สิมวัดศรีฐาน อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด
วัดศรีฐาน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2369 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2398 สิ่งที่ได้รับการอนุรักษณ์จากกรมศิลปากร คือ สิม ลักษณะเป็นสิมแบบพื้นเมืองบริสุทธิ์ประเภทสิมทึบ มีรูปทรงของอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 4.60 x 6.40 เมตร มีคันทวยข้างละ 4 ตัว หน้าต่างข้างละ 1 ช่อง หลังคาเป็นทรงจั่วซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด และต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นสังกะสีจากการบูรณะภายหลังและมีการบูรณะอีกครั้งจากกรมศิลปากร จนมีสภาพเช่นปัจจุบัน ข้างบันไดมีรูปไม้แกะสลักคนแบกคน (ให้ขี่หลัง) 1 อัน อีกอันเป็นคนยืนคนเดียว ปัจจุบัน สภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
สิมวัดศรีฐานมีความโดดเด่นอยู่ที่ลายแกะไม้บริเวณหน้าบันเป็นรูปตาเว็น (ดวงอาทิตย์) และลายแกะส่วนของฮังผึ้งซึ่งแกะเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้าง ครุฑยุดนาค และนิทานพื้นบ้าน ตลอดจนลายคันทวยรูปพญานาค ทั้งนี้ถือได้ว่าเป็นลายแกะไม้ของสิมที่สวยงามที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ดอีกแห่งหนึ่ง
ข้อมูลจาก : สำนักวัฒนธรรม ม.ขอนแก่น http://202.12.97.23/main/esanart/
รูปแบบสิม
เป็นสิมทึบอีสานบริสุทธิ์ ที่สวยงามอีกหลังหนึ่งของอีสาน แปลนรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า กว้างรวมผนัง 4.60 เมตร ยาว 6.40 เมตร สูงระดับแอวขัน 2 เมตร สูงระดับพื้นสิม 1.50 เมตร มีบันไดทอดยาวด้านหน้า 7 ขั้น เพียงด้านเดียว หลังคาตับเตียวลด 3 ชั้น ระหว่างช่วงลดทิ้งโล่งเป็นการระบายอากาศอันร้อนแล้งของอีสานได้ดีมาก เดิมมุงแป้นเกล็ด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสังกะสี
ฐานแอวขันก่ออิฐฉาบปูนชะทายปั้นบัวลดหลั่นเเบบปากพานดูแข็งแรงบึกบึนได้พละกำลังมากมาย ด้านข้างเจาะช่องเเสงใส่ลูกกรงไม่มีบานหน้าต่าง เพียงด้านละช่องเทานั้น ไม่มีฐานชุกชี ช่างเพียงแต่ก่อแท่นยาวตลอดความกว้างของสิม เพื่อจัดวางพระพุทธรูปได้หลายองค์ ซึ่งส่วนใหญ่แกะสลักด้วยไม้ที่มีพุทธศิลป์แบบพื้นบ้านทั้งสิ้น
การตกแต่ง
ส่วนเครื่องบนหลังคาท้ำเป็นยอดปั้นลมแทนโหง่ ไม่มีชอฟ้า ลำยอง เป็นไม่เรียบแบบปั้นลมบ้านธรรมดา หางหงส์เป็นกนกหัวม้วน สีหน้าลายตาเวน ฐานล่างลงมาทำไม้คล้ายลูกฟักสองแถวแล้วลงมาเป็น ฮังผึ้ง ซึ่งส่วนนี้วิจิตรพิสดารมาก เป็นการแกะสลักไม้เเผ่นเดียวยาวเท่าความกว้างของสิม มีลวดลายกนกเครือวัลย์ มีพระอินทรงช้างเอราวัณ มีอมนุษย์จับหางนาคมาพันที่คอ ซ้ายสุดด้านล่างแกะเป็นหัวล้านชนกัน ด้านขวาสุดแกะเป็นหาบช้างซาเเมว ขยับมาอีกหน่อยเป็นรูปหงส์หามเต่า ซึ่งเป็นภาพปริศนาธรรมที่ช่างแกะนิยมทำประดับสิมในแถบอีสานส่วนกลาง (ส่วนฮังฮังผึ้งนี้ถือเป็นงานสุดยอดของสิมวัดศรีฐานหลังนี้) บานประตูทั้ง 2 บานมีอกเลาแกะเป็นลายเครือวัลย์พื้นเมือง มีรูปบุคคลอยู่ด้านล่างทั้ง 2 ข้าง กำลังต่อสู้ อีกฝ่ายด้านขวามือกำลังแผลงศร (พระราม) ด้านซ้ายกำลังถือสามง่าม คล้ายตรีด้ามยาว (ยักษ์) มีรูปสัตว์ประกอบให้รู้ว่าเป็นป่าเขาลำนำไพรดูได้อารมณ์เรียบง่าย จริงใจ
สัตย์ซื่อ สวนคันทวยนั้นแกะเป็นรูปพญานาคตัวค่อนข้างอ้วนใหญ่บึกบึนอีกเช่นกัน อกนาคส่วนล่างตั้งอยู่บน แอวขันพอดี หางม้วนขึนไปยันเต้าไม้รับเชิงชาย หงอนนาคบางตัวทำเป็นรูปผู้หญิงยืนจับปอยผมซึ่งยาวลงมาจรดกับหงอนที่คอนาค ดูแปลกไม่เหมือนที่ใด ยังมีพิเศษอีกแห่งหนึ่ง ก็คือบนพื้นดินหน้าบันได แทนที่จะเป็นรูปสัตว์ปูนปั้นกลับกลายเป็นรูปสลักด้วยไม้ทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปบุคคลยืนมีเด็กขี่หลังอยูด้านหนึ่ง และรูปยืนเดียวอีกด้านหนึ่ง บัดนี้ไม้ถูกแดดฝนชัดจนสึกกร่อนเลือนลาง
28-11-2013 Views : 1669