+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ปรางค์กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย จังหวัดขอนแก่น
ปรางค์กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย เป็นอโรคยาศาล สภาปัตยกรรมของขอม ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและหินทรายสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1720-1780) สภาพปัจจุบันสลักหักพังลงมาก แต่ได้รับการดูแลรักษาจากวัดและชุมชนเป็นอย่างดี เป็นโบราณสถานที่น่าศึกษาและไปสักการะบูชา มีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ มีหินก้อนใหญ่ที่ถือว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์วางไว้บนแท่นที่ทำขึ้นใหม่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมาสักการะบูชา
กู่ประภาชัย หรือบางคนเรียกว่ากู่บ้านนาคำน้อย เรียกตามชื่อของคหบดี คือ นายประภาส บุญไชย ผู้เข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2459-2546 และเป็นผู้ก่อตั้งวัดกู่ประภาชัย เมื่อปี พ.ศ. 2482 ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อโบราณสถานนี้ว่า ปรางค์กู่ประภาชัย ตามนามของผู้ริเริ่มพัฒนา
ในการบูรณะของกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2541-2543 ได้รื้อลงมาและประกอบและประกอบขึ้นใหม่ตามวิธีบูรณะโบราณสถานแบบอนัสติโรซีส และเสริมส่วนที่พังทลายลงไปถึงยอดปรางค์ ทิศเหนือของปรางค์กู่ อยู่ใกล้กับพระอุโบสถวัดกู่ประภาชัย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุไว้มากมาย เช่น พระพุทธรูปบุทองคำ สมัยอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งพบในไหกลางห้องครรภคฤหะขององค์ประธาน และพระพิมพ์ พระสำริด อีกมากมายที่พบในบริเวณนี้ เช่น พระบุเงิน 72 องค์ พระบุทอง 1 องค์ ในหม้อที่ฝังดินเอาไว้ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์มีเปลวไฟพุ่งขึ้นเป็นลำแสงในขณะที่มีการขุดสำรวจ เมื่อเวลาบ่ายสี่โมง ก็พบพระพิมพ์จำนวนมากดังกล่าวทันที
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงเป็นที่มาแห่งความเชื่อและความศรัทธาของชาวบ้านที่เคารพนับถือ และจัดงานประเพณีสรงน้ำปรางค์กู่ประภาชัย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ประจำทุกปี
แผนผังและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
กลุ่มอาคารศิลาแลง ประกอบด้วย ปราสาทประธาน 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บรรณาลัย 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบอาคารทั้ง 2 หลัง ด้านหน้าก่อเป็นอาคารซุ้มประตูหรือโคปุระ เชื่อมต่อกับแนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก มีช่องประตูขนาดเล็กทางด้านทิศใต้ของโคปุระ และสระน้ำกรุด้วยสิลาแลง 1 สระ ตั้งอยู่นอกกำแพงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายละเอียดดังนี้
1.
ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลง มีผังรูปสี่เหลี่ยม ส่วนฐานมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 10 เมตร ลักษณะฐานสูงก่อมุขยื่นด้านหน้า หันหน้าทางด้านทิศตะวันออก ภายในห้องเรือนธาตุ หรือ ครรภคฤหะ มีแท่นฐานประติมากรรมตั้งติดกับผนังด้านตะวันตก 1 แท่น กลางพื้นห้องเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับติดตั้งหินทรายและวางแท่นรูปเคารพ ลักษณะองค์เรือนธาตุย่อเก็จ ผนังสามด้านก่อเป็นประตูหลอก ยกเว้นด้านหน้าเป็นช่องประตูและก่อมุขยื่นออกมา ผนังมุขด้านทิศใต้ก่อเว้นเป็นช่องหน้าต่าง 1 ช่อง ส่วนยอดปราสาทก่อเป็นชั้นย่อเก็จลดหลั่นขึ้นไปยอดบนสุดใช้หินทรายก่อเรียงเป็นรูปกลีบดอกไม้แปดกลีบทับด้วยยอดทรงบัวตูมอีกชั้นหนึ่ง
2.
บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลง มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 8.10 เมตร สูง 2.70 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ฐานอาคารก่อเป็นฐานเขียงสี่ชั้น ผนังสามด้านก่อทึบ เว้นด้านหน้าก่อเป็นช่องประตูสองชั้น ภายในปูพื้นด้วยศิลาแลง ส่วนหลังคาหักพัง เข้าใจว่าคงก่อเหลื่อมเป็นหลังคาโค้งทรงประทุน
3.
โคปุระ และกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 11.50 เมตร สูง 4.50 เมตร เป็นอาคารประตูซุ้มมีแนวกำแพงก่อเชื่อมล้อมรอบปราสาทประธานและบรรณาลัย ฐานโคปุระมีลักษณะก่อเป็นฐานเขียงสี่ชั้น ที่มุขด้านทิศตะวันออกก่อประตูสองชั้น ภายในห้องคูหามีแท่นฐานรูปเคารพฝังอยู่กับพื้น หันไปทางทิศเหนือ กลางแท่นเจาะเป็นช่องลึก ภายในบรรจุแผ่นทองคำ (แผ่นศิลาฤกษ์) สลักลวดลายดอกบัว
4.
สระน้ำ กรุผนังด้วยศิลาแลง มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง ขนาดกว้าง 17.50 เมตร ยาว 21.50 เมตร ลึก 4 เมตร
จากการดำเนินงานขุดแต่งบูรณะได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญจำนวนมาก ได้แก่ ชิ้นส่วนจารึกเศียรพระวัชรธร พระพุทธรูปนาคปรก แท่นฐานประติมากรรมหินทราย แท่นวางแผ่นศิลาฤกษ์ พระพุทธรูปบุเงิน-บุทอง เป็นต้น
โบราณวัตถุมีดังนี้
1.
ชิ้นส่วนศิลาจารึก หินทรายขนาดกว้าง 7 เซนติเมตร ยาว 6 เซนติเมตร พบจากการขุดแต่งแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีตัวอักษรจารึก 2 แถว ตัวอักษรขอม ภาษาสันสกฤต อ่านได้คำว่า
" .......... ภาษตะ
..........งคเน "
เป็นส่วนหนึ่งของจารึกอโรคยาศาล ด้านที่ 1 เป็นตัวอักษรในบรรทัดสุดท้ายของโศลกที่ 22 และ 23
2.
เศียรพระโพธิสัตว์ หินทราย สูง 18 เซนติเมตร ลักษณะพระพักตร์อมยิ้ม พระเนตรเหลือบต่ำ สวมชฎามงกุฏ มีกระบังหน้า มีร่องรอยการสวมกุณฑล (หักชำรุด) พบจากการขุดแต่งปราสาทประธาน เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับรูปเคารพที่พบในอโรคยาศาลแห่งอื่น พบว่ามีลักษณะเหมือนเศียรพระวัชรธร และพระไภษัชยคุรุ ที่มักพบว่าประดิษฐานอยู่ในปราสาทประธาน สันนิษฐานว่า เศียรนี้คงเป็นเศียรของรูปเคารพองค์ใดองค์หนี่งข้างต้น
3.
พระพุทธรูปนาคปรก หินทรายสภาพแตกชำรุด พบแยกเป็น 2 ส่วน ชิ้นแรกเป็นส่วนองค์พระ พระเศียร และพระกรหักหาย ลักษณะประทับนั่งสมาธิ อีกชิ้นเป็นส่วนฐานขนดนาค 2 ชั้น (ชำรุด) มีเดือยเสีบยประกอบกับองค์พระ พบภายในห้องกลางปราสาทประธาน
4.
ประติมากรรมรูปบุคคลขนาดเล็ก หินทราย สภาพชำรุดเศียร พระกรข้างซ้ายและแท่นฐานหักหาย ขนาดเท่าที่เหลือสูง 14 เซนติเมตร ลักษณะรูปบุคคลเพศชายนั่งชันเข่าขวาบนแท่น พระหัตถ์สองข้างยกอยู่ระดับพระนาภี ถือสิ่งของ (ชำรุด) พบภายในห้องกลางปราสาทประธาน
นอกจากนี้ ภายในห้องกลางปราสาทประธาน ยังได้พบโบราณวัตถุอื่นๆ ร่วมด้วยได้แก่ แท่นจุณเจิมหินทราย เป็นแท่นทรงกลมสลักลานกลีบบัว แผ่นทองคำ (ชำรุด) พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งปางสมาธิ 4 องค์ พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งปางมารวิชัย จำนวน 9 องค์ หม้อดินเผาบรรจุพระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปในกลุ่มนี้ มีลักษณะพุทธศิลป์แบบลานช้าง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-24
5.
ชิ้นส่วนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หินทราย เป็นชิ้นส่วนพระกรถือหม้อน้ำ และส่วนพระบาทสองข้างยืนบนแท่น พบร่วมกับแท่นฐานบรอเวณห้องกลางโคปุระ ภายในแท่นฐานนี้พบแผ่นทองคำสี่เหลี่ยม 3 แผ่น สลักลวดลายกลีบบัวแปดกลีบซ้อนสองชั้น 1 แผ่น อีกสองแผ่นแบบเรียบไม่มีลวดลาย พบร่วมกับแท่งหินควอทซ์เจียรไนทรงเหลี่ยม จำนวน 13 ชิ้น ลักษณะเป็นการฝังวัตถุมงคลไว้ใต้แท่นฐานของรูปเคารพ โบราณวัตถุกลุ่มนี้พบระหว่างดำเนินการบูรณะโคปุระ
ระหว่างการขุดแต่ง ยังได้พบ ภาชนะบรรจุพระพุทธรูปบุเงิน - บุทอง ภาชนะบรรจุกระดูก ฝังอยู่ในพื้นที่ภายในกำแพงแก้ว โดยเฉพาะรอบๆ ฐานปราสาทประธาน พบจำนวนหลายใบ ซึ่งเป็นหลักฐานในช่วงสมัยวัฒนธรรมล้านช้างที่เข้ามาใช้ประโยชน์ ในพื้นที่อโรคยศาล ในพื้นที่อีสานตอนบนมักพบว่า มีการใช้พื้นที่ศาสนสถานเดิม ลักษณะเช่นนี้อยู่หลายแห่งด้วยกัน
การประกาศขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาสกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 100 ตอนที่ 36 วันที่ 15 มีนาคม 2526 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 29 ตารางวา
การดำเนินงาน สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น ปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น
พ.ศ. 2541 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น ดำเนินการขุดแต่ง ขุดหลุมตรวจสอบและบูรณะปราสาทประธาน
พ.ศ. 2542 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น บูรณะกำแพงแก้ว
พ.ศ. 2543 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น บูรณะบรรณาลัยโคปุระ สระน้ำ ปราสาทประธาน (เพิ่มเติม) และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์
พ.ศ. 2552 ดำเนินการบูรณะกำแพงแก้ว
และในปี พ.ศ. 2553 ดำเนินการบูรณะบรรณาลัย โคปุระ สระน้ำ ปราสาทประธาน (เพิ่มเติม) และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์
หมายเหตุ : โบราณวัตถุจากการขุดแต่ง บูรณะ เก็บรักษาไว้ที่วัดกู่ประภาชัยทั้งหมด เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานท้องถิ่นต่อไป (พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้กู่ประภาชัย)
สถานที่ตั้ง : บ้านนาคำน้อย หมู่1,15 ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ถ่ายภาพเมื่อ : 3 พฤศจิกายน 2555
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 22 กรกฎาคม 2558
ปรับปรุงล่าสุด : 11 ธันวาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 4703 ครั้ง
แหล่งที่มาข้อมูล : หนังสือความลับในปราสาทขอม, ทำเนียบอโรคยศาลในประเทศไทย, finearts.go.th, kaentong.com
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง