ฮุปแต้มอีสาน, สิมอีสาน (Isan Mural Painting and Isan Temple Architectures)

 สิม หอไตร ฮูปแต้ม

 Sim ISAN สิม สิมอีสาน หอไตรอีสาน ฮูปแต้มอีสาน มนต์เสน่ห์แห่งพุทธศิลป์แดนดินอีสาน
 
  
  
บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต : เข้าวัด ฟังธรรม ดื่มด่ำงานสิม
เสาร์ ที่ 18 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2556

เข้าวัด ฟังธรรม ดื่มด่ำงานสิม

           ชวนเข้าวัดแถบที่ราบสูง ไปเสพงานศิลป์จากสิมหรือโบสถ์ ที่บรรจุ "นิทานฮูปแต้ม" หรือจิตรกรรมฝาผนังไว้ ทั้งสอนใจไปพร้อมๆ กับความสงบงาม

           "ถ้าพ่อใหญ่ตายไป จักไผสิมาเว้าเรื่องฮูปแต้มให้ลูกหลานฟัง คั่นตอนนี้มีไผอยากมาศึกษา ฟ้าวมาไวๆ เด้อ ก่อนพ่อใหญ่สิตาย เดี๋ยวสิบ่มีไผอ่านภาษาไทน้อยแล้วเว้านิทานฮูปแต้มให้ฟังเด้" พ่อพัน บุญค้ำ วัยเกือบ 80 พ่อใหญ่แห่งบ้านยาง ตำบลบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ที่เดินพาชมฮูปแต้มหรือ จิตรกรรมฝาผนัง ของผนังสิมภายในวัดบอกด้วยท่าทีอ่อนล้า

           แข้งขาก็ไม่ค่อยเป็นใจนัก ด้วยวัยใกล้ฝั่ง ประกอบกับสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรง ในวันต้อนรับคณะทัวร์วัฒนธรรม ที่เข้ามาเยี่ยมชมซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักข่าว นักเขียนและครูสอน ภายใต้โครงการ “วัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

           ด้วยลีลาการเล่าสนุกๆ และเข้าใจง่าย ขัดกับสังขารร่างกายของพ่อพัน จุดประกายให้ครูสอนศิลปะหลายคนอยากพาลูกศิษย์มาศึกษาฮูปแต้ม ด้วยจิตกรรมฝาผนังแห่งที่ราบสูงนี้ บรรจุเรื่องที่คุ้นเคย ทั้งพระพุทธประวัติ พระมาลัยคำฉันท์ รวมถึงพระเวสสันดรชาดก

           ทั้งหมดนี้มีใน สิม หรือ โบสถ์ของภาคอีสาน ที่ยังคงไว้ซึ่งศิลปะแบบโบราณ และใช้สีดั้งเดิมจากธรรมชาติแต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีจิตรกรรุ่นใหม่มาสานงานต่อ มิหนำซ้ำถูกทำลายลงไปบ้างเพราะชาวบ้านเห็นว่าทรุดโทรม ไม่สวยงาม แล้วสร้างโบสถ์ใหญ่กว่า วิจิตรกว่า เข้าทดแทน

หลวงปูลุน ศรีสุข วัดป่าเลไลย์ ฮูปแต้มวัดบ้านลาน ฮูปแต้มวัดป่าเลไลย์

   
วัดโพธิ์ชัย พ่อใหญ่พัน บุญค้ำ

           "ภาคอีสานมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนสีแบบโบราณหลายแห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อีสานตอนกลาง ทั้งขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ซึ่งเรื่องราวที่เขียนมีทั้งเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย หรือ เรื่องสินไซ ที่ชาวอีสานคุ้นเคย นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องพระเวสสันดรชาดก และ พุทธประวัติ ซึ่งขณะนี้มีกรมศิลปากรเข้าไปช่วยเหลือดูแลในการอนุรักษ์ เพราะมีหลายแห่งเหมือนกันที่ชาวบ้านทุบสร้างใหม่ เพราะมองว่าไม่สวย เก่าบ้าง กลังจะทรุดลงมาบ้าง บางแห่งโชคดีที่สร้างอันใหม่ครอบกันเก่า แต่มีหลายวัดที่รื้ออันเก่าออกไปเลย ทำให้ภาพเขียนประวัติศาสตร์เหล่านั้นหายไป "ผศ.ชลิต ชัยครรชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ที่ทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน และ เป็นหนึ่งในทีมงานที่ร่วมศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภาคอีสานมาหลายสิบปี เล่าให้ฟัง

           ที่น่าสนใจคือ แต่ละวัดที่มีภาพเขียนสีโบราณเหล่านี้ จะมีความเชื่อมโยงกัน บางวัดเป็นกลุ่มช่างกลุ่มเดียวกันที่ทำ บางวัดเป็นกลุ่มช่างถิ่นอื่นที่ตระเวนมารับจ้างเขียน หรือได้คนที่ไปเรียนช่างในราชสำนักส่วนกลางที่กรุงเทพฯ มาช่วยเขียน ฮูปแต้มของแต่ละสิม จึงมีความแตกต่างกันทั้งลายเส้น ฝีมือ การลงสี และเรื่องราวที่นำเสนอ

           หากเป็นช่างอีสานแท้ จะเน้นเรื่องพื้นบ้าน พื้นถิ่น อย่างพระเวสสันดรชาดก และ สินไซ แต่ถ้ามาจากราชสำนัก จะมีพุทธประวัติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

           "ลายเส้นสวย เทวดาจะอรชรอ่อนช้อย แต่ถ้าเป็นช่างพื้นที่จริงๆ จะวาดลายเส้นหยาบ แต่อายุขัยจะมากกว่าแบบที่ช่างจากราชสำนักทำ" ผศ.ชลิตเปรียบเทียบ

           เริ่มต้นที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สิมทั้งภายในและภายนอกเต็มพื้นที่ โดยมีการบันทึกเอาไว้ว่าช่างที่แต้มหรือวาดก็คือ นายทอง ทิพยา ชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ใช้สีฝุ่นวรรณะเย็น คือ สีเหลือง สีขาว สีเขียว สีน้ำตาล และสีดำ ผนังด้านในเขียนภาพพุทธประวัติ อดีตชาติต่างๆของพระพุทธเจ้า ทั้งเรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ภาพเทพ ภาพบุคคลและสัตว์ต่าง ๆ ส่วนผนังด้านนอก เขียนภาพนรกเจ็ดขุม เรื่องพระเวสสันดรชาดก และสินไซ

           อายุของภาพเขียนสีวัดแห่งนี้นับอายุได้เกือบ 100 ปี อีกทั้งยังมีอักษรไทยน้อยเขียนอธิบายภาพทั้งผนังด้านในและด้านนอก

           ความโดดเด่นของฮูปแต้มสิมวัดไชยศรี อยู่ที่การเขียนภาพเต็มแน่นไม่เว้นแม้ซอกมุมต่าง ๆ และภาพบุคคล คือภาพตัวพระหรือกษัตริย์เขียนขนาดเล็ก ภาพยักษ์หรือภาพกาก มักเขียนขนาดใหญ่ ตัวภาพแสดงท่าทางเคลื่อนไหวโลดโผน ถือเป็นความสามารถชนิดหาตัวจับยากของนายทอง

สืบสานนิทานฮูปแต้ม
           ออกจากวัดไชยศรี ไปดูฮูปแต้มที่สิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม ตั้งอยู่ที่ ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แต่น่าเสียดายที่ภาพเขียนสีวัดนี้ค่อนข้างเสียหาย เพราะสภาพพื้นดินมีเกลือผสมอยู่ เนื่องจากสมัยก่อน มีการนำน้ำจากหนองน้ำในหมู่บ้านมาต้มเกลือขาย เมื่อน้ำขัง น้ำเค็มจึงไปกัดกร่อนฐานของสิม ทำให้ภาพเสียหาย แต่โชคดีที่หมู่บ้านนี้เห็นคุณค่าของโบราณ แม้จะมีการสร้างโบสถ์แห่งใหม่แต่ก็ไม่ได้ทำลายโบสถ์เก่า

           วัดแห่งนี้มีการเขียนฮูปแต้มทั้งผนังด้านนอกและผนังด้านใน เขียนคำบรรยายเนื้อเรื่องด้วยอักษรไทยภาษาอีสาน และอักษรธรรมอีสาน โดยผนังด้านนอกเขียนเต็มพื้นที่ ส่วนผนังด้านในเขียนภาพเฉพาะผนังช่วงบน ใช้สีฝุ่น วรรณะเย็น ได้แก่ คราม เขียว เหลือง ดำ และน้ำตาล

           ในรายละเอียด สีครามใช้เขียนต้นไม้ สถาปัตยกรรม ใบไม้ และก้านดอกไม้ ส่วนภาพบุคคล ระบายผิวสีขาว เครื่องแต่งกายใช้สีคราม สีเหลือง และสีเขียว การแต่งกายของตัวพระ ตัวนาง กษัตริย์ที่สำคัญจะใช้สีเหลืองแทนสีทอง บุคคลชั้นสูงเขียนผิวสีขาว ภาพต้นไม้ ใบไม้ ใช้สีครามและสีเขียว

           "ภาพพื้นดินโขดหินใช้วิธีเขียนลากเส้นเป็นแนว โขดหินเขียนด้วยสีครามและสีดำ การแบ่งกลุ่มภาพจะใช้เส้นลวด แบ่งภาพออกเป็นช่วงบน ช่วงล่าง และแบ่งภาพออกเป็นตอนๆ" ผศ.ชลิต บรรยาย โดยผนังด้านใน ประกอบด้วยชาดกและวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่นเดียวกับสองวัดข้างต้น

           และที่อำเภอบ้านไผ่ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สิมมัชฌิมวิทยาราม หรือวัดบ้านลาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านลาน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยฮูปแต้มเขียนเฉพาะผนังด้านนอก ใช้สีฝุ่นวรรณะเย็นเช่นกัน เนื้อเรื่องที่แต้มเป็นเรื่อง พระเวสสันดรชาดกเพียงเรื่องเดียว โดยลำดับภาพจากทิศตะวันออกหรือด้านหน้า เวียนไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกและทิศใต้ ตามลำดับ เริ่มต้นจากกัณฑ์ทศพรไปจนถึงกัณฑ์นครกัณฑ์ ภาพแต่ละตอนมีอักษรไทยและไทยน้อยเขียนบรรยายภาพประกอบด้วย

           ออกจากอำเภอบ้านไผ่ ไปต่อที่อำเภอบรบือ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก มีฮูปแต้มสิมวัดบ้านยาง ตำบลยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ที่นี่พิเศษตรงมี พ่อใหญ่พัน บุญค้ำ ปราชญ์ชาวบ้านเป็นคนพาชม และบรรยายภาพให้คนที่มาเยือนได้ฟัง

           พ่อใหญ่พันเล่าว่า ฮูปแต้มของวัดนี้ทั้งด้านในและด้านนอก เป็นฝีมือของช่างหน่าย มีลูกมือคือ หลวงพ่อผุย ครูก่อง อาจารย์หลงและอาจารย์หื่น ซึ่งผนังด้านในเขียนรูปพระด้านข้างด้านละ 7 องค์ ด้านหลังเขียนประทับยืน 5 องค์ ระหว่างแต่ละองค์มีแจกันดอกไม้คั่น โดยเขียนเป็น 2 แถวคู่กัน เน้นสีสันสดใส ผนังด้านนอกใช้สีน้ำมันเช่นเดียวกัน โดยรวมเป็นวรรณะสีเย็น ส่วนใหญ่ใช้สีคราม สีเขียวคล้ำ สีน้ำตาล ตัดเส้นด้วยสีดำ ภาพบุคคลตกแต่งผิวด้วยสีเนื้อ ภาพภูเขาและโขดหินเขียนเป็นก้อนหินใหญ่- เล็ก สลับกัน

           เนื้อเรื่องเขียนเรื่องพุทธประวัติ พระมาลัย พระเวสสันดรชาดกและเรื่องนางอรพิมพ์ - ปาจิตต์ ในการลำดับภาพไม่ต่อเนื่อง สลับกลับไปกลับมา แสดงถึงความอิสระอย่างสูงของช่าง

           นอกจากเรื่องศาสนา และวรรณกรรมพื้นบ้านสอนใจแล้ว ช่างได้สอดแทรกวิถีชีวิต ประเพณีที่มีคุณค่าไว้หลายตอน เช่นการสรงน้ำพระ การเผาศพกลางแจ้ง ซึ่งเป็นการเผาศพชูชก หลังจากกินมากเกินไปจนท้องแตกตาย อีกทั้งภาพที่น่าสนใจมากที่สุดอีกภาพหนึ่งคือภาพผู้ชายในสมัยโบราณที่นิยมสักลาย หรือ แท็ตทู เหมือนคนในสมัยนี้ และ มีปรากฎในภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย

           ถัดจากวัดบ้านยางไม่ไกลนัก จะมีถนนเชื่อมไปยัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นที่ตั้งของวัดป่าเลไลย์ บ้านหนองพอก ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน ซึ่งถือเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ที่วัดนี้โชคดีที่เจ้าอาวาส คือ หลวงปู่ลุน ศรีสุข หรือ หลวงพ่อลุน ธรรมธโร ยินดีเล่าเรื่องราวของภาพเขียนให้ฟังอย่างละเอียด

