+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ปราสาทเมืองเก่า จังหวัดนครราชสีมา
ปราสาทเมืองเก่า อโรคยาศาล สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทหินเมืองเก่านี้เป็นอโรคยศาลหรือโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจำนวน 102 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมรโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในช่วงพ.ศ.1724-1758 ทั่วราชอาณาจักรขอม
ปราสาทเมืองเก่านี้ สร้างจากศิลาแลงและหินทรายมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยปรางค์ประธาน รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัยตั้งอยู่ทางมุมขวาด้านหน้า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูทางเข้าที่เรียกว่าโคปุระ ทางด้านหน้าเพียงแห่งเดียว บริเวณด้านนอกกำแพงมีบารายหรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ กรุด้วยศิลาแรง มีลักษณะเป็นเมืองโบราณรูปไข่ กว้าง 18 เมตร ยาว 27 เมตร กำแพงเมืองเดิมสร้างด้วยศิลาแลง
กรมศิลปากรลงความเห็นว่าเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ขุดพบวัตถุโบราณมากมายในบริเวณนั้น แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเนินดินเป็นแนวยาวคล้ายกำแพง อโรคยาศาลเป็นสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นริมเส้นทางโบราณที่เชื่อมเมืองนครธมกับ ปราสาทหินต่างๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แผ่อำนาจไปถึงและจะสร้างปราสาทหินไว้
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
กลุ่มอาคารก่อสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย ประกอบด้วยปราสาทประธาน 1 หลัง หันหน้าทางทิศตะวันออก อาคารบรรณาลัย 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีกำแพงแก้วล้อมรอบปราสาทและบรรณาลัย ด้านหน้าก่อเป็นอาคารหรือซุ้มประตูโคปุระต่อเชื่อมกับแนวกำแพง ด้านนอกกำแพงแก้วมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำกรุด้วยสิลาแลง 1 สระ
ปรางค์ประธาน ยอดพังทลายเหลือเพียงครึ่งองค์ ก่อเป็นสี่เหลี่ยมย่อไม้สิบสอง เมื่อขุดแต่งแล้วพบว่า ปราสาทประธานก่อบนฐานศิลาแลง เหลือผนังเรือนธาตุสูงประมาณ 3 เมตร ส่วนบนพังทลายหมด ฐานมีขนาด 6x6 เมตร ด้านหน้าก่อเป็นมุขยาวประมาณ 2.80 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีประตูเข้าทั้ง 4 ทิศ
*** เนื่องจากปราสาทประธาน ถูกดัดแปลงสภาพเพื่อการใช้งานมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2502 แล้ว รูปแบบจึงแตกต่างจากปราสาทประธานในอโรคยาศาลอื่นๆ กล่าวคือ โดยทั่วไปปราสาทประธานมักจะมีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านมักก่อเป็นประตูหลอก จึงเป็นไปได้ว่า เพื่อความสะดวกในการเข้าบูชารอยพระพุทธบาท ทางวัดจึงได้ดัดแปลงผนังอีกสามด้าน เปิดเป็นประตูใช้งานทั้งหมด (มีการดัดแปลง ปรางค์ประธานเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ปัจจุบันได้ย้ายไปประดิษฐานไว้ภายในวัด)
บรรณาลัย เหลือสภาพเฉพาะส่วนฐาน ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย กว้าง 6 เมตร ยาว 9.50 เมตร ส่วนหน้าก่อเป็นมุข ยาวประมาณ 2.50 เมตร
อาคารประตูซุ้มหรือโคปุระ มีแผนผังรูปกากบาท สร้างก่อเชื่อมกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก ก่อด้วยหินทรายเป็นวัสดุหลัก คือ ใช้สิลาแลงก่อเรียงเป็นขอบ ตัวอาคารก่อด้วยหินทรายภายในห้องกลางตรงหน้าประตูทางเข้าห้องมุขทิศเหนือ มีแท่นฐานประติมากรรมตั้งอยู่หนึ่งแท่น
สระน้ำ อยู่ด้านนอกกำแพงแก้วมุมทิศตะวันออกเฉียง ขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 27 เมตร เมื่อตรวจสอบจากภาพถ่ายหลังขุดแต่งพ.ศ. 2533 พบว่ากรุขอบสระด้วยศิลาแลง และชาวบ้านขุดขยายมุมหนึ่งของสระดึงน้ำไปใช้สอย ภายหลังเมื่อทำการบูรณะ เข้าใจว่าคงมีการปรับถมคืนสภาพเป็นสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าดังที่เห็นในปัจจุบัน แต่วัสดุที่กรุขอบสระกลับใช้หินทรายเป็นส่วนใหญ่
โบราณวัตถุ มีดังนี้
1.
