+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร |
เมืองหลวงพระบาง หรือเมื่อก่อนนั้นคือ
อาณาจักรล้านช้าง ในอดีตกาล เมืองหลวงพระบางเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของชาวลาว พระเจ้าฟ้างุ้มได้รวบรวมแคว้นต่างๆของชนเผ่าไท-ลาวในเขตลุ่มน้ำโขง น้ำคาน น้ำอู และก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง ในริมน้ำโขงซึ่งคือหลวงพระบาง
เมื่อปี พ.ศ. 1896 – 1916 และได้รับการช่วยเหลือของกษัตริย์ขอม (เพราะมเหสีของเจ้าฟ้างุ้มคือพระราชธิดาของกษัตริย์ขอมในขณะนั้น) พร้อมๆกับการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแทนการนับถือผี ลาว เป็นประเทศหนึ่งที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษเดียวกับชาวไทย แต่ลาวมีชนกลุ่มน้อยมากมายหลายเผ่า ลาวแท้ๆ มีเพียง 50 % ท่านั้น ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ที่ราบริมน้ำโขง ส่วนชาวเขานิยมอยู่บนเทือกเขา
เมื่ออดีตเริ่มแรก อาณาจักรล้านช้างมีชื่อเรียกว่า “เมืองชวา” มีชาวชวาอาศัยอยู่มากกว่าในกลุ่มอื่น พ.ศ. 1900 เปลี่ยนมาใช้ชื่อ เมืองเชียงทอง จนกษัตริย์ขอมได้พระราชทานพระพุทธรูปองค์หนึ่งให้แก่พระเจ้าฟ้างุ้ม มีชื่อว่า
พระบาง เป็นพระพุทธรูปศิลปะสิงหล เจ้าฟ้างุ้มจึงทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “หลวงพระบาง”
จนในปี พ.ศ. 2088 พระเจ้าโพธิสารราชเจ้า โปรดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ แม้หลวงพระบางจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงต่อไป แต่เจ้ามหาชีวิตยังคงประทับที่หลวงพระบาง ต่อมาอาณาจักรล้านช้างแตกออกเป็นสามอาณาจักร คือ
1.อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
2.อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
3.อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง คงสืบทอดบัลลังก์กระทั่งถึงยุคสิ้นสุดของราชวงศ์ เนื่องจากลาวนั้น ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม เวียดนาม และ ฝรั่งเศส ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้เองที่เมืองหลวงพระบางมีความเป็นมายาวนาน เป็นราชธานีเก่าแก่ วัดวาอารามมากมาย และมีธรรมชาติที่วิเศษ เมื่อองค์การ ยูเนสโก้ ยกให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก ชื่อของหลวงพระบางจึงรู้จักกับนักท่องเที่ยวทั่วไป การท่องเที่ยวเมืองหลวงพระบางจึงมีชื่อเสียงมากที่สุดของลาว
ล้านช้างสามอาณาจักร
เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ราชอาณาจักรล้านช้างเกิดภาวะระส่ำระสายอย่างหนัก จากการแก่งแย่งอำนาจของบรรดาเชื้อพระวงศ์ จนทำให้ราชอาณาจักรแตกแยกออกเป็น 3 ราชอาณาจักรเอกราช ได้แก่
1.
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
อาณาจักรนี้คืออาณาจักรที่สืบทอดจากอาณาจักรล้านช้างศรีสัตนาคนหุตเดิม มีอาณาปกครองดินแดนลาวภาคกลางในปัจจุบัน มีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 เป็นปฐมกษัตริย์ พระไชยเชษฐาองค์นี้ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่จักรวรรดิเวียดนาม ซึ่งมีราชธานีในขณะนั้นอยู่ที่เมืองเว้ คนทั้งหลายจึงขนานพระนามอีกอย่างว่าพระไชยองค์เว้หรือพระไชยองค์เวียด พระองค์ได้นำกำลังจากเวียดนามเข้ายึดกรุงเวียงจันทน์จับเจ้านันทราชสำเร็จโทษ แล้วราชาภิเษกพระองค์เองเป็นกษัตริย์ในปี พ.ศ. 2241 จากนั้นจึงทรงตั้งท้าวลองเป็นเจ้าอุปราชครองเมืองหลวงพระบางแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวลาวทั้งมวล เพราะพระองค์มีความใกล้ชิดกับจักรวรรดิเวียดนาม
ในปี พ.ศ. 2250 เจ้ากิ่งกิสราชกับเจ้าองค์คำ พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ที่หนีไปประทับที่เมืองหงสา (อยู่ในแขวงไซยะบูลีในปัจจุบัน) ได้ยกทัพเข้ามาชิงเมืองหลวงพระบาง จับเจ้าอุปราชท้าวลองสำเร็จโทษ และเตรียมจะยกทัพเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ พระไชยองค์เว้จึงมีพระราชสาส์นไปยังสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอความช่วยเหลือ ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายให้ยุติการรบและปกปันเขตแดนต่อกัน ทำให้หลวงพระบางกลายเป็นอาณาจักรเอกราชไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์มานับแต่นั้น ในยุคนี้จึงนับได้ว่าเป็นยุคที่ลาวแตกแยกเป็น 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ซึ่งเวียงจันทน์ก็เองไม่ไว้ใจและหาทางทำลายฝ่ายหลวงพระบางอยู่ตลอด
(วัดสีสะเกดหรือวัดแสน สร้างในสมัยพระเจ้าอนุวงศ์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์)
2.
อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางถือกำเนิดจากความแตกแยกระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบางในปี พ.ศ. 2250 ดังได้กล่าวมาแล้ว มีอาณาปกครองดินแดนลาวภาคเหนือในปัจจุบัน มีพระเจ้ากิ่งกิสราชเป็นปฐมกษัตริย์ (พ.ศ. 2249 - 2256) และมีเชื้อสายกษัตริย์สืบราชสมบัติต่อมาจนกระทั่งประเทศลาวเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2492 และเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาวต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2518 ในยุคแรกอาณาจักรนี้เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในของตนเองเป็นระยะ และมีการจะขอกำลังจากรัฐที่ใหญ่กว่าอย่างพม่ามาช่วยเหลือเสมอ แน่นอนว่าฝ่ายหลวงพระบางก็ไม่ไว้ใจและหาทางทำลายฝ่ายเวียงจันทน์เช่นกัน
(วัดเชียงทอง สถาปัตยกรรมล้านช้าง สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช)
3.
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีกำเนิดมาจากการอพยพหลบภัยการเมืองของเจ้านางสุมังคละและประชาชนส่วนหนึ่งภายใต้การนำของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระเถระผู้ใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช มูลเหตุมาจากพระยาเมืองจันผู้เป็นเสนาบดีได้ชิงราชสมบัติขึ้นครองอาณาจักรหลังพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคต และคิดจะเอาเจ้านางสุมังคละ พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ซึ่งทรงเป็นหม้ายและกำลังทรงครรภ์) เป็นมเหสี แต่นางไม่ยอม จึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กจึงพาญาติโยมของตนประมาณ 3,000 คนและเจ้านางสุมังคละหนีออกจากเวียงจันทน์ทางใต้ไปซ่อนตัวอยู่ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก ณ ที่นั้นเจ้านางสุมังคละได้ประสูติพระโอรสนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์
ต่อมานางแพงเจ้าเมืองจำปาสักชาวพื้นเมืองได้อาราธนาเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กมาปกครองบ้านเมือง เจ้าราชครูหลวงปกครองบ้านเมืองได้ระยะหนึ่งก็เกิดปัญหาการปกครองในบางประการซึ่งเอาหลักทางธรรมมาตัดสินและยุติปัญหาไม่ได้ ท่านจึงให้คนไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเจริญพระชนม์มากพอที่จะปกครองบ้านเมืองได้แล้ว มาทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ปกครองนครจำปาสักในปี พ.ศ. 2257 ทรงพระนามว่า พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร อาณาจักรล้านช้างแห่งที่ 3 คือ อาณาจักรล้านช้างจำปาสัก จึงถือกำเนิดขึ้นในปีนี้ พระองค์ได้ประกาศอาณาเขตแยกออกจากเวียงจันทน์ ปกครองดินแดนลาวภาคใต้ตั้งแต่เขตเมืองนครพนม เมืองคำม่วน ลงไปจนถึงเมืองเชียงแตง เมืองมโนไพรต่อแดนเขมร ส่วนทางด้านตะวันตกอาณาเขตไปไกลจนถึงเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ เชื้อสายของกษัตริย์แห่งอาณาจักรนี้ได้ปกครองจำปาสักต่อมาทั้งในฐานะกษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร และผู้ว่าราชการเมือง จนกระทั่งแผ่นดินลาวรวมเป็นหนึ่งในปี พ.ศ. 2489 แต่ยังคงมีบทบาททางการเมืองในลาวยุคพระราชอาณาจักรมาตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518
(ตราแผ่นดินพระราชอาณาจักรลาว เป็นตราประจำราชวงศ์ล้านช้างหรือราชวงศ์ขุนลอ ซึ่งสืบเชื้อสายทางผู้ปกครองอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง)
มรดกโลก
หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกด้วยเหตุผล คือ มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม และชาวหลวงพระบางมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม
สถานที่ตั้ง : หลวงพระบาง สปป. ลาว
ถ่ายภาพเมื่อ : 10 ตุลาคม 2554
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 31 สิงหาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 6133 ครั้ง
หมายเหตุ : ภาพถ่าย : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง
ข้อมูล : luangprabangtour.com, th.wikipedia.org