+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
กุฎิฤาษีบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ประกอบด้วย ปรางค์ศิลาแลง ซึ่งบางตอนมีหินทรายประกอบกรอบประตูหินทราย ประตูด้านหน้าทำเป็นมุขยื่นออกมา ประตูอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก และบรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมทำด้วยศิลาแลงซึ่งมีประตูสองชั้นไม่มีหน้าต่าง อยู่ภายในวงล้อมของกำแพงศิลาแลง ซึ่งมีส่วนประดับเป็นทับหลัง กำแพงทำด้วยหินรูปนาค รูปมกรคายนาค และกลีบบัวต่างๆ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่ทว่าส่วนประดับเหล่านี้ดูไม่สู้จะต่อเนื่องกับปรางค์และกำแพง จึงอาจเป็นการนำของเดิมมาประกอบอาคารที่ก่อสร้างใหม่ กุฎิแห่งนี้มีแผนผังคล้ายอโรคยศาลในพุทธศาสนามหายาน ซึ่งนิยมสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตามหากชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นของที่มีมาแต่เดิม ก็อาจสันนิษฐานว่าเคยมีศาสนสถานแห่งหนึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 จึงปรับแปลงใช้เป็นอโรคยศาลในพุทธศาสนา
ปัจจุบัน ได้รับการบูรณะและขุดแต่งให้มีความสมบูรณ์แล้ว กุฎิฤาษีบ้านโคกเมือง ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างปราสาทเมืองต่ำกับปราสาทพนมรุ้ง เลยกุฏิฤาษีหนองบัวลาย ก่อนจะถึงปราสาทเมืองต่ำ โดยมีบารายหรือสระน้ำขนาดใหญ่ที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว อยู่ทางทิศตะวันออก เรียกว่า ทะเลเมืองต่ำ หรือบารายของปราสาทเมืองต่ำนั่นเอง
จะเห็นว่า ศาสนสถานประจำอโรคยาศาลทั้งสองแห่งนี้ อยู่ใกล้กัน และที่ได้ชื่อว่า กฏิฤาษี เชื่อว่าน่าจะมีพราหมณ์หรือผู้ทรงศีล มาอาศัยดูแลอยู่ก่อน และเชื่อว่าน่าจะอยู่ในเส้นทางมรรคา เพราะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีศาสนสถานขอม กระจายกันอยู่ในบริเวณนี้หลายแห่ง เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทกุฎิฤาษีบ้านโคกเมือง (หรือกู่ฤาษีเมืองต่ำ) และกุฏิฤาษีหนองบัวลายเชิงเขาพนมรุ้ง และปราสาทขอมที่อยู่บนยอดเขา เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทปลายบัด ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมขอมโบราณ คือ อาณาจักรพนมโรง นั่นเอง
ดังนั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงโปรดให้มีการสร้างอโรคยาศาลขึ้นไว้ใกล้กันในบริเวณนี้ เนื่องจากว่า คงจะมีประชาชนเป็นจำนวนมากนั่นเอง คือ กุฏิฤาษีหนองบัวลาย และ กุฏิฤาษีบ้านโคกเมือง นี้เอง ส่วนปรางค์กู่ฤาษีที่อำเภอบ้านใหม่ชัยพจน์นั้น เป็นอโรคยาศาลที่ตั้งอยู่ในที่ราบใกล้เขตเมืองพิมาย (กล่าวคือ อยู่เลยอำเภอพิมายไปทางขอนแก่นเลี้ยวขวาไปกิ่งอำเภอสีดาก็ได้)
สถานที่ตั้ง : บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
ถ่ายภาพเมื่อ : 30 สิงหาคม 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 20 กรกฎาคม 2558
จำนวนผู้เข้าชม : 6213 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง, ข้อมูลภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต, ข้อมูลจากหนังสือความลับในปราสาทขอม เขียนโดย ทรงสมัย สุทธิธรรม