พระพุทธรูปนาคปรกจำนวน 2 องค์ ข้อมูลนี้ระบุไว้ในโครงการ และรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2502 ระบุว่าชาวบ้านบอกเล่าว่า เมื่อครั้งขุดรื้อห้องกลางของปราสาทประธาน เพื่อตั้งรอยพระพุทธบาท ได้ขุดพบพระพุทธรูปนาคปรก ขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว รวม 2 องค์ แต่มีผู้เคลื่อนย้ายจากวัดไปแล้ว และหลักฐานการขุดแต่ง พ.ศ. 2533 ก็ได้พบชิ้นส่วนหัวของนาคเหลืออยู่ 3 เศียร แต่มิได้ระบุว่าพบตำแหน่งใด
2.
ศิลาจารึก พบจากการขุดแต่งปี พ.ศ. 2533 แต่ทั้งนี้ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่พบ ลักษณะเป็นแท่งหินทรายสี่เหลี่ยม ยอดทรงกระโจม สภาพชำรุด เหลือขนาดสูง 36 เซนติเมตร กว้าง 32 เซนติเมตร หนา 25 เซนติเมตร ปัจจุบัน จารึกหลักนี้ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันยังไม่มีตีพิมพ์เผยแพร่คำอ่าน
3.
ชิ้นส่วนท่อนพระกรประติมากรรมหินทราย จำนวน 2 ชิ้น สภาพชำรุดแตกหัก เหลือเฉพาะส่วนพระอัสสาถึงต้นพระกร ลักษณะเป็นส่วนพระกรของประติมากรรม 4 กร เหลือขนาดความยาวประมาณ 24 เซนติเมตร มิได้ระบุตำแหน่งที่พบ
4.
ท่อนหินบดยา หินทรายจำนวน 2 ชิ้น ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่พบ
5.
ทับหลังกำแพง หินทราย สลักรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิภายในซุ้มเรียงเป็นแถว 4 องค์ สลัก 2 ด้าน มีขนาดสูง 35 เซนติเมตร ยาว 90 เซนติเมตร หนา 27 เซนติเมตร พบบริเวณทิศตะวันตกหลังกำแพงแก้ว
การดำเนินงาน
สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ได้มีการขุดแต่งและค้ำยัน งบประมาณ 1,500,000 บาท พบจารึกภาษาสันสกฤตกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นเป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาล
ปรางค์ประธานปราสาทเมืองเก่า มีพังเป็นจตุรมุข ไม่มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันออก แต่มีประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน โดยไม่มีประตุหลอก ใช้ศิลาทรายก่อสร้างปะปนกับศิลาแลง โดยได้ทำการบูรณะขุดแต่งเมื่อปี พ.ส. 2533 - 2534 จนแล้วเสร็จ
การประกาศขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2479 ประกาศกำหนดขอบเขตที่กินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 69 ตอนที่ 60 วันที่ 30 กันยายน 2495 เนื้อที่ 2 ไร่ 23 ตารางวา แต่มิได้แสดงผังบริเวณ จึงได้ประกาศที่ดินโบราณสถานอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 115 วันที่ 21 ตุลาคม 2525 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 27 ตารงวา
สถานที่ตั้ง : วัดบ้านเมืองเก่า บ้านเมืองเก่า หมู่ 1 ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
ถ่ายภาพเมื่อ : 29 สิงหาคม 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 20 กรกฎาคม 2558
ปรับปรุงล่าสุด : 30 พฤศจิกายน 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 3338 ครั้ง
ที่มาของข้อมูล : koratmuseum.wordpress.com, ทำเนียบอโรคยศาลไนประเทศไทย, ความลับในปราสาทขอม
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง