อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 570 กิโลเมตร ภูพระบาทเป็นชื่อภูเขาอยู่ในทิวเขาภูพาน ซึ่งทอดยาวอยู่ทางด้านทิศตะวันตก
เมื่อ พ.ศ. 2524 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานบริเวณภูพระบาท ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้จำนวน 3,430 ไร่ และได้ดำเนินการพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2534
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า และล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่างๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว - ถ้ำคน และภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งภาพเขียนสีบนผนังหินเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 14-16 อยู่ด้วย อาทิ การดัดแปลงโขดหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้ และลักษณะของพระพุทธปฏิมาบางองค์ที่ถ้ำพระ ก็แสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมสมัยทวารวดีอย่างเด่นชัด ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 อิทธิพลของศิลปกรรมแบบเขมรได้เข้ามามีบทบาทในบริเวณนี้ด้วย เนื่องจากได้พบการสกัดหินเพื่อดัดแปลงพระพุทธรูปที่บริเวณถ้ำพระให้เป็นรูปพระโพธิสัตว์ หรือเทวรูปในศาสนาฮินดู โดยได้สลักส่วนของผ้านุ่งด้วยลวดลายที่งดงามยิ่ง
ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 พื้นที่แถบอีสานตอนบนเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมลาวหรือล้านช้าง จากการศึกษาพบว่า มีร่องรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่างลาวอยู่บนภูพระบาท ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปขนาดเล็กบริเวณถ้ำพระเสี่ยง แสดงถึงศิลปะสกุลช่างลาว ส่วนสถาปัตยกรรมในสมัยนี้ได้แก่ เจดีย์ร้าง (อุปโมงค์) ที่สันนิษฐานว่า เดิมอาจใช้สำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อุรังคธาตุ
นอกจากภูพระบาทจะมีความสัมพันธ์กับคัมภีร์อุรังคธาตุแล้ว ผู้คนในท้องถิ่นยังได้นำเอาตำนานพื้นบ้าน หรือนิทานพื้นเมืองเรื่อง “อุสา - บารส” มาตั้งชื่อ และเล่าถึงสถานที่ต่างๆ บนภูพระบาทอย่างน่าสนใจด้วยเหตุนี้จึงพบว่า โบราณสถานต่างๆ บนภูพระบาทล้วนมีชื่อเรียกตามจินตนาการจากนิทานเรื่อง “อุสา - บารส” เป็นส่วนใหญ่ อาทิ หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา คอกม้าท้าวบารส
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีลักษณะที่แตกต่างจากอุทยานประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ ของกรมศิลปากรที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะนอกจากจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านนิเวศวิทยา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของวนอุทยานภูพระบาทบัวบก ของกรมป่าไม้ ซึ่งมีพืชพรรณทั้งไม้ดอกและไม้ใบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
โบราณสถานและจุดท่องเที่ยวแนะนำ เดินชมตามแผนที่ ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทพิมพ์ไว้แจกฟรี
1.
คอกม้าน้อย
เพิงหินมีการสกัดแต่งเป็นที่นั่งวิปัสนา มีใบเสมาปักอยู่โดยรอบ ตำนานอุสาบารสกล่าวว่า เป็นสถานที่ผูกม้าของบริวารท้าวบารส
2.
คอกม้าท้าวบารส
เพิงหินมีการสกัดแต่งเป็นที่นั่งวิปัสนาและพักอาศัย มีร่องรอยการทำเสาลูกกรงล้อมรอบเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่ผูกม้าท้าวบารส
3.
ถ้ำฤาษี
เพิงหินสูงมีใบเสมาล้อมรอบ เสมามีหลายแบบ ทั้งแบบแผ่นแบนและแบบแท่งกลม
4.
ถ้ำวัว-ถ้ำคน
เพิงหินมีภาพเขียนสีแดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 2,000-3,000 ปี มาแล้ว ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ ถ้ำวัว มีภาพฝูงสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปวัวและลูกวัว ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือ ถ้ำคน มีรูปกลุ่มคนบนผนังถ้ำ และรูปคนเดี่ยวๆ บนผนังถ้ำ
5.
