+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ปราสาทนางรำจังหวัดนครราชสีมา
ปราสาทนางรำ ชื่อ ปราสาทนางรำ มาจากว่า เดิมเคยมีรูปนางรำ เป็นหินสีเขียวทำแบบเทวรูป อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารห่างไป 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือแต่ร่องรอยของเทวสถานและแท่นหิน ปราสาทนางรำเป็นโบราณสถานสมัยขอมที่เรียกว่าเป็น อโรคยาศาล (โรงพยาบาล) สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถาน 2 กลุ่มตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน กลุ่มปรางค์ที่สมบูรณ์กว่าหลังอื่นประกอบด้วยปรางค์องค์กลาง มีมุขยื่นออกไปข้างหน้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทมีวิหารก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทาง ทิศตะวันตก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ส่วนซุ้มโคปุระหรือประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปกากบาท นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำขนาดเล็ก กรุด้วยศิลาแลง ถัดจากปราสาทนางรำไปทางทิศใต้ มีปราสาทอีก 3 หลังเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งเหลือเพียงฐานและมีกรอบประตูและทับหลังหินทรายตั้งแสดงอยู่ มีกำแพงศิลาแลงและคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ
ปราสาทนางรำ เป็นอโรคยาศาล ที่ได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด เมื่อ พ.ศ. 2536-2537 ปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง มีประตูทางเข้าที่ด้านหน้าทิศตะวันออก และปรูตูหลอกด้านข้าทั้งสองด้าน ในบริเวณใกล้กันพบปราสาทอีกกลุ่มหนึ่ง เรียก กู่พราหมณ์จำศีล มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะแบบปาปวนของเขมร
ปราสาทหินนางรำ ตั้งอยู่ในบริเวณเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ตำบลนางรำ อำเภอประทาย เดินทางจากตัวเมืองไปทางสายพิมาย ถึงแยกบ้านวัด อำเภอโนนแดง ระยะทางประมาณ 74 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าไปยังปราสาทนางรำอีกประมาณ 3 กิโลเมตร โบราณสถานประกอบด้วยปรางค์ประธานและวิหาร ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงมีสระน้ำ จากหลักฐานที่ค้นพบยืนยันได้ว่า ปราสาทนางรำเป็นสถานที่สำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับราษฎรเมื่อราว 1,700 ปีมาแล้ว
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เป็นกลุ่มอาคารศิลาแลง ประกอบด้วยปราสาทประธาน 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารบรรณาลัย 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก ก่อเป็นอาคารประตูซุ้มหรือโคปุระต่อเชื่อมกับแนวกำแพง ด้านนอกกำแพงแนวมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง 1 สระ องค์ประกอบต่างๆ มีีดังนี้
1.
ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ด้านหน้าก่อเป็นห้องมุขยื่นออกมา ฐานมีขนาดกว้าง 2.80 เมตร ยาว 9 เมตร ทางเข้าห้องมุขมีบันได้ขึ้น ภายในห้องกลางมีสภาพถูกรบกวนจากการลักลอบขุด
2.
บรรณาลัย ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 4.35 เมตร ยาว 7.25 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก พบว่า บนแนวกำแพงด้านหน้าหลังบรรณาลัยบริเวณข้างใต้โคปุระ มีร่องรอยคล้ายการก่อเว้นเป็นกรอบล่างของช่องประตู แต่ไม่ชัดเจน
3.
กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 21 เมตร ยาว 32 เมตร แนวกำแพงก่อบนฐานเขียง ด้านบนก่อเป็นกระเปาะยื่นออกมา ด้านบนสุดเป็นทับหลังกำแพงศิลาแลงทรงโค้ง สกัดตรงกลางเป็นสัน ยกขอบแนวขึ้นมาตามแนวยาว กำแพงด้านทิศตะวันออกข้างใต้โคปุระ มีร่องรอยคล้ายการก่อเว้นเป็นกรอบล่างของช่องประตู แต่ไม่ชัดเจน
4.
อาคารประตูซุ้มหรือโคปุระ ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังกากบาทก่อเชื่อมกับแนวกำแพง ด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้าออกของศาสนสถาน ประกอบด้วย ห้องกลาง ห้องมุขด้านหน้าหรือทิศตะวันออก ห้องมุขด้านทิศเหนือ ห้องมุขด้านทิศใต้ และมุขเล็กๆ ด้านทิศตะวันตก หลังคาโค้งทรงประทุน ยังคงมีบราลีประดับสันหลังคาให้เห็นเหนือห้องมุขทิศเหนือ ห้องกลางพบศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 60 x 60 เซนติเมตร และแท่นฐานประติมากรรมหินทรายขาวรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 50 x 50เซนติเมตร สูง 40เซนติเมตร 1 แท่น
5.
ที่ตั้งศิลาจารึก? ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะก่อศิลาแลงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 3.70 x 3.70 เมตร มีหลุมเสาที่มุมทั้งสี่ด้าน ด้านละ 1 หลุม ตรงกลางเป็นแท่งศิลาแลงสีเหลี่ยมเจาะหลุมตรงกลาง ลักษณะเป็นแท่นสำหรับเสียบเดือย จากหลักฐานที่ปรากฏสันนิษฐานว่า เป็นอาคารโถงขนาดเล็ก และอาจมีการทำหลังคาเครื่องไม้มุงกระเืบื้องคลุม และอาจเป็นได้ว่า เป็นสถานที่ตั้งศิลาจารึกประจำอโรคยาศาลแห่งนี้ หรือเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากการขุดแต่ง ไม่พบหลักศิลาจารึก
6.
สระน้ำ ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดกว้าง 9.30 เมตร ยาว 15.50 เมตร กรุด้วยศิลาแลง
โบราณวัตุ มีดังนี้
1.
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทำด้วยหินทราย ขนาดสูง 110 เซนติเมตร ลักษณะประทับยืนสี่กร พระหัตถ์ขวาบนถือพวงประคำพระหะตถ์ซ้ายบนถือคัมภีร์ พระหัตถ์ขวาล่างถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายล่างถือหม้อน้ำ นุ่งผ้าสั้นจีบเป็นริ้ว ชักชายผ้ารูปหางปลา ด้านหน้ามุ่นมวยผมสลักรูปพระยาธนิพุทธ " อมิตภาระ " ประทับนั่งสมาธิ พบภายในห้องกลางโคปุระ ร่วมกับแท่นหินทรายสี่เหลี่ยมจตุรัส
2.
พระวัชรธร ทำด้วยหินทราย ขนาดหน้าตักกว้าง 35 เซนติเมตร สูง 52 เซนติเมตร สภาพชำรุดเศียรหักหาย ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานกลีบบัว พระหัตถ์ซ้ายขวาซ้อนกันระดับพระนาภีิ พระหัตถ์ขวาอยู่ด้านบนถือวัชระ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ล่างถือกระดิ่ง พบบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานภายหลังหน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย (ปัจจุบัน คือ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา) ได้ต่อเติมเศียรที่หล่อขึ้นใหม่ โดยใช้แบบเศียนพระวัชรธรองค์อื่นที่เคยพบในอโรคยาศาลแห่งอื่น
3.
เศียรรูปเคารพ ทำด้วยหินทราย สภาพชำรุด พบจำนวน 2 เศียร สูง 17 เซนติเมตร มีลักษณะสวมกระบังหน้า มุ่นมวยผมเกล้าสูงรูปกรวยแหลม สวมกุณฑล (ชำรุด) พบบริเวณมุมด้านนอกปราสาทประธานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าคงเป็นเศียรของพระโพธิสัตว์องค์ใดองคืหนึ่ง (พระไภษัชยคุรุหรืออาจเป็นพระวัชรธร)
นอกจกนี้ บริเวณด้านหน้าปราสาทประธานได้พบแท่นฐานประติมากรรมรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร ด้านบนเจาะรู 3 ช่อง ที่ปลายด้านหนึ่งมีแนวร่องน้ำ 1 แท่น และแท่นบรรจุวัตถุมงคลหรือแท่นศิลาฤกษ์ ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 16 x 16 เซนติเมตร สูง 9 เซนติเมตร เจาะหลุมสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตรงกลาง 1 หลุม และหลุมโดยรอบ 8 ทิศ จำนวน 8 หลุม รวมเป็น 9 หลุม ด้านล่างมีอักษรขอม 3 ตัว เข้าใจว่าพระวัชรธร เศียรรูปเคารพ 2 เศียร และแท่นฐานรวมแท่นศิลาฤกษ์ คงเป็นหลักฐานที่ถูกรบกวนโยกย้ายจากการลักลอบขุดปราสาทประธาน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นรูปเคารพและแท่นฐานที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในห้องกลางปราสาทประธานนั่นเอง
4.
ชิ้นส่วนพระหัตถ์ประคองหม้อน้ำ ทำด้วยหินทราย พบภายในบรรณาลัย (ไม่มีรายละเอียด)
5.
ชิ้นส่วนรูปเคารพ ทำด้วยหินทราย สูง 35 เซนติเมตร สภาพชำรุด เหลือตั้งแต่พระเศียรถึงพระอุระ อาจเป็นพระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงครุฑ หรือพระยมทรงกระบือ องค์ใดองค์หนึ่ง อีกทั้งยังได้พบชิ้นส่วนประติมากรรมรูปครุฑกางปีกยืนบนแท่น 1 ชิ้น และรูปกระบือยืนบนแท่น 1 ชิ้น ภายในโคปุระอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้พบโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนบัวยอดปราสาททำจากหินทราย พบตกในกระจายอยู่รอบปราสาทประธาน แท่งหินบดยา และเศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อดิน เื้นื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาล เคลือบสีเขียว และเนื้อกระเบื้อง รูปทรงตลับขนาดเล็ก เคลือบขาวใส
สถานที่ตั้ง : หมู่ 1 บ้านนางรำ ตำบลนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
ถ่ายภาพเมื่อ : 29 สิงหาคม 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 20 กรกฎาคม 2558
ปรับปรุงล่าสุด : 6 ธันวาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 8303 ครั้ง
แหล่งที่มาข้อมูล : หนังสือทำเนียบอโรคยศาลในประเทศไทย, หนังสือความลับในปราสาทขอม
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง