+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
พระเจดีย์ 9 ยอด วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ จ.ยโสธร
จากพงศาวดารเมืองยโสธร ฉบับของพระยามหาอำมาตยาธิบดี มีความว่า เม่อปี พ.ศ. 2368 เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ได้สู่รบกับทางกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี เป็นแม่ทัพยกกำลังไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพานพร้าว และเมื่อพระพิชัยสงครามซึ่งยกกำลังล่วงหน้าไปก่อน ได้เสียทีแก่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ พระยาราชสุภาวดีจึงให้ถอยกำลังมาตั้งอยู่ที่เมืองยโสธร แล้วทำพิธีปฐมกรรมตัดไม้ข่มนาม
สถานที่ ชุมมนุมทำพิธี คือ วัดทุ่งสว่างชัยภูมิแห่งนี้ ต่อมาอุปฮาดแพงรักษาการเจ้าเมืองยโสธร ได้รับพระบัญชาให้จัดกองทัพไปช่วยรบที่เมืองเสียมราฐ ประกายเพชรและพระตะบอง ก่อนนำทัพไปรบ และได้ทำพิธีที่เนินตรงวัดทุ่งสว่างชัยภูมิเช่นกัน เมื่อไปรบก็มีชัยชนะกลับมา และเห็นว่า พื้นที่โนนทุ่งนี้ เป็นชัยภูมิที่ดีเลิศ จึงได้สร้างธาตุเจดีย์แล้วยกขึ้นเป้นวัด ชื่อ " วัดชัยชนะสงคราม " หรืออีกชื่อหนึงว่า " วัดบูรพาทิศาราม "
รอยพระพุทธบาท วัดใต้ศรีมงคล
ได้อัญเชิญรอยพระพุทธบาท จากวัดใต้ศรีมงคลมาประดิษฐานไว้ภายในพระเจดีย์ 9 ยอด แต่ต่อมารอยพระพุทธบาทจำลองนี้ได้ย้ายไปไว้ที่วัดศรีธรรมาราม และองค์พระเจดีย์ได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2474 และตามป้ายแผ่นหินอ่อนจารึกว่า " พระครูวิจิตร ยะโสธร (เจ้าอาสาส) พร้อมด้วยญาติโยมร่วมใจกันปฏิสังขรณ์ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2542"
(กรณีการย้ายรอยพระพุทธบาท เมื่อวัดใต้ศรีมงคลเป็นวัดร้าง ย้ายมาวัดวัดชัยชนะสงคราม และเมื่อวัดวัดชัยชนะสงครามร้าง จึงมีการย้ายอีกครั้งไปที่วัดวัดศรีธรรมาราม จนถึงปัจจุบัน และทุกวันนี้ภายในพระเจดีย์ 9 ยอด มีรอยพระพุทธบาทจำลอง จำลองอีกอันประดิษฐานอยู่)
พระเจดีย์เก้ายอด เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) | ประวัติการก่อสร้างอีกประวัติ
พระเจดีย์เก้ายอด ท่านเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ท่านเคยเสด็จไปปราบกบฎถึงจังหวัดหนองคาย เส้นทางที่ท่านยกทัพไปนั้นต้องผ่านยโสธร ขึ้นไปมุกดาหาร นครพนม ขณะที่ท่านเดินทางมาถึงยโสธรก็เป็นเวลารุ่งสางฟ้ากำลังสว่าง
จึงทำการหยุดพักไพร่พล ณ ที่ตรงนั้นท่านได้สร้างสถูปเจดีย์ 9 ยอด ข้างในมีรอยพระพุทธบาทจำลองประทับอยู่ เพื่อให้เป็นที่ระลึกและเป็นที่เคารพบูชาของพี่น้องประชาชนซึ่งต่อมาชาวบ้านก็ได้สร้างวัดขึ้นและให้ชื่อว่าวัดทุ่งสว่างชัยภูมิ สมัยก่อนเป็นทุ่งนา อยู่นอกเมือง แต่เดี๋ยวนี้เป็นกลางเมืองไปแล้ว (ข้อมูลจาก เพจ คน-ยโสธร) ประวัติ :
เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) และ
เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)
รูปแบบทางสถาปัตยกรรม
สร้างด้วยอิฐถือปูน รูปแบบศิลปะลาว ฐานต่ำรูปทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว ด้านหน้าซุ้มประตูประดับด้วยลายปูนปั้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เป็นรูปปั้นพระพุทธเจ้าปางประทานพร ประทับยืนบนดอกบัวบาน ซ้ายขวาประดับด้วยดอกไม้ ซุ้มเป็นซุ้มไม่มีลวดลาย ยอดซุ้มประดับด้วยดาวห้าแฉก 1 ดวง เหนือซุ้มประตูขึ้นไป เป็นลายลักษณะเหมือนลายหน้ากาล และคล้ายราหูอมจันทร์ สองมือประคองวงกลมมีรัศมีเป็นแฉก ภายในวงกลมเป็นรูปดาวห้าแฉก เหนื่อไปยอดที่สูงที่สุด ปั้นนูนต่ำๆ เป็นรูปคล้ายตราแผ่นดินของลาวสมัยพระราชอาณาจักร คือ เป็นรูปช้าง 3 เศียร ยืนอยู่บนฐานล้อมรอบด้วยวงกลมรัศมีแฉก ยอดสูงสุดประดับด้วยหลอดไฟทรงดอกบัวตูม
ด้านข้างทั้ง 2 ข้างและด้านหลัง ทำเป็นซุ้มหลอก ด้านข้างภายในซุ้มปั้นเป็นพานดอกไม้และเทพนม ส่วนด้านหลังไม่ได้ปั้นไว้ (อาจจะหลุดไป) ตำแหน่งยอดสูงตรงข้ามกับตราแผ่นดินของลาว ปั้นเป็นรูปเทพนั่งพนมมือบนดอกบัวบาน ด้านข้างปั้นเป็นรูปพาน ผู้เขียนมองเป็นพานรัฐธรรมนูญ หากไม่มีคำสั่งให้ปั้น ผู้เขียนคิดว่าช่างปั้นอาจจะมาจากลาว เกิดความคิดสร้างสรรไปตามอารมณ์ในช่วงเวลานั้นก็เป็นได้ ความโดดเด่น คือ มี 9 ยอด รูปแบบเรียบง่ายไม่ประดับประดามากมาย และเป็นรูปแบบศิลปะที่หาได้ยากในภูมิภาคนี้
สถานที่ตั้ง : พระเจดีย์ 9 ยอด วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ อ.เมือง จ.ยโสธร
ถ่ายภาพเมื่อ : 21 กุมภาพันธ์ 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 22 กุมภาพันธ์ 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 3623 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง : ข้อมูลจาก ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในวัด, อินเตอร์เน็ต, เรียบเรียงขึ้นเอง