หอนางอุสา
เอกลักษณ์โดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นโขดหินสูงราว 10 เมตร คนโบราณดัดแปลงทำเป็นห้องขนาดเล็ก มีประตูและหน้าต่างไว้ใต้เพิงหินด้านบน อาจใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเป็นที่นั่งวิปัสสนาของบุคคลสำคัญ บนลานหินด้านล่างมีใบเสมาหินทราย ล้อมรอบแสดงอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา ตามตำนานกล่าวว่า เป็นที่อยู่ของนางอุสา เมื่อครั้งมาเรียนวิชากับฤาษีจันทา
6.
ถ้ำช้าง
เพิงหินที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นรูปเส้นหยัก และภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์รูปช้างอยู่ใกล้ๆ กัน
7-8-9.
หีบศพพ่อตา หีบศพเท้าบารส หีบศพนางอุสา
เพิงหินมีการสกัด เพื่อเป็นที่นั่งวิปัสสนา
10.
วัดพ่อตา
เพิงหินที่มีการสกัดทำเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปรอบแกนหินที่ค้ำหลังคา ยังมีพระพุทธรูปเหลืออยู่หลายองค์ ตามตำนานกล่าวว่า เป็นวัดที่พระยากงพานสร้างแข่งกับท้าวบารส ซึ่งสร้างวัดลูกเขย เมื่อครั้งที่ท้าวบารสมาสู่ขอนางอุสา
11.
โบสถ์วัดพ่อตา
เพิงหินสกัดเป็นห้องมีการนำก้อนหินมาต่อเติมเป็นผนัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชาวบ้านต่อเติมขึ้นใหม่ในภายหลัง
12.
ถ้ำพระ
เพิงหินมีการสกัดหินก้อนล่างจนเป็นแกนคล้ายเสาค้ำยันเพิงหลังคาด้านบน รอบแกนสลักภาพประติมากรรมนูนสูงเป็นพระพุทธรูปเรียงกันในท่านั่งและยืน บางรูปประทับนั่งในซุ้ม รูปหนึ่งเป็นบุคคลยืนแต่งกายแบบศิลปะเขมรสันนิษฐาว่า อาจเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ทางด้านหลังในส่วนที่เพิงหินปิดทับ
13.
กู่นางอุสา
เพิงหินที่มีการสกัดแต่ง อาจเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป บนผนังมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีใบเสมาหินขนาดใหญ่ปักล้อมรอบเพิงหิน ตามตำนานกล่าวว่า เป็นสถานที่บรรจุกระดูกของนางอุสาและพี่เลี้ยง
14.
บ่อน้ำนางอุสา
ก้อนหินสูงจากพื้นราว 1 เมตร ตรงกลางสกัดเป็นบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมใช้กักเก็บน้ำฝน ตำนานเล่าว่เป็นที่อาบน้ำของนางอุสา ใกล้ๆ กันเป็นเพิงหินที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
15.
เพิงหินนกกระทา
เพิงหินรูปร่างคล้ายนกกระทา มีเสมาล้อมรอบ พบรอยสลักพระพุทธรูปแต่ถูกสกัดออกไปแล้ว
16.
ฉางข้าวนายพราน
เพิงหินรูปคล้ายเพิงพัก สมัยก่อนชาวบ้านใช้เป็นที่พักคอยดักยิงสัตว์ และเล่ากันว่า เคยพบข้าวเปลือกในเพิงแห่งนี้
17.
ผาเสด็จ จุดชมวิว
สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของแนวเทือกเขาภูพานและหลุบพานที่อยู่เบื้องล่าง
18.
วัดลูกเขย
เพิงหินที่มีการดัดแปลงโดยนำแท่งหินทรายขัด มาก่อเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ 5 องค์ ตามตำนานเล่าว่า ท้าวบารสลูกเขยของท้าวกงพานเป็นผู้สร้าง
19.
พระพุทธบาทบัวบก
เจดีย์คลอบรอยพระพุทธบาทสมัยลานช้าง องค์เจดีย์รูปทรงเลียนแบบพระธาตุพนม บูรณะขึ้นแล้วเสร็จในราว พ.ศ. 2473 องค์เจดีย์ชั้นที่สามบรรจุพระธาตุและสิ่งของมีค่าซึ่งพบในขณะรื้อกองเจดีย์เดิมที่พังทลายลง
เส้นทาง จากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขับรถมาทางออกถึงแยกแล้วเลี้ยวขวา ขับไปตามทางเรื่อยๆ จนถึงบ้านหนองกาลืม เลี้ยวขวาเข้าวัดโนนศิลาอาสน์วราราม หลังจากนั้นขับรถวิ่งตรงมาเรื่อยๆ สังเกตุฝั่งขวามือ จะเห็นประตูโขงเขียนว่า วัดพระพุทธบาทบัวบาน เลี้ยวขวาเข้าวัดขับตามเส้นทางจนถึงที่จอดรถ และจากพระพุทธบาทบัวบานไป กลุ่มเสมาหินทราย มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะเป็นป่ารก อาจมีสัตว์มีพิษหลบอยู่ตามใบไม้ จึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ รถสามารถวิ่งขึ้นไปได้ แต่หากมีรถวิ่งสวนทางมา จะไม่สามารถหลบหลีกได้ เพราะเส้นทางแคบมาก (มีป้ายเตือน พบงูจงอางบริเวณกลุ่มใบเสมา จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ)
|
|
ใบเสมา
โบราณสถานหลายแห่งบนภูพระบาท มีแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมและรูปกลีบบัวปักยู่โดยรอบ เรียกว่า "ใบเสมา" เป็นลักษณะที่พบทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อกันว่าใบเสมาเหล่านี้น่าจะใช้ปักขึ้นเพื่อกำหนดของเขตอันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากนิยมปักล้อมรอบโบราณสถานอยู่ทั้ง 8 ทิศ ใบเสมาที่พบกลุ่มนี้ไม่มีภาพสลักตกแต่ง แต่สะท้อนคตินิยมในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามในพื้นที่ไม่ไกลจากภูพระบาท ได้พบกลุ่มใบเสมาขนาดใหญ่ 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มใบเสมาวัดโนนศิลาอาสน์ และวัดพระพุทธบาทบัวบาน
กลุ่มแรกมีเสมาประมาณ 21 ใบ ถูกเคลื่อนย้ายมาจากบริเวณอื่น มีภาพสลักเล่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกอยู่ที่สวนล่างของใบเสมา เหนือกลีบบัวหงาย เป็นลักษณะพิเศษของใบเสมาที่พบบริเวณนี้
ส่วนกลุ่มที่สอง อยู่ทางทิศใตัของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประมาณ 12 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแผ่นแบนรูปกลีบบัว จำนวน 31 ใบ ปักอยู่โดยรอบทั้ง 8 ทิศแต่ละทิศปักเสมาซ้อนกัน 3 ชั้น มีภาพสลักเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดก เช่นเดียวกัน
ใบเสมาทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีลักษณะศิลปะทวารวดี และศิลปะร่วมแบบเขมรเกาะแกร์ กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา
ภาพถ่ายเมื่อ : 30 ตุลาคม 2559
ทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท |
หอนางอุสา ภูพระบาท |
หอนางอุสา ภูพระบาท |
บริเวณหอนางอุสา ภูพระบาท |
กลุ่มใบเสมา ภูพระบาท |
กลุ่มใบเสมา ภูพระบาท |
หลักเสมา ภูพระบาท |
กู่นางอุสา ใบเสมา 8 ทิศ ภูพระบาท |
กู่นางอุสา ใบเสมา 8 ทิศ ภูพระบาท |
กู่นางอุสา ใบเสมา 8 ทิศ ภูพระบาท |
กู่นางอุสา ใบเสมา 8 ทิศ ภูพระบาท |
กู่นางอุสา ใบเสมา 8 ทิศ ภูพระบาท |
บ่อน้ำนางอุสา ภูพระบาท |
บ่อน้ำนางอุสา ภูพระบาท |
เพิงหินนกกระทา ภูพระบาท |
ใบเสมาชนิดแผ่นแบน เพิงหินนกกระทา ภูพระบาท |
บริเวณเพิงหินนกกระทา ภูพระบาท |
คอกม้าน้อย ภูพระบาท |
หอนางอุษา ภูพระบาท |
ถ้ำคน ภูพระบาท |
ถ้ำคน ภูพระบาท |
ถ้ำคน ภูพระบาท |
ถ้ำวัว ภูพระบาท |
ถ้ำวัว ภูพระบาท |
คอกม้าท้าวบารส ภูพระบาท |
สถานที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น.
ถ่ายภาพเมื่อ : 30 ตุลาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 31 ตุลาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 3000 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง, บางส่วนจากอินเตอร์เน็ต
ข้อมูลจาก : kanchanapisek.or.th, th.wikipedia.org, finearts.go.th, คู่มือท่องเที่ยวภูพระบาท
|
09-02-2015 Views : 3001