           ท่านเล่าว่า เดิมวัดแห่งนี้เรียกว่า วัดหนอกพอก มีสิมหรือโบสถ์ ซึ่งมีลักษณะพื้นบ้านอีสานสวยงาม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2460

           "สิมของวัด นอกจากมีรูปแบบศิลปกรรมพื้นบ้านอีสานทั่วไป ผนังด้านนอกและด้านใน ยังมี ฮูปแต้ม ซึ่งเป็นผลงานของช่างเขียนฝีมือดีจากอำเภอพยัคภูมิพิสัย ชื่อว่า ช่างสิงห์"

           ช่างสิงห์ใช้สีโทนเย็นตา เริ่มจากการลงพื้นด้วยสีน้ำตาล แล้วจึงร่างเขียนลายเส้นและลงสีบนรูปภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีฟ้าและสีคราม ส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องพระลักษณ์-พระราม และมหาชาติพระเวสสันดรชาดก ด้านในเขียนภาพพระพุทธประวัติ พระมาลัย และอดีตพระพุทธเจ้า ตามประเพณีนิยมการเขียนภาพฝาผนังในภาคอีสาน

           ถัดกันมาไม่ไกล เป็นหมู่บ้านติดกัน คือ วัดโพธาราม สิมที่วัดแห่งนี้เดิมชื่อวัดโพธิ์ทอง เป็นสิมแบบอีสาน ก่ออิฐถือปูนมีฐานสูง ผนังต้นหลังก่อทึบ ต้นข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่าง 2 ช่อง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 พระครูจันทร์ดี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในช่วงนั้นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง อาคารยาวประมาณ 15 ศอก กว้าง 8 ศอกคืบ มีฮูปแต้มทั้งด้านในและด้านนอก โดยนายสิงห์ ชาวบ้านหนองพอก ซึ่งเป็นผู้เขียนฮูปแต้มที่สิมวัดป่าเลไลย์ เป็นคนเขียน ผนังด้านในเขียนรูปเวสสันดรชาดก พุทธประวัติ รามสูร - เมขลา ผนังด้านนอกเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก พระมาลัยโปรดสัตว์นรก และเสด็จดาวดึงส์ พุทธประวัติ และวรรณกรรมเรื่องสินไซ

           ส่วนเทคนิคการเขียน ใช้สีฝุ่น โทนสีหรือวรรณะสีเย็น ส่วนใหญ่ใช้สีฟ้า คราม เขียว การวางองค์ประกอบภาพมีหลายแบบ มีทั้งการแบ่งภาพเป็นช่วงบน - ช่วงล่าง และแบ่งเป็นท้องภาพ ใช้กำแพงเป็นเขตแบ่ง

           ที่วัดโพธาราม ช่างสิงห์วาดภาพโดยไม่มีการรองพื้น อาศัยสีพื้นผนังเป็นพื้นหลัง ซึ่งที่สิมแห่งนี้ นักวิชาการที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรุ่นใหม่อย่าง มนตรี มุงคุณ ศิลปินอิสระ บอกว่าที่สิมวัดแห่งนี้มีการเขียนจากช่างหลายคน บางคนไปศึกษาจากวัดในกรุงเทพฯ แล้วกลับมาเขียน เพราะฝีมือค่อนข้างประณีต โดยเฉพาะตัวเทวดา ตัวพระ ตัวเทพ อ่อนช้อย เหมือนช่างราชสำนัก แต่อีกด้านของผนัง การเขียนกลับเป็นฝีมือช่างพื้นถิ่น

           "และที่สิมแห่งนี้ เคยมีพระพุทธรูปไม้วางเอาไว้อยู่รายรอบสิม แต่ทุกวันนี้หายไปหมดแล้ว เพราะมีคนไปเยี่ยมเยือนจำนวนมาก ไม่รู้ว่าใครหยิบจับไปบ้าง" มนตรี เผยสาเหตุ

           "ถ้าพ่อใหญ่ตายไป สิมีไผมาเว้าให้ฟังบ่..." เสียงพ่อใหญ่พันยังดังอยู่ในหัว เพราะกลัวการกลับมาอีกครั้งในเที่ยวหน้า จะไม่มีพ่อเฒ่ามาเล่าเรื่องฮูปแต้มให้ฟังแล้ว

