+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ปราสาทสระกำแพงน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
ที่ตั้ง : วัดสระกำแพงน้อย บ้านกลาง ตำบลขยุง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
พิกัดภูมิศาสตร์
รุ้ง 15 องศา 08 ลิปดา 40 พิลิปดาเหนือ แวง 104 องศา 15 ลิปดา 05 พิลิปดาตะวันออก (แผนที่ลำดับชุด L 7017 ระวาง 5839 II พิมพ์ครั้งที่ 1 – RTSD มาตรฐานส่วน 1 : 50,000)
การประกาศขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดขอบเขตที่ดินโบรารสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่น 119 ตอนพิเศษ 117 ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 เนื้อที่ 53 ไร่ 3 งาน 77 ตารางวา
การดำเนินงาน
ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2553 สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะ
แผนผังและองค์ประกอบสถาปัตยกรรม
กลุ่มอาคารศิลาแลง ประกอบด้วย ปราสาทประธาน 1 หลัง บรรณาลัย 1 หลัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหน้าทางด้านทิศตะวันออกมีอาคารประตู้ซุ้มหรือโคปุระต่อเชื่อต่อกับแนวกำแพงแก้ว นอกกำแพงแก้มมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ กรุด้วยศิลาแลง 1 สระ และยังมีบารายขนาดใหญ่ด้านทิศตะวันออก 1 แห่ง และด้านทิศตะวันตก เฉียงใต้ 1 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้
ปราสาทประธาน
ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ขนาด 4.90 x 4.90 เมตร หันหน้าทางทิศตะวันออก ด้านหน้าก่อเป็นห้องมุขยื่นออกมา ขนาดกว้าง 2.70 เมตร ยาว 2.70 เมตร ผนังเรือนธาตุด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ทำเป็นประตูหลอก ที่ผนังด้านทิศใต้ของห้องมุขหน้าก่อเว้นเป็นหน้าต่าง 1 บาน มีกรอบทำด้วยหินทราย ที่กรอบด้านล่างมีร่องรอยกลมของเสาลูกมะหวดประกอบบานหน้าต่าง เสาประดับกรอบประตูมุขหน้า สลักลวดลายตามรูปแบบศิลปกรรมบายนและเสาประดับกรอบประตูห้องกลางสลักลวดลายที่ฐานเสารูปฤาษีในซุ้ม ด้านหน้าปราสาทประธานก่อเป็นลานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีร่องรอยหลุมเสา
บรรณาลัย
ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 3.70 เมตร ยาว 5.80 เมตร หันหน้าทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประสาทประธาน หลังคาพังทลาย ประกอบด้วย ห้องกลางและห้องมุขหน้า ผนังสามด้านก่อทึบ โดยผนังด้านหลังทางทิศตะวันออกก่อเป็นประตูหลอก ด้วยการก่อแนวผนังลดระดับจากมุมอาคารเล็กน้อย หน้าห้องมุขหน้าและทางเข้าห้องกลาง ยังคงมีเสากรอบประตูอยู่ ภายในห้องการ ก่อแนวศิลาแลงลักษณะยกระดับเป็นแท่น สันนิษฐานว่าคงเป็นพื้นที่ประดิษฐานรูปเคารพ
กำแพงแก้ว
ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 21.50 เมตร ยาว 34.50 เมตร ด้านทิศตะวันออกก่อเชื่อมกับอาคารประตูซุ้มหรือโคปุระ และก่อเว้นเป็นช่องประตูขนาดเล็กทางด้านใต้ของโคปุระยังคงมีร่องรอยกรอบประตูล่างปรากฏอยู่
อาคารประตูซุ้มหรือโคปุระ ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังรูปกากบาท ประกอบด้วยห้องมุขหน้าด้านทิศตะวันออก ห้องกลาง ห้องมุขทิศเหนือ ห้องมุขทิศใต้ และมุขเล็กๆ ทางทิศตะวันตก ห้องมุขหน้าด้านทิศตะวันออกเหลือหลักฐานถึงหลังคาโค้งทรงประทุน ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ของห้องมุขหน้า มีหน้าต่างด้านละ 1 บาน กรอบทำด้วยหินทรายประดับด้วยเสาลูกมะหวด 5 เสา ผนังด้านทิศตะวันออกของห้องมุขทิศเหนือและห้องมุขทิศใต้ มีหน้าต่างด้นละ 1 บาน ลักษณะเช่นเดียวกับกรอบหน้าต่างห้องมุขหน้าแต่ประดับด้วยเสาลูกมะหวด 3 เสา
แนวศิลาแลง
อยู่ภายในกำแพงแก้วด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธานลักษณะเป็นแนวศิลาแลงก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มุมมีร่องรอยหลุมเสา ลักษณะการก่อสร้างและตำแหน่งเดียวกันนี้ เคยพบที่ปราสาทนางรำ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นที่ตั้งศิลาจารึก
สระน้ำกรุด้วยศิลาแลง
ตั้งอยู่นอกกำแพงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทางวัดทำถนนตัดผ่านระหว่างแนวกำแพงแก้วด้านทิศเหนือกับสระน้ำ
ในบริเวณโบราณสถานมีทับหลังสลักลวดลายหลายชิ้น มีรูปศิลปกรรมบาปวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่น ทับหลังรูปอุมามเหศวร พระวรุณทรงหงส์ เป็นต้นจึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมบริเวณนี้คงเป็นที่ตั้งศาสนสถานมาก่อนและมีการก่อสร้างเป็นอโรคยศาลในชั้นหลัง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
สถานที่ตั้ง : วัดเทพปราสาท บ้านขะยูง ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีษะเกษ
ถ่ายภาพเมื่อ : 26 กรกฎาคม 2558, 13 พฤศจิกายน 2559, 23 พฤษภาคม 2560
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 20 กรกฎาคม 2558
จำนวนผู้เข้าชม : 2265 ครั้ง
ข้อมูล : หนังสือทำเนียบอโรคยาศาลในประเทศไทย สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, archae.su.ac.th
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชม และถ่ายภาพเอง