ฮุปแต้มอีสาน, สิมอีสาน (Isan Mural Painting and Isan Temple Architectures)
 สิม หอไตร ฮูปแต้ม

(วางเมาส์บนรูปภาพ เพื่อดูส่วนขยายภาพ)

+ เพิ่ม | - ลด ขนาดตัวอักษร      

วัดพระพุทธบาทบัวบาน จ.อุดรธานี
      วัดพระพุทธบาทบัวบาน อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บ้านไผ่ล้อม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี บนเชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันออก ตามประวัติกล่าวว่าวัดพระพุทธบาทบัวบาน สร้างเมื่อ พ.ศ.2454 สิ่งสำคัญในวัดประกอบด้วย รอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป ถัดขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของกลุ่มใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีขนาดใหญ่
      พระพุทธบาทบัวบาน เป็นมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทบัวบาน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในทึบตัน มีทางเข้าด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนยอดทำเป็นหลังคาซ้อนชั้นและมีองค์ระฆังที่เป็นบัวเหลี่ยมซ้อนอยู่บนสุด ด้านหน้ามณฑปมีใบเสมาหินปักอยู่
      รอยพระพุทธบาทบัวบาน รอยพระพุทธบาทบัวบาน มีลักษณะเป็นรอยเว้าลึกเข้าไปในเนื้อหิน ตามตำนานกล่าวว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้แก่พุทโธธปาปนาค ซึ่งเป็นพญานาคที่มีถิ่นฐานอยู่ในหนองบัวบานที่ตั้งอยู่หลังวัด รอยพระพุทธบาทบัวบานแต่เดิมมีลักษณะเป็นแอ่งเว้าบนพื้นหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายฝ่าเท้า ต่อมาจึงได้มีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองเลียนแบบของเดิมวางทับลงไป แล้วจึงสร้างพระธาตุครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง พระพุทธบาทจำลองนี้ก่อด้วยปูน ผิวเรียบทาสีทอง ขอบพระบาทเป็นเส้นตรง มีความยาว 140 เซนติเมตร ปลายพระบาทกว้าง 65 เซนติเมตร สันพระบาทกว้าง 53 เซนติเมตร ฝ่าพระบาทเรียบไม่มีลวดลาย
      องค์พระธาตุที่สร้างครอบทับรอยพระพุทธบาทมีลักษณะศิลปกรรมแบบล้านช้าง รูปทรงเหลี่ยมย่อเก็จ มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกด้านเดียว พระธาตุมีขนาดกว้างด้านละ 2 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร
      นอกจากนี้บริเวณเพิงผาใกล้ ๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ศิลปกรรมแบบล้านช้าง และพระพุทธรูปหินทรายจำหลักเป็นพระสี่ทิศ อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 22– 24 สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง

      กลุ่มใบเสมาหินทรายสมัยทวารดี วัดพระพุทธบาทบัวบาน
      กลุ่มใบเสมาวัดพุทธบาทบัวบาน ประกอบด้วยใบเสมาหินทรายจำนวน 31 ใบ รูปทรงแบบแผ่นแบน ด้านบนรูปโค้งแบบกลีบบัว ด้านล่างสลักกลีบบัวหงาย มีทั้งแบบเรียบและแบบสลักเรื่องราว ส่วนใหญ่สลักภาพด้านเดียว อีกด้านสลักแกนสันสถูป ที่สลักทั้ง 2 ด้าน นิยมสลักภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ และชาดก มีลักษณะศิลปะแบบวัฒนธรรมทวารวดีที่มีอิทธิพลของศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 15
      จุดประสงค์ของการสร้างใบเสมาเหล่านี้ เพื่อเป็นการแสดเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทางพุทธศาสนา และเพื่ออุทิศถวายแก่พระพุทธศาสนา เป็นคติการสร้างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะดินแดนแถบอีสาน การสลักภาพบุคคลที่บริเวณโคนเสมา เป็นลักษณะเฉพาะของใบเสมาแถบจังหวัดอุดรธานี

กลุ่มใบเสมาหินทรายสมัยทวารดี วัดพระพุทธบาทบัวบาน มีลักษณะเด่นๆ 3 ประการ คือ

      1. สลักภาพบุคคล
      เช่น ภาพสลักบนใบเสมารูปบุคคล 3 คน บุคคลตรงกลางซึ่งประทับบนฐานที่สูงกว่าน่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระสมณโคดมพุทธเจ้า) พระหัตถ์ถือดอกไม้ มีซุ้มอยู่เบื้องล่าง สองข้างเป็นรูปสตรี อาจเป็นชาดกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เครื่องทรงของบุคคลทั้งสามสะท้อนความสัมพันธ์กับประติมากรรมบุคคลในศิลปะเขมรเป็นอย่างยิ่ง

      2. การซ้อนเสมาตามลำดับ
      ใบเสมาปักซ้อนกัน 3 ชั้น ความสูงไล่ลำดับจากชั้นนอกที่มีความสูงน้อยที่สุดไปจนถึงชั้นในซึ่งมีความสูงมากที่สุด

      3. สลักรูปหม้อต่อกรวย
      ใบเสมาแบบแผ่น สลักรูปหม้อต่อด้วยกรวย เข้าใจว่าเป็นรูปเครื่องบวงสรวง


      ประวัติความเป็นมา จากการศึกษากลุ่มเสมา และการแกะสลักภาพขนาดของใบเสมา จำนวนใบเสมา น่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์จึงสามารถสร้างศิลปกรรม ประติมากรรมหินทรายขนาดใหญ่และงดงามได้ สภาพของชุมชนคงจะได้ร้างไป ต่อมาชุมชนลาวล้านช้างในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชหนีศึกพม่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ได้เข้ามาตั้งชุมชนที่นี่ จึงมีศิลปกรรม สถาปัตยกรรมล้านช้างมากมาย เช่น มณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปไม้ ฯลฯ และคงจะสร้างไป จนเมื่อเกิดศึกฮ่อ พวกลาวพวนจึงได้อพยพหนีศึกฮ่อมาตั้งชุมชนใหม่ สภาพชุมชนสมัยนั้นเป็นป่าดงดิบแล้ง มีไม้ที่มีค่าหนาแน่น เช่น ไม้มะค่า ไม้ตะเคียน ตะเคียนทอง ประดู่ ฯลฯ
      หลักฐานที่พบ พบกลุ่มเสมาหินทราย จำหลักภาพบุคคลในลักษณะต่าง ๆ ปักเป็น 8 ทิศ ปักซ้อนกัน 2-3 หลัก บางหลักถูกทำให้ล้ม หลายหลักถูกดินทับถม มีจำนวนทั้งหมด 31 หลัก เป็นศิลปกรรมสมัยทวาราวดีตอนปลาย-ลพบุรีตอนต้น มีลักษณะรูปแบบเดียวกัน กับใบเสมาวัดโนนศิลาอาสน์วราราม บ้านหนองกาลืม


      ลักษณะทางศิลปะของใบเสมากลุ่มพระธาตุบัวบาน
      ใบเสมากลุ่มพระธาตุบัวบานนั้น จัดเป็นใบเสมาในแบบที่เรียกว่า แบบแผ่นแบน (Slab type) ด้านบนเป็นโค้งแบบกลีบบัว ส่วนเอวคอดและบานออกเล้กน้อย ที่ส่วนฐานถัดลงไปด้านล่าง เป็นแกนเดือยหินที่มีความยาวประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวด้านบน เพื่อใช้สำหรับปักลงพื้นดิน ซึ่งใบเสมารูปทรงเช่นนี้ เป็นลักษณะพื้นฐานของใบเสมาทวารวดีที่พบอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน
      การประดับตกแต่งของใบเสมามีทั้งแบบเสมาเรียบ และเสมาที่สลักลวดลาย สำหรับใบเสมาที่สลักลวดลายนั้นมีทั้งสลักเป็นภาพสถูปหรือหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ (ปูรณะฆฏะ) ที่มียอดเป็นกรวยเรียวขึ้นไปจรดด้านบน และบางแผ่นก็สลักเป็นเพียงแนวสันแกนนูนขึ้นมาเท่านั้น (ซึ่งก็อาจจะพัฒนามาจากทรงสถูปกลางแผ่น) ซึ่งการตกแต่งด้วยลวดลายเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พบกันอยู่ทั่วไปในใบเสมา สมัยทวารวดีอีกเช่นกัน
      นอกจากลายแกนสถูปหรือหม้อน้ำดังกล่าวแล้ว กลุ่มใบเสมาพระพุทธบาทบัวบานจำนวนหนึ่งได้มีการสลักภาพเล่าเรื่องเอาไว้ที่ด้านล่างของแผ่นด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของภาพสลัก และลักษณะทางศิลปะแล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากกลับกลุ่มใบเสมาสลักภาพแถบจังหวัดกาฬสินธุ์หรือชัยภูมิ ซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ควรจะได้ทำการศึกษา กลุ่มใบเสมาที่มีภาพสลักเหล่านี้เพิ่มเติม
      ใบเสมากลุ่มพระพุทธบาทบัวบาน ที่มีภาพสลักเรื่องนี้ ส่วนใหญ่แกะสลักเป็นภาพบุคคลประธานประทับนั่งอยู่บนแท่น โดยมีกรอบซุ้มล้อมรอบ บางแผ่นมีบุคคลประธานเพียงองค์เดียว แต่บางแผ่นก็มีภาพบุคคลประกอบอยู่ทั้งสองข้างด้วย นอกจากนี้ก็มีบางแผ่น สลักเป็นภาพบุคคลอยู่ในอากัปกิริยาต่างๆ ที่แสดงถึงเหตุการณ์ในเรื่องราวตอนนั้นแต่ค่อนข้างน้อย
      ลักษณะของภาพบุคคล บนภาพสลักของใบเสมากลุ่มนี้ อันรวมถึงลายของกรอบซุ้ม แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรอย่างเด่นชัด โดยภาพบุรุษได้แต่งองค์ด้วยภูษาจีบเป็นริ้ว ชักชายภูษาออกมาเป็นวงโค้งขนาดใหญ่ มีหน้าอุทรจีบเป็นริ้ว ส่วนภูษาของสตรี ส่วนใหญ่แต่งด้วยภูษายาวคล้ายโสร่ง มีจีบเป็นริ้ว ชักชายภูษาออกมาเป็นวงโค้งขนาดใหญ่ โดยมีหน้าอุทรจีบเป็นริ้วเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับอย่างอื่นประดับอย่างเต็มที่อันได้แก่ มงกุฏ กรองศอ พาหุรัด ทองกร และอุทรพันธะ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะการแต่งกายและเครื่องประดับแล้ว แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ ในราวครึ่งหลังของศรรตวรรษที่ 15 ทั้งสิ้น


      เส้นทาง จากพระพุทธบาทบัวบานไปยัง กลุ่มเสมาหินทราย มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทางดินทรายเข้าไปในป่า ลักษณะพื้นที่เป็นป่ารก อาจมีสัตว์มีพิษหลบอยู่ตามใบไม้ จึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ รถสามารถวิ่งขึ้นไปได้ แต่หากมีรถวิ่งสวนทางมา บางช่วงทางแคบจะวิ่งสวนไม่ได้ ต้องถอยหาจุดที่จะหลบหลีกกันได้ ซึ่งก็พอจะทำได้ (มีป้ายเตือน พบงูจงอางบริเวณกลุ่มใบเสมา จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ)







      

แหล่งใบเสมาบวชพระปู่ (ชื่อตามที่ชาวบ้านเรียก บริเวณที่พบใบเสมา)
      แหล่งใบเสมาตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระพุทธบาทบัวบาน ห่างออกไปตามเส้นทางไปราว 2 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเนินดินเตึ้ยๆ ขุดแต่งโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2535
      จากการดำเนินการขุดแต่งพบใบเสมาจำนวน 24 ใบ ปักอยู่ที่แนวแกนทิศหลักและทิศรองทั้งแปด โดยแต่ละทิศปักซ้อนกัน 3 ชั้น ใบเสมาชั้นที่ 1 และ 2 ปักวางใกล้กัน และ ใบเสมาอีกชั้น ปักห่างออกไปเล็กน้อย

      นอกจากนี้ยังพบว่า การปักใบเสมาทั้งหมดมีระเบียบที่แน่ชัด คือ ใบเสมาชั้นในมีความสูงที่สุด และความสูงของเสมาค่อยๆ ลดหลั่นกันไปสู่ด้านนอก ใบเสมาเหล่านี้ บางแผ่นมีการสลักเล่า เรื่องไว้บนเสมาด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเสมาชั้นในสุด ที่มีการสลักภาพเล่าเรื่องทุกใบ และมีจำนวน 2 ใบ ที่สลักเล่าเรื่องทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
      ส่วนใบเสมาชั้นกลาง พบเพียงใบเดียวเท่านั้นที่สลักภาพเล่าเรื่องเอาไว้ ที่เหลือเป็นใบเสมาเรียบ และบางใบมีการแกะสลักเป็นสถูปรูปหม้อน้ำหรือแนวสันแกนเอาไว้ที่กลางแผ่นเท่านั้น

สำหรับใบเสมาที่สลักภาพเล่าเรื่องมีรายละเอียดดังนี้
      1. ใบเสมาหมายเลข 1 มีภาพสลักทั้ง 2 ด้าน ด้านหน้าสลักภาพบุรุษประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนแท่นบัลลังก์ พระหัตถ์ซ้ายถือก้านดอกไม้บาน มองเห็นด้านข้าง พระหัตถ์ขวาวางไว้บนพระเพลา ด้านซ้ายทำเป็นกรอบซุ้มมีภาพสตรีนั่งพับเพียบ บนแท่น ประดับเครื่องอาภรณ์ที่แสดงความสูงศักดิ์ ด้านขวามีรูปของบุคคล 2 คน มีสัดส่วนเล็กกว่าบุรุษประธาน บุคคลด้านหลังเห็นเฉพาะด้านหน้า ส่วนคนหน้ายกมือซ้ายขึ้น มือขวาถือดอกไม้บาน บุคคลทั้งสองสวมมงกุฏที่มียอดกระจายเป็นแฉก สันนิษฐานว่าเป็นภาพชาดกตอน " มหาเวสสันดรชาดก "
      ด้านหลัง เป็นรูปบุรุษประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา บนแท่นสูงภายในซุ้มรูปโค้งหยัก สวมมงกุฏและกุณฑลพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาซ้าย พระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ ถือก้านดอกไม้ยาวที่มีปลายบาน (แลเห็นด้านข้าง) สันนิษฐานว่าเป็นภาพ " พระอินทร์ " เทพผู้รักษาทางทิศตะวันออก

      2. ใบเสมาหมายเลข 2 ภาพบุรุษสวมมงกุฎทรงแหลมกุณฑล กรองศอ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ ถือก้านดอกไม้บานชูช่อขึ้น ประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์สูง ภายในกรอบซุ้มด้านบนสลักเรียวยาวทำเป็นแกนใบเสมา

      3. ใบเสมาหมายเลข 4 ภาพเลือนมาก เป็นภาพบุคคลสองคน อยู่ในกรอบซุ้มหยัก บุคคลด้านซ้ายมือประทับนั่งบนแท่นในท่ามหาราชลีลา พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ส่วนพระหัตถ์ขวาวางไว้บนพระเพลา บุคคลด้านซ้ายนั่งพับเพียบชันเข่า สวมมุงกุฎยอดแหลม ด้านบนเหนือศรีษะสลักเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ภาพไม่ชัดเจน

      4. ใบเสมาหมายเลข 7 สลักภาพบุคคล 2 คน บุคคลทางซ้ายเป็นประธาน ประทับนั่งท่ามหาราชลีลาบนแผ่นพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ ถือก้านดอกไม้บาน พระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลา สวมมงกุฎ กรองศอ อุทรพันธะ อย่างอลังการ บุคคลด้านขวานั่งพับเพียบชันเข่าขวาขึ้น หันหน้าเข้าหาบุรุษประธาน มิอซ้ายวางบนตัก มือขวายกขึ้นถือส่งของบางอย่างไพล่ไปทางด้านหลัง บุคคลทั้งสองประทับอยู่ในกรอบซุ้ม ที่มีลกษณะพิเศษ คือ เป็นกรอบที่ทำคล้าย ฉากหลัง ไม่มีช่องว่างระหว่างตัวบุคคลกับกรอบซุ้ม

      5. ใบเสมาหมายเลข 10 ด้านหลังสลักเป็นลวดลายรูปหม้อน้ำ มีลายกลีบบัวซ้อน 2 ชั้นมีปลายเรียวแหลมขึ้นไปอยู่กึ่งกลางแผ่น ด้านหน้าสลักภาพบุคคล 3 คนภายในซุ้ม บุรุษประธานประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชงฆ์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นในท่าประทานพร กลางฝ่าพระหัตถ์มีลายวงกลมอยู่ (ธรรมจักร ? ) สวมเครื่องประดับอย่างอลังการ บุคคลด้านขวาเป็นรูปบุรุษนั่ง งอเข่าขึ้น ยกมือขึ้นพนมระหว่างอก ส่วนบุคคลด้านซ้ายนั่งพับ เพียบงอเข่าซ้ายตั้งขึ้น หันหน้าเข้าหาบุรุษประธาน พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ถือก้านดอกบัวตูม พระหัตถ์ขวาทอดแนบลำตัว สวมกระบังหน้า โดยมีหมวยผมทรงสูงต่อออกไปด้านหลัง (ยังไม่ได้รับการสันนิษฐานหรือตีความ ว่าเป็นเรื่องอะไร ตอนใด)

      6. ใบเสมาหมายเลข 13 สลักภาพบุคคล 3 คนภายในซุ้มโค้งหยัก บุรุษประธานประทับนั่งท่ามหาราชลีลาบนแท่นสูงยกพระชงค์ขวาขึ้น พระหัตถ์ขวาวางบนเข่าถือก้านดอกไม้บาน พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา สวมเครื่องประดับแสดงความสูงศักดิ์ บุคคลด้านซ้ายประทับนั่งพับเพียบบนแท่นต่ำลงมา งอยกพระชงค์ตั้งขึ้น พนมมือระหว่างอก สวมเครื่องประดับแต่ลบเลือนมาก บุคคลด้านขวาเป็นสตรีประทับนั่งบนแท่นเตี้ยที่สุด หันหน้าเข้าหาบุรุษประธาน พระหัตถ์ซ้ายวางไว้ที่ท้อง พระหัตถ์ขวาทอดแนบลำตัว (ยังไม่ได้รับการสันนิษฐานหรือตีความ ว่าเป็นเรื่องอะไร ตอนใด)

      7. ใบเสมาหมายเลข 16 สลักภาพบุคคล 3 คน บุรุษประธานนั่งในท่านั่งมหาราชลีลา ในกรอบซุ้มหยัก ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมออก พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา สวมเครื่องประดับที่แสดงความสูงศักดิ์ ด้านซ้ายของบุรุษประธานเป็นสตรี นั่งพับเพียบอยู่กับพื้น พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระศอ ถือก้านดอกไม้บานที่มีช่อตั้งขึ้น พระกรซ้ายทอดลงมาบนพื้น สวมมงกุฎยอดแหลมแสดงความสูงศักดิ์ ทางด้านขวามีรูปสตรีอีกคน ประทับนั่งพระกรขวาทาบไว้ใต้พระอุระ พระกรซ้ายวางทอดแนบลำตัว ด้านหลังสลักแกนสถูปที่กึ่งกลางใบ (ยังไม่ได้รับการสันนิษฐานหรือตีความ ว่าเป็นเรื่องอะไร ตอนใด)

