+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ปรางค์พลสงคราม จังหวัดนครราชสีมา
ปรางค์พลสงคราม ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟพลสงคราม ด้านทิศตะวันออกมีหนองน้ำใหญ่เรียกว่า สระเพลง จึงมีชื่อปราสาทเรียกอีกอย่างว่า ปราสาทสระเพลง ที่ปราสาทสระเพลงหรือปรางค์พลสงครามได้พบรูปเคารพโพธิสัตว์วัชรธร และรูปบุรุษนั่งพนมมือ ถือหม้อน้ำ 2 คน (ส่วนเศียรหรือศรีษะหายไป)
ปรางค์พลสงคราม ประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย กำแพงแก้วและซุ้มประตู ปรางค์ประธานสร้างด้วยอิฐและศิลาแลง กรอบประตูด้านทิศตะวันออกแสดงหลักฐานของการใช้หิน 2 แท่งก่อซ้อนกันโดยมีปลิงโลหะเกาะยึด เรียกว่า บายอเน็ท คือ การนำศิลาแลงมาเรียงซ้อนสลับเหลี่ยมกัน ทำให้การเข้าหินสนิทและแข็งแรง จากการขุดแต่งพบว่าเป็นอโรคยาศาลหรือศาสนสถานประจำสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์ (พ.ศ.1724 – 1763) หรือราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตามที่บันทึกไว้ในจารึกปราสาทตาพรหม ประเทศกัมพูชา
องค์ประกอบสถาปัตยกรรม
ปรางค์พลสงคราม เป็นกลุ่มอาคารศิลาแลง ประกอบด้วยปราสาทประธาน 1 หลัง อาคารบรรณาลัย 1 หลัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหน้าก่อเป็นอาคารประตูซุ้มหรือโคปุระ เชื่อมตัวกันเป้นแนวกำแพง ด้านนอกกำแพงแก้ว มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง 1 สระ
ปราสาทประธาน มีสภาพพังทลายลงไปมาก เหลือเฉพาะส่วนฐานและผนังด้านทิศเหนือทิศใต้ของห้องมุข ตั้งแต่ผนังเรือนธาตุ จนถึงยอดพังทลายไม่ปรากฏหลักฐาน มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ขนาด 7.60 x 7.60 เมตร เมื่อดำเนินการบูรณะได้เสริมผนังเรือนธาตุด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกและทิศใต้ ด้วยวัสดุศิลาแลงใหม่
ระหว่างการขุดแต่งบริเวณหน้าปราสาทประธาน พบแท่นฐานประติมากรรม ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชำรุดแตกหัก 3 ท่อน แต่สามารถประกอบต่อกันได้ ด้านบนเจาะเป็นช่องรองรับเดือย 3 ช่อง ปลายด้านหนึ่งมีร่องรอยของร่องน้ำ (ชำรุด) เมื่อบูรณะแล้วเสร็จ ได้นำแท่นนี้ไปติดตั้งไว้ภายในห้องกลางปราสาทประธาน โดยหันแนวรางน้ำไปทางทิศเหนือ
บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลงแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 5.50 x 8.90 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว นำประติมากรรมแท่นหินทรายรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสติดตั้งไว้บนฐานศิลาแลงกลางห้องอีกชั้นหนึ่ง โดยหันรางน้ำไปทางทิศเหนือ
กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 29.70 เมตร ยาว 30.60 เมตร เหลือความสูงประมาณ 2.70 เมตร แนวด้านทิศตะวันออกก่อเชื่อมกับอาคารซุ้มประตูหรือโคปุระ และก่อเว้นช่องประตูขนาดเล็ก 1 ช่อง บนแนวกำแพงข้างใต้โคปุระ ขนาดกว้าง 80 เซ็นติเมตร กรอบประตูก่อด้วยศิลาแลง
อาคารซุ้มประตูหรือโคปุระ ก่อด้วยศิลาแลงแผนผังรูปกากบาท ประกอบด้วยห้องกลาง มุขหน้าหรือมุขทิศตะวันออก มุขทิศเหนือ มุขทิศใต้ และมุขเล็กๆ ด้านทิศตะวันตกเข้าสู่ศาสนสถาน เมื่อดำเนินการบูรณะแล้วเสร็จ ได้นำแท่นฐานประติมากรรมหินทราย จำนวน 2 แท่น ซึ่งพบจากการขุดแต่งห้องกลางโคปุระ ติดตั้งไว้ภายในห้องกลาง
ลานด้านหน้าปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลงแผนผังเป็นรูปกากบาท ก่อเชื่อมกับปราสาทประธานและมุขทิศตะวันตกของโคปุระ บนลานปรากฏร่องรอยหลุมเสาเป็นแนว โดยขนาดเสาแนวด้านหน้าปราสาทประธานมีขนาดใหญ่กว่าหลุมเสาบริเวณแนวขอบลาน มีจำนวนหลุมเสาทั้งสิ้น 24 หลุม
สระน้ำ อยู่นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กรุขอบสระด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 12 x 17.80 เมตร ความลึกประมาณ 3.80 เมตร
โบราณวัตถุ มีดังนี้
1.
พระไภษัชยคุรุ หินทราย ขนาดหน้าตักกว้าง 38 เซ็นติเมตร สูง 56 เซ็นติเมตร ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานกลีบบัว สวมมงกุฏมีกระบังหน้า กุณฑลยาวจรดพระอังสา พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือประคองหม้อน้ำ
2.
พระไภษัชยคุรุ หินทราย สภาพชำรุดเศียรหักหาย ขนาดหน้าตักกว้าง 50 เซ็นติเมตร สูง 55 เซ็นติเมตร ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานกลีบบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือประคองหม้อน้ำ
3.
