+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
กุฎิฤาษีหนองบัวลาย จังหวัดบุรีรัมย์
กุฎิฤาษีหนองบัวลาย เป็นอโรคยศาลา หรือ สุคตาลัย สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 สันนิษฐานว่าประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้รักษาผู้เจ็ยป่วย ซึ่งคงสร้างด้วยเครื่องไม้ ปัจจุบันจึงไม่เหลือหลักฐานให้ศึกษา สำหรับส่วนที่ 2 คือ ศาสนสถานประจำอโรคยศาลา ซึ่งยังคงเหลือหลักฐานให้เห็นอยู่ตามจารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าวว่า สร้างขึ้นพร้อมกัน 102 แห่ง ทั่วทุกวิษัย (เมือง) สะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่แพร่เข้ามาในดินแดนไทย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในเรื่องสุขภาพของราษฏร ตามข้อความที่กล่าวในจารึกตามอโรคยาศาลาต่างๆ คือ “โรคทางร่างกายของปวงชนนี้ เป็นโรคทางจิตที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง”
แผนผังของปราสาทในกลุ่มอโรคศาลานี้ส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งหมด โดยที่กุฏิฤๅษีหนองบัวรายนี้จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลง มีปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัยตั้งหันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน ด้านหน้าของปราสาทประธานมีทางเดินรูปกากบาทยาวมาถึงโคปุระ ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกแนวกำแพงแก้วมีสระน้ำในผังรูปสี่เหลี่ยม
การพบกุฏิฤๅษีหนองบัวราย นี้แสดงให้เห็นว่าชุมชนบริเวณเขาพนมรุ้งนี้เป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ชุมชนหนึ่ง มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างน้อย
กุฎิฤาษีหนองบัวลาย เดิมชื่อ สระเพลง เพราะมีสระน้ำโบราณอยู่ใกล้โบราณสถาน คำว่า หนองบัวราย น่าจะมาจากชื่อบาราย หรือสระน้ำขนาดใหญ่ ที่มีบัวขึ้นมากมายในอดีต จึงเรียกว่า หนองบัวลาย โดยมีโบราณสถานที่เป็นอโรคยาศาลในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งอยู่ใกล้ๆ กุฎิฤาษีหนองบัวลาย ได้รับการบูรณะและขุดแต่งให้สมบูรณ์แล้ว โดยตั้งอยู่ริมถนนเชิงเขาพนมรุ้ง เส้นทางจะไปปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งมีหมู่บ้านอยู่โดยรอบ
โบราณสถานแห่งนี้ เคยพบชิ้นส่วนเป็นภาพแกะสลักหน้าบันรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและบริวาร (ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหน้าบันปรางค์ประธานที่โบราณสถานปรางค์กู่ เมืองชัยภูมิ)
สถานที่ตั้ง : บ้านหนองบัวราย ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
ถ่ายภาพเมื่อ : 29 สิงหาคม 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 20 กรกฎาคม 2558
จำนวนผู้เข้าชม : 3618 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง, ข้อมูลภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต, ข้อมูลจากหนังสือความลับในปราสาทขอม เขียนโดย ทรงสมัย สุทธิธรรม