+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ปรางค์ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
ปรางค์ครบุรี เป็นปรางค์ขอมสร้างด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม กรอบประตูและทับหลังทำจากหินทรายแกะสลักลวดลาย ด้านทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นเป็นทางเข้าออก นอกจากนี้ยังประกอบด้วยบรรณาลัย สร้างด้วยศิลาแลง อยู่ด้านทิศตะวันออกของปรางค์ประธาน กำแพงแก้วและซุ้มประตู ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ เป็นอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) หนึ่งในจำนวน 102 แห่งที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาคนเจ็บป่วย ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724 – 1761) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18
องค์ประกอบสถาปัตยกรรม
เป็นกลุ่มอาคารศิลแลง ประกอบด้วย
1.
ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ขนาด 7x7 เมตร ด้านหน้าก่อห้องมุขยื่นออกมา มีผนังก่อทึบ ด้านหน้าบันไดทางขึ้นถัดไป มีอัฒจันทร์หินทรายวางอยู่ด้านหน้าทางเข้าห้องมุข ผนังเรือนธาตุทั้ง 3 ด้านก่อเป็นประตูหลอก โดยสกัดศิลาแลงเป็นประตูและอกเลา เหนือประตูสกัดศิลาแลงเป็นหน้าบัน (สภาพยังโกลนอยู่) ทางเข้าห้องกลางยังคงปรากฏกรอบประตู ทับหลัง และเสากรอบประตูหินทรายสีขาวอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เสาประดับกรอบประตู สกัดเป็นแนวเส้นตามขวาง ลักษณะเป็นโกลน ยังไม่ได้สลักลวดลาย
2.
บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืีนผ้า กว้าง 5.50 เมตร ยาว 8.50 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ภายในมีแท่นฐานประติมากรรม (ชำรุด) 1 แท่น
3.
กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 23.70 เมตร ยาว 34.50 เมตร แนวกำแพงก่อบนฐานเขียง ด้านบนก่อยื่นเป็นกระเปาะออกมา
4.
อาคารประตูซุ้มหรือโคปุระ ก่อด้วยศิลาแลง มีผังเป็นรูปกากบาท ประกอบด้วยห้องกลาง ห้องมุขด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้า ห้องมุขด้านมิศเหนือ ห้องมุขด้านทิศใต้ และมุขเล็กๆ ด้านทิศตะวันตก ภายในห้องกลางและห้องทิศเหนือ มีแท่นฐานประติมากรรม (ชำรุด) ห้องละ 1 แท่น
5.
สระน้ำ แผนผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 15.30 เมตร ยาว 19 เมตร กรุด้วยศิลาแลง
โบราณวัตถุที่ค้นพบ
1.
ชิ้นส่วนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นชิ้นพระหัตถ์ขวาและซ้ายอย่างละ 2 ชิ้น ทำด้วยหินทราย ทั้งหมดพบในห้องกลางโคปุระ
2.
ชิ้นส่วนประติมากรรมหินทราย รูปบุคคล 4 ชิ้น และรูปสัตว์ 1 ชิ้น ชิ้นส่วนพระกรพบบริเวณหน้าบรรณาลัย ชิ้นส่วนลำตัวและปากกระบือพบภายในห้องกลางบรรณาลัย
3.
พระพุทธรูปนาคปรกสำริดขนาดเล็ก ชำรุดเศียรหัก มีขนาดหน้าตักกว้าง 6.5 เซนติเมตร สูง 8 เซนติเมตร ลักษณะประทับนั่งสมาธิ พระหัตถ์ถือสิ่งของลักษณะเป็นก้อน (ไม่ชัดเจน) พบบริเวณด้านหน้าปราสาทประธาน
4.
หอยสังข์ดินเผา สภาพสมบูรณ์ ขนาดยาว 14 เซนติเมตร พบบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน
5.
ชิ้นส่วนศิลาจารึก หินทราย พบจำนวน 2 ชิ้น ชิ้นแรกพบในห้องกลางโคปุระ ขนาดกว้าง 5.8 เซนติเมตร ยาว 9 เซนติเมตร มีตัวอักษร 4 บรรทัด ชิ้นที่สองพบบริเวณด้านทิศตะวันตกของโคปุระ ขนาดกว้าง 6.5 เซนติเมตร ยาว 13.5 เซนติเมตร มีตัวอักษร 4 บรรทัด (ไม่ปรากฏข้อมูล การอ่าน-แปล)
นอกจากนี้ ข้อมูลในทะเบียนโบราณวัตถุทั่วราชอาณาจักร จัดพิมพ์ปี พ.ศ. 2516 ระบุข้อมูลสิ่งสำคัญของปรางค์ครบุรี คือ
" ศิลาจารึกอักษรขอม (เดี๋ยวนี้อยู่ที่ อ.ปักธงไชย) " ซึ่งไม่สามารถสืบค้นสถานที่ที่เก็บรักษาและรายละเอียดในปัจจุบันได้
6.
ชิ้นส่วนนภศูลสำริด สภาพชำรุด ขนาดหน้าตักกว้าง 7 เซนติเมตร ยาว 98 เซนติเมตร พบบริเวณด้านในกำแพงแก้ว ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้แก่ บัวยอดปราสาทหินทราย หลังคามุงกระเบื้อง กระเบื้องเชิงชายลวดลายกลีบบัว บันแถลงหินทรายสลักลวดลายพระพุทธเจ้าประทับนั่ง ลวดลายนาค 5 เศียร นาค 7 เศียร บางชิ้นยังมีลักษณะเป็นโกลนอยู่ และโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้แก่ แท่นหินบดยาหินทรายแบบมีฐาน 3 แท่น และแบบไม่มีฐาน 2 แท่น พบกระจายทั่วศาสนสถานทั้งบริเวณใกล้ปราสาทประธานและบรรณาลัย ในจำนวนนี้พบแท่นหินบดยาจำนวน 2 ชิ้น จากการขุดแต่งสระน้ำ โบราณวัตถุประเภทภาชนะหินเผา พบกระปุกเคลือบสีน้ำตาล โถมีฝาปิดเคลือบสีน้ำตาล ไห และเศาภาชนะดินเผาเนื้อดิน เนื้อแกร่ง
อนึ่ง ในการขุดแต่งปรางค์ครบุรี ได้มีการขุดค้นจำนวน 4 หลุม เพื่อศึกษากิจกรรมการใช้พื้นที่ และหลักฐานเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล ได้แก่หลุมขุดค้นด้านทิศใต้ 1 หลุม ด้านทิศตะวันตก 1 หลุม และด้านทิศเหนือ 2 หลุม สรุปผลจากหลักฐานการขุดค้นได้ว่ามีการใช้พื้นที่ บริเวณด้านทิศเหนือ ในการทำกิจกรรมร่วมสมัยกับโบราณสถานมากกว่าด้านอื่น กล่าวคือ พบหลักฐานเศษภาชนะดินเผาหนาแน่นมากกว่าด้านอื่นๆ
การประกาศขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 104 วันที่ 30 มิถุนายน 2524 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา
การดำเนินงาน
ปี พ.ศ. 2551 สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ดำเนินการขุดแต่ง
ปี พ.ศ. 2559 สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ดำเนินการขุดแต่งและปรับภูมิทัศน์
สถานที่ตั้ง : บ้านครบุรี ตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา (อยู่ภายในโรงเรียนบ้านครบุรีนครธรรมโฆสิตวิทยาคาร)
ถ่ายภาพเมื่อ : 30 สิงหาคม 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 20 กรกฎาคม 2558
ปรับปรุงล่าสุด : 9 ธันวาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 3019 ครั้ง
แหล่งที่มาข้อมูล : หนังสือความลับในปราสาทขอม, ทำเนียบอโรคยศาลในประเทศไทย
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง