วัดอุดมประชาราษฎร์
วัดอุดมประชาราษฎร์เดิมชื่อวัดหัวระพา ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 ผู้นำในการก่อสร้างคือญาคูบุปผา ผาสุวิหาโร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2472 ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 พระครูวีระพรมคุณ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดอุดมประชาราษฎร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2541 เล่มที่ 115 ให้เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์
ความสำคัญของโบราณสถาน วัดอุดมประชาราษฏร์ มีสิมทึบขนาดใหญ่ขนาด กว้าง 7.85 เมตร ยาว 13.27 เมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2476 ด้วยงบประมาณ 6,000 บาท ด้วยฝีมือของสถาปนิกที่เป็นช่างญวนชื่อ นายทองคำ จันทร์เจริญ (ทองคำ แซ่อึ้ง) และนายคำมี จันทร์เจริญ ที่น่าสนใจคือ เป็นสิมทึบที่มีขนาดใหญ่ พบได้ไม่ง่ายนักในแถบนี้ รูปแบบสิมต่างจากสิมช่างญวนที่วัดดอนยานาง วัดโพธิ์ชัยบ้านโคกใหญ่ ซึ่งสิมทั้ง 2 วัดนั้นจะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายกันมาก สิมวัดอุดมประชาราษฏร์ ตัวสิมจะมีหลังคายกชั้น 3 ชั้น และมีหลังคาปีกนกรอบตัวสิม ส่วนบนลำยองเป็นไม้แกะลายเป็นตัวนาคข้างละ 5 ตัวเอาหางเกี่ยวคอกันอย่างลงตัว หน้าบันของสิมจะปั้นนูนต่ำเป็นรูปครุฑ 2 ตัว ตัวใหญ่อยู่ข้างล่างตัวเล็กอยู่ข้างบน ด้านข้างซ้ายขวาเป็นมังกรม้วนหาง มีเมฆเป็นส่วนประกอบ มีเสานางเรียงก่ออิฐโดยรอบเพื่อป้องกันน้ำฝนและความชื้น บันไดจะมีนาคมีหงอน 2 ตัว เฝ้าทางขึ้นสิม ประตูสิมทำด้วยไม้ เหนือประตูเป็นรูปปั้นของพระพุทธเจ้าและสาวกพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เหนือขึ้นไปปั้นเป็นพระอาทิตย์อยู่ตรงกลางและมีมังกรขดหางเล่นเมฆซ้ายขวา
ด้านนอกสิม จะแบ่งเป็น 5 ช่อง 3 ช่องแรกจะเป็นหน้าต่าง ใต้หน้าต่างจะมีรูระบายอากาศ 7 รู อีก 2 ช่องหลัง (ข้างละ 2 ช่อง 2 ฝั่งเป็น 4 และด้านหลังอีก 3 ช่อง รวม 7 ช่อง) จะทำเป็นซุ้มโค้งคล้ายๆ หน้าต่างหลอก ด้านหลังไม่ทำซุ้มโค้ง มีการเขียนฮูปแต้ม หรือ ภาพเขียนสี เป็นเรื่องราวของพระเวชสันดร พร้อมเขียนด้วยอักษรธรรม โดยช่างแต้มคือ อาจารย์ผาย อยู่บ้านคำเชียงวัน ต.นามะเขีอ อ.สหัสขันธ์ เขียนเนื้อเรื่องตามศรัทธาของผู้ว่าจ้าง ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ช่างแต้มได้สอดแทรกแนวทางการดำเนินชีวิตของชาวอีสานสมัยก่อนลงในภาพ เช่น ล่าหมูป่า ประเพณีงานศพ การละเล่นหัวล้านชนกัน รวมถึงได้สอดแทรกอารมณ์ขันของช่างแต้ม เช่น ภาพสาวงามถลกชายผ้าถุงเป็นการล้อเลียนชูชก เป็นต้น
(ข้อมูลเรียบเรียงขึ้นใหม่ ที่มา กรมศิลปากร http://gis.finearts.go.th อาจารย์สำรวย เย็นเฉื่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
28-11-2013 Views : 2722