+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
อาณาจักรศรีจนาศะ เมืองเสมา จ.นครราชสีมา
เมืองเสมาเป็นเมืองโบราณที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา เชื่อว่าน่าจะเป็นชุมชนเก่าก่อนที่จะย้ายมาที่ตัวเมืองนครราชสีมาปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาแบ่งออกได้เป็น 2 สมัย โดยสมัยแรกเป็นชุมชนวัฒนธรรมแบบทวาราวดี มีการยอมรับเอาวัฒนธรรมอินเดีย คือ ศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงายเหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ศพ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยที่สอง พบหลักฐานการอยู่อาศัยต่อเนื่องจากสมัยแรกแต่เป็นชุมชนวัฒนธรรมเขมรโดยชนชั้นปกครองจะนับถือศาสนาพราหมณ์ จนภายหลังพุทธศตวรรษที่ 18-19 ไม่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกเลย สันนิษฐานว่าเมืองแห่งนี้อาจถูกทิ้งร้างมาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะทั่วไป
เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดิน กำแพงเมืองชั้นเดียวรูปกลมรี 2 วงต่อเนื่องกัน ขนาดยาวประมาณ 1,700 เมตร จากทางด้านทิศเหนือไปทางทิศใต้ และจากทางด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก ความยาวประมาณ 1,500 เมตร กำแพงหรือคันดินสูง 3-4 เมตร คูน้ำกว้างประมาณ 10-20 เมตร ทางด้านใต้ของเมืองมีลำห้วยไผ่ไหลผ่านและห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร มีลำตะคองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำมูลได้ ภายในเมืองเสมามีสภาพเป็นป่าโปร่ง เนื่องจากสภาพพื้นที่ถูกปรับไถปลูกพืชไร่นา ปัจจุบันพื้นที่เมืองเสมาได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้หมดทั้งสิ้นประมาณ 2,475 ไร่ จึงไม่ได้อยู่ในความครอบครองของชาวบ้านอีกต่อไป เมืองโบราณเสมาจึงนับเป็นเมืองที่สมบูรณ์ที่สุดอีกเมืองหนึ่ง แม้ว่าที่ผ่านมาโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในเมืองเสมาจะถูกลักลอบขุดทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุไปจำหน่ายทำให้โบราณสถานมีสภาพทรุดโทรมเป็นอันมาก
หลักฐานที่พบ
หลักฐานที่พบภายในเมืองเสมา มีโบราณสถานทั้งสิ้น 9 แห่ง โดย 6 แห่ง อยู่ในเมืองรูปกลมรี อีก 3 แห่ง อยู่ด้านทิศเหนือในเมืองวงใหญ่ที่มีรูปค่อนข้างกลม นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองที่สำคัญอีก 2 แห่ง คือ พระนอนในวัดธรรมจักรเสมารามและสถูปในวัดแก่นท้าว โบราณสถานทั้งหมดได้รับการขุดแต่ง บูรณะเสริมความมั่นคงและปรับภูมิทัศน์แล้วเสร็จ ยกเว้นสถูปในวัดแก่นท้าว สำหรับโบราณวัตถุ อาทิ ธรรมจักรศิลา จารึกเมืองเสมา จารึกบ่ออีกา และจารึกศรีจนาศะ โดยจารึกบ่ออีกาและจารึกศรีจนาศะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชาแห่งศรีจนาศะมีบุคคลที่ชื่อว่า "อังศเทพ" สร้างศิวลึงค์ทองคำอันเป็นสัญลักษณ์พระอิศวรในลัทธิไศวนิกาย และได้รับดินแดนอยู่นอกกัมพุเทศจารึกหลักนี้ทำขึ้นใน พุทธศักราช 1480 ส่วนจารึกเมืองเสมาเป็นจารึกในพุทธศักราช 1514 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 กล่าวถึงพราหมณ์ยัชญวราหะสั่งให้ทำจารึกขึ้นไว้ที่เมืองเสมา (พบจารึกหลักนี้ที่โคปุระ) เพื่อแสดงอำนาจเมือง พระนครแห่งอาณาจักรเขมร
สาระสำคัญทางโบราณคดี
เมืองเสมาเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ แผนผังเมืองเป็นรูปกลมรีไม่สม่ำเสมอ ลำน้ำสำคัญที่ไหลผ่าน คือ ลำตะคองซึ่งไหลผ่านทางทิศใต้ของเมือง และห้วยไผ่ไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมือง เมืองโบราณเสมามีลักษณะการสร้างเมืองซ้อนกัน 2 ชั้น เรียกว่า เมืองนอก-เมืองใน
เมืองเสมามีคูน้ำ-คันดิน กำแพงเมืองชั้นเดียว มีความยาวจากด้านทิศเหนือไปทิศใต้ ประมาณ 1,700 เมตร และจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ประมาณ 1,500 เมตร กำแพงหรือคันดินสูงเฉลี่ย 3-4 เมตร คูน้ำกว้างประมาณ 10-20 เมตร
กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจ ขุดค้น และขุดแต่งเมืองเสมามาในปี พ.ศ.2533 และ พ.ศ.2542 พบโบราณสถานในเขตเมืองชั้นในจำนวน 6 แห่ง (โบราณสถานหมายเลข 1 หมายเลข 2 หมายเลข 3 หมายเลข 4 หมายเลข 5 และหมายเลข 6) และในเขตเมืองชั้นนอกจำนวน 3 แห่ง (โบราณสถานหมายเลข 7 หมายเลข 8 และหมายเลข 9) แต่ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะได้เพียง 8 แห่ง (หจก.ปุราณรักษ์ 2542 : 9-15) นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองอีก 2 แห่ง คือ เจดีย์บ้านแก่นท้าวและวิหารพระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม
จารึกที่เกี่ยวข้องกับเมืองเสมา
ศิลาจารึกที่เกี่ยวข้องกับเมืองเสมาที่มีการอ่านและแปลแล้วมีจำนวน 3 หลัก และมีจารึกที่ค้นพบใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 เมื่อพ.ศ.2542 ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการอ่าน-แปล มีรายละเอียดดังนี้
1. จารึกบ่ออีกา อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ระบุพ.ศ.1411 พบที่บ้านบ่ออีกา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มีสองด้าน
ด้านที่ 1 กล่าวถึงพระราชาแห่งอาณาจักรศรีจนาศะทรงอุทิศปศุสัตว์และทาสทั้งหญิงและชายแก่พระภิกษุสงฆ์ ส่วนด้านที่2 กล่าวสรรเสริญพระอิศวรและอังศเทพผู้ได้รับดินแดนที่ถูกละทิ้งไปนอกกัมพุเทศ (กรมศิลปากร 2529 : 23-29)
2. จารึกศรีจนาศะ อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ระบุพ.ศ.1480 พบบริเวณเทวสถานใกล้สะพานชีกุน อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จารึกหลักนี้เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระศังกร (ศิวะ) และสรรเสริญพระนางปารพตีซึ่งรวมกับพระศิวะภายใต้รูปอรรถนารี ต่อจากนั้นกล่าวถึงรายพระนามพระราชาแห่งอาณาจักรจนาศปุระ (กรมศิลปากร 2529 : 42-49)
3. จารึกเมืองเสมา อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร พบที่เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ระบุมหาศักราช 893 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1514
จารึกเริ่มต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม พระอุมา และพระสรัสวดี จากนั้นกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 หรือพระบาทบรมวีรโลกว่าทรงเป็นโอรสของพระเจ้าราเชนทรวรมัน และทรงสืบเชื้อสายมาจากจันทรวงศ์ และกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 สุดท้ายกล่าวถึงข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้สร้างเทวรูปและพระพุทธรูปไว้หลายองค์ พร้อมทั้งถวายทาสและสิ่งของต่างๆ แด่ศาสนสถาน (กรมศิลปากร 2529 : 42-49)
4. จารึกหลักที่ 4 เป็นจารึกพบใหม่ระหว่างการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศใต้ โดยจารึกถูกนำมาเป็นฐานของกำแพงแก้ว อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ยังไม่มีผลของการอ่านและแปล ระบุมหาศักราช 849 ตงกับพ.ศ.1470 (เขมิกา หวังสุข 2543 : 42)
ข้อความในจารึกเหล่านั้นกล่าวถึงบ้านเมืองที่ชื่อ “ศรีจนาศะ” หรือ “จนาศะปุระ” และกล่าวถึงรายพระนามของพระราชาที่ปกครองบ้านเมืองนี้ ซึ่งศ.ยอร์จ เซเดย์ สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของบ้านเมืองที่ชื่อศรีจนาศะหรือจนาศะปุระนี้คงตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช และนักวิชาการหลายท่านก็เชื่อว่าคงมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา โดยพิจารณาจากหลักฐานโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองเสมา (มยุรี วีระประเสริฐ 2545 : 102-113)
สถานที่ตั้ง : อาณาจักรศรีจนาศะ เมืองเสมา ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
ถ่ายภาพเมื่อ : 30 สิงหาคม 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 11 กรกฎาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 5693 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง : ข้อมูลจาก prapayneethai.com และ www.sac.or.th