ปราสาทเมืองแขก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
ปราสาทเมืองแขก ศาสนสถานของศาสนาฮินดู สร้างประมาณปลายพุทธศตววษที่ 15 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นโบราณสถานร้าง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก่อด้วยหินทรายและอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ สิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ระเบียงคด ซุ้มประตูหรือโคปุระ กำแพงแก้ว สระน้ำ และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็ก
ลักษณะผังโบราณสถานแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 หรือส่วนในสุด ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยหินทรายและอิฐตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หัวหน้าไปทางทิศเหนือ เฉพาะองค์ปรางค์หรือปราสาทประธานมีมุขหรือมณฑปซึ่งมีลักษณะเป็นห้องต่อออกมาทางด้านหน้า มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง พบฐานประติมากรรมหินทรายที่ครรภคฤหะของปราสาทประธานและปราสาทหลังด้านทิศตะวันออก อาคารทั้งสามหลังเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐานและตัวอาคารบางส่วน รวมทั้งที่ปราสาทประธานยังคงหลงเหลือช่องหน้าต่างและลูกมะหวด เสาประดับกรอบประตู กรอบประตูหินทราย และทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ด้านบนกรอบประตูหน้าสุดหรือส่วนมณฑป
ด้านข้างองค์ปรางค์ประธานมีฐานอาคารก่อด้วยอิฐ 2 หลัง อยู่ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันด้านหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัย ในส่วนแรกนี้มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงมีอาคารอิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อขนานยาวไปกับกำแพง อาคารหลังนี้มีประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ ยังคงหลงเหลือเสาประดับกรอบประตูอยู่ที่ประตูด้านทิศเหนือ
มีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นในอยู่ด้านเดียวคือด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ (มีช่องประตู 3 ช่อง) ที่ยังคงหลงเหลือกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย นอกจากนี้ยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยอิฐอีก 2 หลังที่มุมกำแพงแก้วด้านหน้าของปราสาทประธาน ข้างโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นในด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือทั้ง 2 ด้าน ซ้ายและขวา โดยอาคารด้านขวามีทางเดินปูอิฐเชื่อมกับอาคารยาวที่ขนานไปกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก
ส่วนที่ 2 เป็นกำแพงชั้นนอก ซึ่งขุดเป็นสระเกือบจะล้อมรอบโบราณสถาน เว้นเพียงส่วนกลางด้านหน้า โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดสระทำเป็นคันกำแพงล้อมรอบกำแพงแก้วและสระน้ำ ทางด้านทิศเหนือมีทางเดินเชื่อมกับส่วนในหรือส่วนที่หนึ่ง กำแพงชั้นนอกด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูขนาดใหญ่หรือโคปุระชั้นนอกรูปกากบาท ตรงกับโคปุระชั้นใน (มีช่องประตู 3 ช่อง) ยังคงปรากฏช่องหน้าต่างและลูกมะหวดรวมทั้งกรอบประตูหินทราย
ส่วนที่ 3 อยู่นอกกำแพงชั้นนอก หรือส่วนที่สองออกมาทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ มีฐานอาคารก่อด้วยฐานก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และอิฐ 2 หลัง ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันหน้าเข้าหากัน (อาคารหลังด้านขวาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารหลังด้านซ้ายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ส่วนบนอาจจะสร้างด้วยไม้ ฐานอาคารทั้งสองหลังมีผังเป็นสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นมาทางด้านหน้า ฐานสูง มีบันไดขึ้นสู่ด้านบนของฐานทั้ง 4 ด้าน มีกำแพงล้อมรอบ มีโคปุระที่ด้านหน้าและหลัง (ด้านหน้ามีขนาดใหญ่กว่า) ภายในห้องประธานของอาคารหลังด้านทิศตะวันตกมีฐานศิวลึงค์และโยนิหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง เช่นเดียวกับอาคารหลังด้านทิศตะวันออกที่มีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้องประธาน
จากการศึกษาและขุดค้นขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.2502 และ พ.ศ.2533-2534 ของกรมศิลปากรที่หลักฐานสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์ หน้าบันสลักภาพอุมามเหศวร ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือหน้ากาล ประติมากรรมโคนนทิ และจารึก 3 หลัก (จารึกปราสาทเมืองแขก 1, 2 และ 3 พบจากการขุดค้นบริเวณโคปุระชั้นนอก อักษรขอม ภาษาเขมร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์) ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโบราณศาสนสถานหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพรามหณ์ลัทธิไศวนิกาย อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 รูปแบบศิลปะเกาะแกร์-แปรรูป ในศิลปะเขมร ส่วนจารึกระบุศักราช 896 ตรงกับ พ.ศ.1517
