สิมวัดแจ้ง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
สิมวัดแจ้ง เป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสาน แปลนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 10 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารก่อด้วยอิฐฉาบปุน ฐานเอวขันธ์แบบปากพานบันใดขึ้นด้านหน้า
บันใดเดียว ราวบันใดปั้นปูนเป็นรูปจระเข้ 2 ตัว มีมุขเฉลียงอยู่ด้านหน้า หน้าต่างด้านข้างด้านละ 3 ช่อง ผนังด้านหลังก่อทึบถึง จั่วไม่มีหน้าบัน เสาด้านหน้าเป็นเสาไม้กลม 4 ต้น หน้าบันสลักไม้เป็นลวดลายแบบพื้นบ้านผสมลายไทยภาคกลาง บนสุดเป็นภาพอินทร์ทรงช้างเอราวัญ หน้าบันปิดทองร่องกระจก ทวยไม้จำหลักเป็นภาพพญานาค หลังคาชั้นเดียวมีพะไร (ปีกนก)
ทางด้านข้าง รวยลำยองแบบไม่มีนาคสะดุ้ง(รวยระกามอญ) ช่อฟ้า(โหง่)ใบระกาและหางหงส์แบบอีสาน คล้ายหอแจกวัดศรีอุบลรัตนาราม เดิมมุงแป้นไม้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นมุงด้วยกระเบื้องดินขอ
สิมวัดแจ้งมีลักษณะเป็นโครงเรือนอาคารขนาดเล็ก ที่แสดงถึงรูปทรง สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารก่ออิฐ ถือปูน โครงไม้ มีกระจกสีประดับ ลวดลายอาคารเป็นศิลปะท้องถิ่นที่มีความงดงาม ฐานเตี้ย หลังคาชั้นเดียวเดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีบันไดอยู่ด้านหน้า ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ ส่วนหน้าบันหน้าอุดปีกนก และรวงผึ้งสลักไม้เป็นลายดอกบัวกอบัวอย่างสวยงาม โดยหางหงส์มีลักษณะพิเศษคือ ทำเป็นรูปหัวนาคตรงหงอนสะบัดปลายเป็นนกเปลว
พระอุโบสถวัดแจ้งได้รับการบูรณะเรื่อยมาโดยพยายามให้คงสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
พระอุโบสถแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าและได้รับเกียรติบัตรในงาน "สถาปนิก 30" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในมีพระประธานองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 2.2เมตร สูง 3.35เมตร ก่ออิฐถือปูนและพระประธานองค์เล็กอีกจำนวน 10 องค์
สำหรับวัดแจ้งนั้นเป็นวัดเก่าแก่อายุประมาณ 130 ปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2418 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการดำริของเจ้าราชบุตร (หนูคำ) เป็นกรมการเมืองอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2436 หันหน้าสู่ทุ่งศรีเมือง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 18 ไร่ 59 ตารางวา
สถานที่ตั้ง : วัดแจ้ง ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
28-11-2013 Views : 5468