พระวัชรธร หินทราย สภาพชำรุดเศียรหักหาย ขนาดหน้าตักกว้าง 32 เซ็นติเมตร สูง 57 เซ็นติเมตร ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานกลีบบัว พระหัตถ์ขวาซ้อนอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย ระดับพระนาภี พระหัตถ์ขวาถือวัชระ
สวมมงกุฏมีกระบังหน้า พระหัตถ์ซ้ายถือกระดิ่ง
ประติมากรรม 1-3 พบบริเวณลานหน้ามุขปราสาทประธาน พบร่วมกับแท่นประติมากรรมรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนเจาะช่อง 3 ช่อง (ชำรุด) และแท่นหินขนาดเล็กสำหรับบรรจุวัตถุมงคล จำนวน 3 แท่น เข้าใจว่าคงถูกเคลื่อนย้ายออกมาจากปราสาทประธาน ในคราวถูกลักลอบขุด
4.
เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หินทรายขนาดกว้าง 10.5 เซ็นติเมตร สูง 20 เซ็นติเมตร พระพักตร์แสดงอาการยิ้ม พระเนตรเหลือบต่ำ มุ่นมวยผมเป็นชฎา มงกุฏรูปทรงกระบอก ด้านหน้ามวยผมสลักเป็นรูปพระธยานิพุทธ (อมิตาภะ) ประทับนั่งสมาธิ พบบริเวณด้านหลังบรรณาลัยและยังพบชิ้นส่วนพระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ บริเวณด้านทิศใต้ของปราสาทประธาน สันนิษฐานว่า เป็นพระหัตถ์ซ้ายบนของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร
5.
ชิ้นส่วนประติมากรรรมหินทราย พบจำนวน 4 ชิ้น เป็นส่วนเศียร 2 ชิ้น ปีกครุฑ 1 ชิ้น หัวกระบือ 1 ชิ้น สันนิษฐานว่า อาจเป็นชิ้นส่วนของพระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงครุฑ และพระยมทรงกระบือ
6.
ประติมากรรมสตรีสำริด พบจำนวน 2 องค์ องค์แรกมีขนาด 3.5 เซ็นติเมตร สูง 7.7 เซ็นติเมตรสภาพชำรุด ท่อนพระกรขวาและพระบาทหักหาย ลักษณะประทับยืน สวมกรองศอ ผ้านุ่งลายดอก พระหัตถ์ซ้ายถือออกบัว พบริเวณนอกกำแพงแก้วด้านทิศใต้ องค์ที่ 2 มีขนาด 3.7 เซ็นติเมตร สูง 9.2 เซ็นติเมตร สภาพชำรุด เหลือตั้งแต่ส่วนเอวถึงพระบาท ยืนบนฐานมีเดือย ลักษณะประทับยืน นุ่งผ้าจีบเป็นริ้ว คาดเข็มขัด พบบริเวณหน้าปราสาทประธาน สันนิษฐานว่าเป็นรูปนางปรัชญาปารมิตา
7.
แม่พิมพ์พระพุทธรูปตรีกายสำริด ขนาดกว้าง 9 เซ็นติเมตร สูง 13 เซ็นติเมตร ลักษณะแม่พิมพ์รูปทรงกลีบบัว เป็นภาพพระพุทธรูป 3 องค์ ประทับนั่งในซุ้ม องค์กลางประทับนั่งมารวิชัยบนฐานสูง ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปด้านละหนึ่งองค์ ประทับนั่งปางสมาธิบนฐานระดับต่ำกว่าองค์กลาง พบบริเวณด้านเหนือของบรรณาลัย
8.
แท่งหินควอทซ์สีขาว ลักษณะเป็นแท่งห้าเหลี่ยม (ชำรุด) จำนวน 2 ชิ้น พบในบรรณาลัย สันนิษฐานว่าเป็นวัตถุมงคลที่บรรจุในแท่นวัตถุมงคลหรือแท่นศิลาฤกษ์
นอกจากนี ยังพบส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคาดินเผา กระเบื้องเชิงชายลวดลายกลีบบัว พบบริเวณหน้าปราสาทประธาน บราลีดินเผา เหล็กรูปตัวไอ โบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบได้แก่ แหวนสำริด 1 วง แท่งหินบดยาหินทราย (ชำรุด) 4 ชิ้น ด้านบนมีร่องรอยการใช้งาน พบใกล้สระน้ำ และภาชนะดินเผาทั้งเนื้อดิน เนื้อแกร่งทรงกระปุก ไหเท้าช้าง ตลับเคลือบสีน้ำตาล สีเขียว บางใบตกแต่งเป็นรูปหัวสัตว์ เครื่องถ้วยจีนทรงกระปุกเคลือบสีเขียว
การประกาศขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2475 และประกาศกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 130 วันที่ 14 กันยายน 2525 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 63 ตารางวา
การดำเนินการ
ปี พ.ศ. 2546 สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 นครราชสีมา (ปัจจุบัน คือ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา) ดำเนินการขุดแต่ง และในปี พ.ศ. 2551 ดำเนินการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์
สถานที่ตั้ง : หมู่ 1 บ้านพลสงคราม ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา
ถ่ายภาพเมื่อ : 29 สิงหาคม 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 20 กรกฎาคม 2558
ปรับปรุงล่าสุด : 1 ธันวาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 4715 ครั้ง
แหล่งที่มาข้อมูล : หนังสือทำเนียบอโรคยศาลในประเทศไทย, หนังสือความลับในปราสาทขอม
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง