่สิมวัดป่าเรไร


           อีกภาพที่น่าสนใจคือภาพการลงข่วง เป็นประเพณีที่ผู้สาวจะชวนกันมาทำงานที่ลานบ้านในเวลากลางคืน เช่น ปั่นด้าย ทอผ้า ตำข้าว ระหว่างทำงานก็จะมีผู้บ่าวแวะเวียนมาพูดคุยเป็นกลุ่มๆ อาจมีเป่าแคน ร้องเพลง เกี้ยวพาราสีกัน และมีการพูดโต้ตอบประชันไหวพริบที่เรียกว่า "จ่ายผญา" หนุ่มคนไหนทำได้ดีก็เชื่อว่ามีสติปัญญา เป็นผู้นำครอบครัวได้สาวๆ ก็จะสนใจเป็นพิเศษ นับเป็นช่วงเวลาหาคู่ของคนโบราณ ในยุคที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต หรือเฟซบุ๊ค
         นอกจากนี้ในภาพขบวนแห่มักพบคนเป่าแคน แคนนับเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดของคนอีสาน เพราะการบรรเลงดนตรีอีสานทุกอย่างต้องอิงแคนเป็นหลัก แคนสามารถสร้างจังหวะที่สนุกสนานและอ่อนหวาน พรรณนาชีวิตของคนอีสานที่มีทั้งความรัก ความผูกพัน ความห่วงใยหวนหา ความอดทนต่อสู่อย่างมีความหวัง เรียกว่าฟังแล้วเคลิ้มได้
          ส่วนสิมวัดป่าเรไร ก็มีรายละเอียดชีวิตที่น่าสนใจเช่นกัน แต่สิ่งที่ต่างไปจากที่อื่น คือมีภาพคนต่างชาติที่เข้ามาในเวลานั้น เช่น คนจีน คนมุสลิม ลายเส้นของช่างแต้มที่นี่ก็ดูจะไดรับอิทธิพลจากจิตรกรรมภาคกลางมาไม่น้อย



ฉาก "อีโรติก" บนผนังสิมวัดมัชฌิมวิทยาราม
          สิมสุดท้าย ที่เราขอยกให้เป็น "สุดยอด" ในเส้นทางการทัวร์สิมครั้งนี้ คือสิมวัดยางทวงวราราม อ. บรบือ ที่วาดรายละเอียดในภาพได้อย่างอลังการงานสร้างเต็มทุกผนัง โดยเฉพาะภาพทหารที่เดินแถวกันยาวเหยียดจนแทบจะได้ยินเสียงท็อปบูตกระแทกพื้น การที่มีภาพทหารจำนวนมากเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะมีกองทหารเข้ามาประจำพื้นที่ในอีสานตั้งแต่ปี 2431 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศฝรั่งเศสพยายามรุกคืบมายึดครองพื้นที่ริมแม่น้ำโขง



งานเฮือนดี หรือ งานศพ ช่างแต้มเขียนภาพนกฮูกมาช่วยเสริมบรรยากาศได้ยอดเยี่ยม

         ภาพที่น่าชมอีกภาพคือ "งันเฮือนดี" แปลตามตัวว่าฉลองเรือนมงคล แต่แท้จริงแล้วหมายถึงงานศพ ในงานจะมีการเลี้ยงอาหารและการละเล่นต่างๆ ผู้มาร่วมงานจะทำตัวให้ร่างเริงเข้าไว้ เพราะชาวอีสานเชื่อว่าการแสดงความเสียใจจะเป็นการเพิ่มความเศร้าสลดให้กับเจ้าภาพ ในงานจะมีการเล่นหมอแคน หมอลำ และมีการหามศพโดยจะหามให้เท้าของศพไปก่อน มีพระสงฆ์ใช้ด้ายหรือหรือเชือกจูงศพไปจนถึงที่เผาโดยเชื่อว่าเป็นการจูงไปสู่สุคติ และมีการหว่านข้าวสารหรือข้าวตอกแตกตลอดทางเป็นการเตือนใจว่า ข้าวสารหว่านไปแล้วไม่อาจขึ้น คนที่ตายไปแล้วก็เช่นกัน ชาวอีสานให้ความสำคัญกับงานศพมาก แม้แต่ในฉากพระพุทธเจ้าก็ยังเขียนฉากปรินิพพานใหญ่ไม่แพ้กับฉากมารผจญ หรือ ตรัสรู้


ฉากน่ารักๆ ระหว่างนางอมิตดาและชูชก

          อีกภาพเป็นมุมเล็กๆ ที่หลายคนมองผ่านไป แต่ "นายรอบรู้" ชอบมาก คือฉากชูชกปลอบใจนางอมิตดา เรื่องตอนนี้สืบเนื่องมาจากที่นางอมิตดา เมียสาวของชูชก ถูกหญิงชาวบ้านล้อเลียนเยาะเย้ย นางอมิตดาเสียใจกลับมาบ้าน ชูชกถามไถ่แล้วก็แตะแขนปลอบใจ นางอมิตดาก็เกาคางให้เป็นการแสดงความขอบคุณ ใครที่ได้ชมคงสัมผัสได้ถึงความรักความอบอุ่นที่ทั้งคู่มีให้กัน ใกล้ๆ ยังมีภาพแมวซึ่งช่วยเสริมให้ภาพนี้ดูอ่อนโยนและน่ารักยิ่ง

           นี่กระมังคงเป็นเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ของฮูปแต้ม-ภาพลายเส้นบนผนังสิมที่อาจไม่ได้สวยงามสูงส่ง ทว่าก็มีเรื่องราวของชีวิตที่น่าสนใจให้คนหาได้ไม่มีวันจบ ที่สำคัญยังสะท้อนถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้นของคนอีสาน


เข้าชม : 3223


บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต 5 อันดับล่าสุด







    หมายเหตุ : บางวัด ภาพจากอินเตอร์เน็ต เพราะยังไม่ได้เดินทางไปชม
ออกแบบโลโก้ ออกแบบกล่อง ออกแบบถุง ออกแบบสิ่งพิมพ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ วาดเส้น จิตรกรรม Drawing  Painting รับทำ SEO, ปั่นเว็บ, หน้า 1, อันดับ 1 ฮูปแต้ม, สิมอีสาน, ฮูบแต้ม, ศิลปะอีสาน, สิม, โบสถ์, หอไตร, สถาปัตยกรรมอีสาน


อาร์ตนานา สตูดิโอ และ เดอะ ไดโนเสาร์ อาร์ต แกลเลอรี่ ™ (หอศิลป์ เดอะแด็ก)
บ้านเลขที่ 9, 48 หมู่ 12 บ้านหนองซำ ต.น้ำอ้อม อ.ค้อวัง จ.ยโสธร 35160 กรุณาโทรติดต่อก่อนการเดินทางหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่เบอร์ โทร. 081- 303 4493, 064-092 9449
www.artnana.com

 ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ อีสานอาร์ตดอทคอม ช่องพุทธศิลป์อีสาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางถ่ายภาพนำมาจัดทำเว็บไซต์ ได้ที่ :

ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกะปิ ชื่อบัญชี นายพัฒยา จันดากูล เลขที่บัญชี 003-2-02799-9 ประเภท ออมทรัพย์

ต้องยอมรับความจริงว่า การเดินทางมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าน้ำมันรถ หากต้องเดินทางไกลๆ หลายร้อยกิโลเมตร ค่าใช้จายในแต่ละเที่ยวก็หลายพันบาท เว็บมาสเตอร์จึงต้องรองบประมาณ และวางแผนการเดินทางให้คุ้มกับค่าน้ำมัน โดยกำหนดจุดที่จะไปถ่ายภาพให้ได้เยอะๆ ก่อนการเดินทาง ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนค่าเดินทางครับ



13.59.122.162 | Copyright © 2008 - 2023 esanart.com All Rights Reserved.
Website designed by Artnana Sudio