           โชคยังดีที่ วัดไชยศรี อำเภอเมืองขอนแก่น จุดแรกของการเดินทาง ซึ่งมีเจ้าอาวาสอย่าง พระครูบุญชยากร พระนักพัฒนาเจ้าอาวาสวัดไชยศรี ที่ไม่ได้ปล่อยให้ฮูปแต้มเสื่อมหายไป ซ้ำดึงเอาปราชญ์ชาวบ้านอย่าง พ่อสุ่ม สุวรรณวงศ์ และ พ่อจอม ข้อยุ่น มาสวมบทนักเล่านิทาน พาเด็กๆ ในหมู่บ้านศึกษาฮูปแต้มที่สิม และพร้อมเล่า วรรณคดีโบราณอย่าง "สินไซ" ประกอบ

           ตามท้องเรื่อง สินไซหรือสังข์ศิลป์ชัยมีปมด้อย เพราะถูกพ่อไล่ออกจากบ้านเมืองไปพร้อมพี่น้องคือ สีโห และหอยสังข์ แต่เพราะความดี ความกล้าหาญ และ ความรักพี่น้อง ทำให้สินไซ ได้มีโอกาสกลับมาครองเมืองของพ่อ แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธไป

           โดยความดี ความงาม และ ความกล้าหาญของสินไซวรรณคดีพื้นบ้านอีสานล้านช้างเรื่องนี้ ถูกปลุกเร้า และ นำกลับมาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหมู่บ้านสาวะถี โดยผ่านเรื่องเล่าจากฮูปแต้มผนังสิม และ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบ้าน วัด โรงเรียน โดยมีคนเฒ่าแก่ในหมู่บ้านเป็นผู้เชื่อมโยง ทำให้ในวันนี้ หมู่บ้านสาวะถี ที่มีฮูปแต้มวัดไชยศรี เป็นตัวหลักในการทำให้เด็ก และ ผู้ใหญ่ จูงมือเข้าวัดไปพร้อมๆ กัน และ ออกมาพร้อมกับหลักธรรมคำสอนโบราณแต่ไม่ล้าสมัย

           และที่สำคัญที่สุด ฮูปแต้มอายุเกือบ 100 ปีของวัดนี้ ยังได้รับการบอกเล่าและสืบสานโดยลูกหลานบ้านสาวะถีแห่งนี้ต่อไปได้อีก แม้ในวันที่ไม่มีพ่อจอม พ่อสุ่ม หรือพ่อใหญ่พัน แล้วก็ตาม ...


           โดย : สุมาลี โพธิ์พยัคฆ์ Life Style กรุงเทพธุรกิจ


เข้าชม : 3973


บทความดีๆ จากอินเตอร์เน็ต 5 อันดับล่าสุด







    หมายเหตุ : บางวัด ภาพจากอินเตอร์เน็ต เพราะยังไม่ได้เดินทางไปชม
ออกแบบโลโก้ ออกแบบกล่อง ออกแบบถุง ออกแบบสิ่งพิมพ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ วาดเส้น จิตรกรรม Drawing  Painting รับทำ SEO, ปั่นเว็บ, หน้า 1, อันดับ 1 ฮูปแต้ม, สิมอีสาน, ฮูบแต้ม, ศิลปะอีสาน, สิม, โบสถ์, หอไตร, สถาปัตยกรรมอีสาน


อาร์ตนานา สตูดิโอ และ เดอะ ไดโนเสาร์ อาร์ต แกลเลอรี่ ™ (หอศิลป์ เดอะแด็ก)
บ้านเลขที่ 9, 48 หมู่ 12 บ้านหนองซำ ต.น้ำอ้อม อ.ค้อวัง จ.ยโสธร 35160 กรุณาโทรติดต่อก่อนการเดินทางหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่เบอร์ โทร. 081- 303 4493, 064-092 9449
www.artnana.com

 ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ อีสานอาร์ตดอทคอม ช่องพุทธศิลป์อีสาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางถ่ายภาพนำมาจัดทำเว็บไซต์ ได้ที่ :

ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกะปิ ชื่อบัญชี นายพัฒยา จันดากูล เลขที่บัญชี 003-2-02799-9 ประเภท ออมทรัพย์

ต้องยอมรับความจริงว่า การเดินทางมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าน้ำมันรถ หากต้องเดินทางไกลๆ หลายร้อยกิโลเมตร ค่าใช้จายในแต่ละเที่ยวก็หลายพันบาท เว็บมาสเตอร์จึงต้องรองบประมาณ และวางแผนการเดินทางให้คุ้มกับค่าน้ำมัน โดยกำหนดจุดที่จะไปถ่ายภาพให้ได้เยอะๆ ก่อนการเดินทาง ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนค่าเดินทางครับ



18.116.36.192 | Copyright © 2008 - 2023 esanart.com All Rights Reserved.
Website designed by Artnana Sudio