+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
กู่สันตรัตน์ จังหวัดมหาสารคาม
กู่สันตรัตน์ เดิมชื่อว่า กู่บ้านกู่ มีลักษณะเป็นปราสาทแบบย่อมๆ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียวสร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมลอบในกรอบ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางด้านหน้าปราสาททางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมี สระสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 12 เมตร ซึ่งน่าจะหมายถึงบาราย ซึ่ง เป็นไปตามคติของขอม(เขมร) ที่ว่าเมื่อมีการสร้างปราสาทหินก็มีการ ขุดสระหรือ บารายกักน้ำไว้ในที่ใกล้เคียงนั้นด้วย
ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าปราสาทมีซุมประตูทางเข้าหรือโคปุระ ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนประตูทางเข้านั้น ปรากฏให้เห็นว่ามีแผ่นทับหลังอยู่เหนือประตู กับมีเสาประดับที่กรอบประตูทั้งสองด้าน แผ่นทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายแต่ไม่มีการสลักลายใดๆ ทั้งสิ้น จึงดูคล้ายกับว่าทำยังไม่เสร็จ องค์ปราสาทมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนทางทิศเหนือทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นประตูหลอก เมื่อพิจารณาเฉพาะองค์ปราสาทแล้วสันนิษฐานได้ว่ากู่สันตรัตน์ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะทางด้านหน้าตอนบนนั้นมีช่องว่างเว้นไว้ เป็นช่องสามเหลี่ยม ซึ่งส่วนนี้เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็คือหน้าบัน ที่จะทำด้วยหินทรายซึ่งคงต้องสลักลวดลายประกอบด้วย สิ่งสำคัญต่อมาคือแผ่นทับหลัง ที่ตั้งอยู่เหนือกรอบประตูนั้นมีแผ่นหินทรายวางไว้ แต่ยังไม่มีการสักลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น
โดยทั่วไปแผ่นทับหลังต้องมีการสลักลายหรือภาพประกอบไว้เสมอ แม้เสาประดับกรอบประตูทั้ง 2 ด้าน ก็มักสลักลายประดับเช่นกัน แต่เสาที่อยู่ติดกรอบประตูทางด้านซ้ายนั้นยังเป็นแท่งหินทรายเรียบๆ อยู่ไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น คงมีเฉพาะเสาประดับกรอบประตูทางด้านขวาของปราสาทเท่านั้น ที่ได้สลักลายไว้อย่างคร่าวๆ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นหลักฐาน สันนิษฐาน ได้ว่า ปราสาทองค์นี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ช่างได้สร้างไปตามแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของขอม คือ แม้องค์ปราสาทจะก่อด้วยหินทรายหรือศิลาแลง แต่ส่วนสำคัญทั้ง 3 คือ หน้าบัน ทับหลัง และเสาประดับกรอบประตูต้อง ทำด้วยหินทรายเสมอ ทั้งนี้เพราะหินทรายมีคุณสมบัติเหมาะกับการแกะสลัก ในสถาปัตยกรรมหินทรายโดยเฉพาะ
กู่แห่งนี้มีการขุดแต่งครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 พบรูปเคารพ พระโพธิสัตว์วัชรธร และพระพุทธรูปปางนาคปรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ขณะเตรียมการบูรณะ ได้พบรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงครุฑ พระยมทรงกระบือ พระโพธิสัตส์อวโลกิเตศวรสี่กร พระโพธิสัตว์ประทับนั่ง พระศิลาทรายสมัยทวารวดีอีก 1 องค์ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นอาณาจักรเมืองโบราณ ในสมัยทวารวดี ชื่อ เมืองจำปาศรี ที่อำเภอนาดูนอันมีพระธาตุนาดูนเป็นศรีสง่าของบ้านเมือง ในปัจจุบันจึงพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก
กู่สันตรัตน์ จึงเป็นศาสนสถานขอม ที่อยู่นอกเมืองจำปาศรี และอโรคยาศาลที่มีลักษณะและองค์ประกอบครบ เช่น มีปรางค์ประธาน มีบรรณาลัย และมีกำแพงแก้วที่สร้างขึ้นด้วยศิลาแลง พร้อมทั้งสระน้ำขนาดกลางอยู่นอกบริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และที่สำคัญพบหลักฐานการเป็นศาสนสถานประจำอโรคยา คือ รูปเคารพโพธิสัตว์ที่เกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ปัจจุบันรูปเคารพพระโพธิสัตว์ที่พบ ได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีในกุฏิวัดกู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้ารักษาอยู่ตลอดเวลา สิ่งศักดิ์สิทธิที่คุ้มครองท้องถิ่นนี้ คือ เจ้าพ่อห้องแดง เจ้าพ่อมเหศักดิ์ และหลวงพ่อสี ซึ่งเป็นผู้รักษากู่แห่งนี้ และมักจะปรากฏกายให้เห็นกันเสมอ ในภาพของมนุษย์รูปร่างสูงใหญ่ ตัวดำ น่าเกรงขาม ในยามค่ำคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ
ดังนั้นกู่สันตรัตน์ จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ ที่ชาวบ้านผู้คนในระแวกใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ เดินทางมาถวายสิ่งของเครื่องเซ่นและบูชา ขอในสิ่งที่ตนต้องการเสมอๆ เชาน ในเทศกาลวันงานสรงกู่ คิอ วันเพ็ญเดือน 5 (สรงกรานต์) ก็จะมีผู้คนที่ศรัทธาเดินทางกันมามากเป็นพิเศษ
กู่สันตรัตน์ เป็นอโรคยาศาลที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์สวยงาม อยู่ในแนวไม้ใหญ่ร่มครึ้ม ที่หน้าบันเหนือประตูทางเข้าปรางค์ประธาน มีรอยบากลงไปในเนื้อหินเป็นร่องลึก เพื่อวางเครื่องบนหรืออกไก่ เช่นเดียวกับปราสาทตาเมือนโต๊ด จึงสรุปได้ว่า เป็นศาสนสถานเป็นอโรคยาศาล แบบเดียวกันทั้งหมดที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
กู่สันตรัตน์ เป็นโบราณสถานที่มีลักษณะแบบขอม เป็นสถานที่ ที่เรียกว่าอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาล ตั้งอยู่ที่ตำบล กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาดูน มาทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือ ประมาณ 4 กิโลเมตร
กู่สันตรัตน์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
สถานที่ตั้ง : สำนักสงฆ์กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
ถ่ายภาพเมื่อ :
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 23 กรกฎาคม 2558
จำนวนผู้เข้าชม : 5281 ครั้ง
หมายเหตุ : ข้อมูลภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต, ข้อมูลจากหนังสือความลับในปราสาทขอม เขียนโดย ทรงสมัย สุทธิธรรม