      8. ใบเสมาหมายเลข 19 สลักภาพบุคคลประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา บนแท่นอยู่ในกรอบซุ้มหยักโค้ง พระหัตถ์ขวาถือก้านดอกไม้ตูม (บัวตูม) พระหัตถ็ซ้ายวางทอดลงมาที่พระเพลา ประดับเครื่องศิราภรณ์เป็นมวยผมทรงสูง มีอุทรพันธะรัดเอว สำหรับเครื่องประดับอื่นค่อนข้างเลอะเลือน สันนิษฐานว่าเป็นภาพ " พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร "

      9. ใบเสมาหมายเลข 22 ด้านหน้าเป็นภาพบุรุษประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นสูงภายในกรอบซุ้มหยักโค้ง พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา สวมศิราภรณ์เป้นมงกุฎยอดแหลม ทางด้านขวาเป็นบุรุษหันหน้าเข้าหาบุรุษประธาน นั่งพับเพียบชันเข่าบนแท่นเตี้ย ยก แขนขวาแนบอก ส่วนแขนซ้ายทาบลำตัวประคองใต้ศอกขวา อันเป็นท่าแสดงความเคารพต่อบุรุษประธาน ด้านซ้ายของภาพสลักเป็นภาพม้ายืนอยู่บนแท่นเตี้ยภายในซุ้มหันหน้าเข้าหาบุรุษประธาน สันนิษฐานว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอน " มหาภิเนษกรมณ์ หรือเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชพร้อมด้วยนายฉันนะและม้ากัณฐกะ"
      ด้านหลังเป็นภาพบุรุษประธานอยู่ตรงกลางอยู่ตรงกลาง ประทับนั่งสมาธิอยู่บนบัลลังค์สูงในกรอบซุ้มหยักโค้ง พระเกศาเกล้าเป็นมวยมีเส้นคาดรอบอุษณีษะ ไม่มีเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ประดับแต่อย่างใด พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลา
      ด้านซ้ายเป็นภาพบุรูษอีกคนหนึ่งประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา ประทับนั่งบนแท่นที่เตี้ยกว่าประธานเล็กน้อย ภายในกรอบซุ้มโค้งหยัก ยกงอพระชงค์ขวา ส่วนพระบาทซ้ายวางขนานแนบกับแท่น พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางที่พระเพลา สวมมงกุฎ กุณฑล กรองศอ อุทรพันธะ และทองพระกร ทางด้านขวาเป็นภาพสตรีประทับนั่งพับเพียบบนแท่นเตี้ยกว่าผู้อื่นภายในซุ้มโค้งหยัก ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระถือก้านดอกไม้บาน พระหัตถ์ขวาทอดลงมาแนบลำตัว สวมศิราภรณ์ทรงมงกุฏยอดแหลมและเครื่องประดับอื่นๆ ที่แสดงความสูงศักดิ์ สันนิษฐานว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอน " พระพุทธเจ้าโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ " ประทับนั่งอีกด้าน คือ พระอินทร์

      ลักษณะพื้นฐานของใบเสมาสมัยวัฒนธรรมทวารวดี มีลักษณะเป็นแบบแผ่นแบน (Slab type) ด้านบนทรงโค้งแบบกลีบบัว ส่วนเอวคอดและบานออกเล็กน้อย ส่วนฐานถัดลงมาด้านล่างเป้นแกนเดือยหินที่มีความยาวประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวด้านบนเพื่อใช้สำหรับปักลงดิน การประดับตกแต่งมีทั้งแบบเรียบและสลัดลวดลายสถูป หม้อน้ำ และสลักภาพเล่าเรื่อง

      รูปแบบใบเสมาบริเวณ บวชพระปู่ มีลักษณะที่พิเศษกล่าว คือ
      ลักษณะของภาพบุคคล ลายกรอบซุ้ม แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรอย่างเด่นชัด โดยภาพบุรุษได้แต่งองค์ด้วยภูษาสมพดจีบเป็นริ้ว ชักชายภูษาออกมาเป็นวงโค้งขนาดใหญ่ มีหน้าอุทรจีบเป็นริ้ว ส่วนภูษาทรงของสตรีส่วนใหญ่ แต่งด้วยภูษายาวคล้ายโสร่ง มีจีบเป็นริ้วชักชายภูษาออกมาเป็นวงโค้งขนาดใหญ่ โดยมีหน้าอุทรจีบเป็นริ้วเช่นกัน
      นอกจากนี้ยังมีเครื่องอาภรณ์ประดับอย่างเต็มที่อันได้แก่ มงกุฎ กรองศอ พาหุรัด ทองกร และอุทรพันธะ แสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ ในราวครึ่งศตวรรษที่ 15 อันเป็นลักษณะเฉพาะของใบเสมาในกลุ่มพระพุทธบาทบัวบาน

ภาพถ่ายเมื่อ : 30 ตุลาคม 2559
*** จำนวนการค้นพบใบเสมา ตำราเก่า ปีที่พิมพ์: 2541 แจ้งว่า 24 ใบ บางข้อมูลแจ้ง 31 ใบ ณ ปัจจุบันผู้จัดทำจึงไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด (เดินสำรวจคนเดียว มืดเสียก่อนจึงรีบออกจากป่า ไม่ได้นับจำนวนใบเสมา)
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน
วัดพระพุทธบาทบัวบาน



สถานที่ตั้ง : วัดพระพุทธบาทบัวบาน บ้านไผ่ล้อม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี, กลุ่มใบเสมา อยู่ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ เทือกเขาภูพาน ประมาณ 2 กิโลเมตร รถสามารถวิ่งไปได้
ถ่ายภาพเมื่อ : 30 ตุลาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 31 ตุลาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 8549 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง, ข้อมูลจาก : prapayneethai.com, archae.su.ac.th, finearts.go.th, หนังสือใบเสมากลุ่มพระพุทธบาทบัวบาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี, เรียบเรียงขึ้นเอง


30-10-2016 Views : 8550
      ร่วมกันสนับสนุนเว็บไซต์นี้ ทำได้ง่ายๆ ด้วยการคลิกลิงค์ด้านล่าง... ขอบคุณครับ





อาร์ตนานา สตูดิโอ และ เดอะ ไดโนเสาร์ อาร์ต แกลเลอรี่ ™ (หอศิลป์ เดอะแด็ก)
บ้านเลขที่ 9, 48 หมู่ 12 บ้านหนองซำ ต.น้ำอ้อม อ.ค้อวัง จ.ยโสธร 35160 กรุณาโทรติดต่อก่อนการเดินทางหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่เบอร์ โทร. 081- 303 4493, 064-092 9449
ออกแบบโลโก้ | ออกแบบบรรจุภัณฑ์ | ออกแบบกล่อง | ออกแบบบถุง | ออกแบบฉลาก | ออกแบบสื่อส่งเสริมการขาย ออกแบบสื่อดิจิทัล Digital Media Design

 ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ อีสานอาร์ตดอทคอม ช่องพุทธศิลป์อีสาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางถ่ายภาพนำมาจัดทำเว็บไซต์ ได้ที่ :

ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกะปิ ชื่อบัญชี นายพัฒยา จันดากูล เลขที่บัญชี 003-2-02799-9 ประเภท ออมทรัพย์

ต้องยอมรับความจริงว่า การเดินทางมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าน้ำมันรถ หากต้องเดินทางไกลๆ หลายร้อยกิโลเมตร ค่าใช้จายในแต่ละเที่ยวก็หลายพันบาท เว็บมาสเตอร์จึงต้องรองบประมาณ และวางแผนการเดินทางให้คุ้มกับค่าน้ำมัน โดยกำหนดจุดที่จะไปถ่ายภาพให้ได้เยอะๆ ก่อนการเดินทาง ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนค่าเดินทางครับ



18.97.14.88 | Copyright © 2008 - 2023 esanart.com All Rights Reserved.
Website designed by Artnana Sudio