วัดพระธาตุขามแก่น หรือ วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
พระธาตูขามแก่น มีหลายตำนานเล่าขานกันหลาย ดังนี้
ตำนานที่หนี่ง
นับแต่การเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จ แล้วพระบรมสารีริกธาตุได้ถูกนำไปประดิษฐานไว้ในที่ต่าง ๆ คือ พระสารีริกธาตุกระโยงหัว (กะโหลกศีรษะ) ฆะฏิการพรหมนำไปไว้บนเทวโลก, พระธาตุเขี้ยวหมากแง (พระเขี้ยวแก้ว) พระอินทร์นำไปไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์,พระธาตุกระดูกด้ามมีด (พระรากขวัญ ) พระยานาคนำไปไว้เมืองบาดาล
ครั้งต่อมาโมริยกษัตริย์เจ้านครโมรีย์ (อยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน)
ทราบข่าวภายหลังเพราะอยู่ห่างไกลและเดินทางช้า จึงได้แต่พระอังคารธาตุ (ฝุ่น) แล้วนำไปไว้ที่นครของตน ประมาณพุทธศักราชล่วงมาได้ 3 ปี พระมหากัสสปะเถระเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ นำเอาพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) ไปประดิษฐานไว้ภูกำพร้า (พระธาตุพนมในปัจจุบัน) พระยาหลังเขียว โมริยกษัตริย์ และพระอรหันต์ยอดแก้ว, พระอรหันต์รังษี, พระอรหันต์คันที และไม่ปรากฏชื่ออีก 6 องค์ จึงเดินทางพร้อมอัญเชิญเอาพระอังคารธาตุเพื่อไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย ระหว่างทางได้มาถึงพื้นที่แห่งหนึ่ง (ที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน) มีพื้นที่พื้นที่ดอน ราบเรียบ มีห้วยสามแยก น้ำไหลผ่านรอบดอน และมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่นอยู่ต้นหนึ่ง
ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำพอดี ประกอบกับพื้นที่มีความเหมาะสมจึงได้พักแรมที่นี่ และนำเอาพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นของต้นมะขามที่ตายแล้วดังกล่าว พอรุ่งเช้าทั้งคณะก็เดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป
พอไปถึงปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำพระอังคารธาตุบรรจุลงไปได้อีก จึงจำต้องนำเอาพระอังคารธาตุนั้นกลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปไว้ที่นครของตนตามเดิม เมื่อมาถึงดอนมะขามซึ่งเคยเป็นที่พักแรม ครั้งก่อน ได้เห็นต้นมะขามใหญ่ที่ล้มตายเหลือแต่แก่นนั้นกลับผลิตดอก ออกผล แตกกิ่งก้านสาขามีใบเขียวชะอุ่มแลดูงามตายิ่งนัก จะเป็นด้วยเทพเจ้าแสร้งนิมิต หรือด้วยอำนาจอภินิหารของพระอังคารธาตุก็มิอาจรู้ได้ เห็นเป็นอัศจรรย์เช่นนั้นจึง พร้อมกันก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม และบรรจุพระอังคารธาตุของพระเจ้าไว้ภายในด้วย โดยมีรูปลักษณะดังที่เราเห็น อยู่ในปัจจุบันนี้ จึง เรียกชื่อพระธาตุนี้ว่า "พระธาตุขามแก่น"
หลังจาการก่อสร้างพระธาตุเสร็จแล้ว พระยาหลังเขียวพร้อมด้วยบริวารได้สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ตรงนี้ และได้สร้างวัดให้เป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ซึ่งมีวิหาร และพัทธสีมาเคียงคู่กับองค์พระธาตุสืบมา ครั้นกาลล้วงมาพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ก็ได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ชาวเมืองนำเอาอัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของ อุโบสถในเวลานี้ ต่อมาประชาชนจึงเรียกพระธาตุองค์ใหญ่ว่า ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ ส่วนพระธาตุองค์เล็กเรียกว่า ครูบาทั้งแปด
ตำนานที่สอง
มีเรื่องราวคล้ายตำนานที่หนึ่ง แต่กล่าวว่าพระอรหันต์ที่อัญเชิญพระอังคารธาตุนั้น มีเพียง 2 องค์เท่านั้น
ตำนานที่สาม
แต่เดิม ณ ที่นี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาเมื่อเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาหักล้างถางพง จับจองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนั้น ชาวบ้านพบว่ามีตอมะขามที่ตายแล้วเหลือแต่แก่นอยู่ต้นหนึ่ง แต่ต่อมาปรากฏว่าแก่นมะขามนั้นกลับมีการแตกใบ ผลิดอก ดูแปลกประหลาด และพบว่าหากมีใครที่ไปทำการอะไรที่เป็นการดูหมิ่นหรือลบหลู่ตอมะขามนั้น คนผู้นั้นก็จะมีอันเป็นไป ชาวบ้านจึงเกิดความเคารพบูชา และร่วมกันสร้างเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นไว้ พร้อมกับบรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 ประการ ไว้ในนั้นด้วย จึงเรียกเจดีย์ที่สร้างนั้นว่า พระเจ้าเก้าพระองค์หรือ เจดีย์บ้านขาม ต่อมาจึงเป็นพระธาตุขามแก่น
งานฉลองและนมัสการพระธาตุขามแก่น
งานฉลองและนมัสการพระธาตุขามแก่น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
การเดินทาง
พระธาตุขามแก่นเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองขอนแก่นและเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจติภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง อยู่ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 30 กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนสายขอนแก่น -กาฬสินธุ์ เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตรที่ 12 บ้านโคกสี เป็นถนนลาดยางตลอด มีป้ายบอกทางไปพระธาตุ ขามแก่นเป็นระยะๆ จนถึงองค์พระธาตุ
สิ่งที่น่าสนใจ
1. พระธาตุขามแก่น พระธาตุขามแก่นมีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสามเหลี่ยมทรงอีสาน องค์พระธาตุสูง 19 เมตร
ฐานด้านทิศตะวันออกและตะวันตกกว้าง 10.90 เมตรเท่ากัน รอบองค์พระธาตุมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทั้ง 4 ด้าน สูง 1.20 เมตร กำแพงแก้วห่างจากองค์พระธาตุโดยเฉลี่ย 2.30 เมตร ทุกด้านมีประตูเข้าออก ด้านทิศเหนือ 2 ช่อง และทิศใต้ 2 ช่อง กว้างช่องละ 1 เมตร
2. สิมเก่า เป็นสิมทึบ เข้า-ออกทางเดียว ลายรวงผึ้ง ช่อฟ้า หางหงส์ จำหลักไม้สวยงาม รูปแบบผสมผสานระหวางอีสานและญวนบ้างแต่ไม่มาก
3. ธรรมาสน์เก่า ตั้งอยู่ภายในศาลา ตรงข้ามกับพระธาตุขามแก่น แกะสลักไม้ลายพื้นบ้านประกอบกับสัตว์ เช่น ช้าง กินรี พญานาค เป็นต้น ออกแบบลวดลาย ประกอบกันได้อย่างลงตัว สวยงาม
4. หอระฆังไม้เก่า
สถานที่ตั้ง : วัดพระธาตุขามแก่น หรือ วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
|
|
ถ่ายภาพเมื่อ : 3 สิงหาคม 2557
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
05-11-2014 Views : 3278