จารึกปราสาทเมืองแขก
ขุดพบศิลาจารึกหินทราย 3 ชิ้น ที่บริเวณโคปุระกำแพงชั้นนอกปราสาทเมืองแขก รูปอักษรมีลักษณะอย่างเดียวกัน ยุคสมัยเดียวกัน คือ อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ข้อความของจารึกทั้ง 3 หลัก สอดคล้องกัน เป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการรวมจารึกทั้ง 3 หลักนี้เข้าเป็นชื่อเดียวกัน คือ จารึกปราสาทเมืองแขก และแยกเป็น 3 หลัก คือ จารึกปราสาทเมืองแขก 1, 2 และ 3
จารึกปราสาทเมืองแขกหลักที่ 1 กล่าวถึงพระราชโองการของพระราชา ให้สถาปนาเทวรูปคือ กัมรเตงอัญศรีอสมานธฤตจันทรมเหศวร มรเตงอัญศรีอสมานธฤตจันทรสถามะ และพระแม่เจ้ากัมรเตงอัญศรีอสมานธฤตจันทรเทวี และหลังจากนั้นยังได้รวมพระกัมรเตงอัญแห่งลิงคปุระไว้ด้วย แล้วให้บรรดาขุนนางและข้าราชบริพาร ร่วมกันดูแลเทวรูปและเทวสถานเหล่านี้ โดยกัลปนาข้าทาสและสิ่งของ เช่น ข้าวสาร น้ำมัน ฯลฯ เป็นประจำ โดยในบรรทัดที่ 9 ของ ระบุศักราช 896 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1517
จารึกปราสาทเมืองแขกหลักที่ 2 ข้อความในจารึกทั้งหมดเป็นรายชื่อทาส
จารึกปราสาทเมืองแขกหลักที่ 3 ข้อความเกือบทั้งหมดในจารึกเป็นรายชื่อทาส ตอนท้ายมีรายการสิ่งของที่ถวาย
ปัจจุบันปราสาทเมืองแขกเป็นโบราณสถานร้าง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ดูแล และจัดการโดยกรมศิลปากรรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอำเภอสีคิ้ว สภาพโบราณสถานมั่นคงแข็งแรง ได้รับการอนุรักษ์และปรับปรุงภูมิทัศน์จนอยู่ในสภาพดี แต่มีอาคารบางหลังที่ต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่กลางอาคาร ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อโบราณสถานได้ในอนาคต
ในเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “กินเข่าค่ำ” ของดีเมืองสูงเนินขึ้นบริเวณปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ โดยเป็นงานสำคัญระดับจังหวัด จัดขึ้นโดยความร่วมือกันของจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานราชการทั้งภาครัฐและเอกชนในอำเภอสูงเนิน วัตถุประสงค์ของการจัดงานคือเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงประวัติศาสตร์การเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่แถบนี้ในอดีต บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมโบราณสถานอันเก่าแก่และประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ และเพื่อส่งเสริมการค้าขายและประชาสัมพันธ์ผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางด้านอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงในพื้นที่อำเภอสูงเนิน
ภายในงาน“กินเข่าค่ำ” ของดีเมืองสูงเนิน จะมีกิจกรรมหลักคือ ประเพณีร่วมรับประทานอาหารเย็นแบบพื้นถิ่น ที่เรียกว่า “กินเข่าค่ำ” โดยจัดเป็นอาหารพื้นเมืองโคราช 1 โตก สำหรับ 5 คน ควบคู่ไปกับการนั่งชมการแสดงจินตภาพประกอบแสง สี เสียง นิทรรศการของดีเมืองสูงเนิน และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การประกวดผัดหมี่และส้มตำลีลา การประกวดแม่ม่ายสูงเนิน การประกวดไก่พื้นเมือง การสานสุ่มไก่ และการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินดาราต่างๆ เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีที่จอดรถและป้ายให้ข้อมูลปราสาท รวมทั้งมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ผู้ที่โดยสารรถสาธารณะสามารถโดยสารรถสองแถวหรือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากตัวอำเภอสูงเนินได้
ปราสาทเมืองแขก ตั้งอยู่ใกล้ตัวอำเภอสูงเนิน โดยหากไปจากกรุงเทพฯ เมื่อใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) เลยต่างระดับสีคิ้วไปทางตะวันออก (หรือไปทางอำเภอสูงเนิน) ประมาณ 14.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายใช้ถนนมิตรสัมพันธ์ (ทางหลวงหมายเลข 2161) เข้าสู่ตัวอำเภอสูงเนิน ประมาณ 2.7 กิโลเมตร พบสี่แยกบริเวณวัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร (ข้ามทางรถไฟ) จะพบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย จะพบปราสาทเมืองแขกทางขวามือ
|
|
ถ่ายภาพเมื่อ : 29 สิงหาคม 2558 (ไกด์ท้องถิ่นโดย : ลุงชุ่ม บ้านอยู่ติดปราสาท)
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
สถานที่ตั้ง : ปราสาทเมืองแขก ตั้งอยู่ใกล้ตัว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
ถ่ายภาพเมื่อ : 29 สิงหาคา 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 8 สิงหาคม 2558
จำนวนผู้เข้าชม : 4151 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง, ข้อมูลจาก www.sac.or.th/
|
07-08-2015 Views : 4152