+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
เสมาหิน เมืองโบราณโนนเมือง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
เมืองโบราณโนนเมือง เป็นการพบร่องรอยทางโบราณคดี ยุคสมัยศิลปะทวารวดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งความจริงสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่นได้จัดเป็นโบราณสถานที่สำคัญของขอนแก่นไว้นานแล้วแต่เพิ่งจะขุดค้นพบเป็นบางส่วนไปเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2525
พบว่าใต้ดินลึกลงไปจากบริเวณโนนเมืองเป็นร่องรอยถิ่นฐานของสังคมประวัติศาสตร์สมัยหนึ่งในอดีตเมืองโบราณ สมัยทวารวดีแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า โนนเมือง เขตบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพ ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 80 กิโลเมตร เดิมทีชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาว่าบริเวณเนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองเก่าเมืองโบราณ
จากการสำรวจของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น
พบ
ใบเสมาหินทรายศิลปะทวารวดี บริเวณศาลเจ้าปู่ พบใบเสมาทั้งชนิดแบน ชนิดแท่งสี่เหลี่ยม แท่งแปดเหลี่ยมปักอยู่และล้มนอนอยู่ มีการแกะลวดลายเป็นบัวหงาย หม้อปูรณฆฏะ และสันสถูป รวมทั้งหมด 8 หลัก
เสมาหินจากโนนเมือง
ชาวบ้านบอกว่ามีเสมาหินหลักหนึ่งถูกนำไปเป็นหลักเมืองชุมแพ ตั้งอยู่ในศาลหลักเมือง ริมหนองนางเลิง (เดิมเรียก หนองอีเลิง) อ. ชุมแพ นอกตัวเมือง (นอกคูน้ำคันดิน) ที่สำคัญคือบริเวณวัดป่าพระนอนพัฒนาราม (ตั้งเมื่อปี 2519)
ชาวบ้านเล่าว่าแต่เดิมมีพระยืนสลักหินอยู่ 1 องค์ มีคนมาลักขุดหาสมบัติจนองค์พระล้มนอน ชำรุดแตกเป็นเสี่ยงๆ ชาวบ้านที่มีศรัทธาจึงนำชิ้นส่วนมาต่อรวมๆ กัน แล้วปั้นปูนโอบไว้จนเป็นพระนอน แล้วสร้างศาลาเป็นวิหารประดิษฐานไว้ รอบๆ วิหารพระนอน ชาวบ้านได้รวบรวมใบเสมาทั้งที่อยู่ในบริเวณนี้และจากในตัวเมืองโบราณฯ มาปักไว้รอบๆ นับได้ 19 ชิ้น
และบนผิวพื้นดินทั่วไปของเนินพบเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีด และลายเชือกทาบลักษณะของเนินเป็นเนินดินรูปไข่ พื้นที่ประมาณ 170 ไร่ มีคูเมือง 2 ชั้น ระยะห่างกันประมาณ 200 เมตร การขุดค้นของสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น โดยเปิดหลุมขุด 2 หลุมขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ได้พบว่าตรงความลึกประมาณ 270 เซนติเมตร เป็นโครงกระดูกมนุษย์ อายุราว 2,500 ปี ที่มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ ที่มีธรรมเนียมการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมกับศพ เช่น หม้อและภาชนะดินเผาเขียนสีและลายขูดขีด ลายเชือกทาบ กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์เช่น กระดูกหมู กระดูกควาย เขากวาง และกระดองเต่าใกล้กับโครงกระดูกด้วย
สำหรับหลุมแรกพบโครงกระดูกจำนวน 5 โครงและหลุมที่ 2 จำนวน 2 โครง อย่างไรก็ดี ขณะนี้เพียงสันนิษฐานว่าโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบน่าจะเป็นคนในยุคสมัยทวารวดีจนกว่าจะมีการพิสูจน์ วิเคราะห์ตามหลักวิชาการที่ถูกต้องด้านโบราณคดีต่อไปในภายหลัง
ในบริเวณเมืองโบราณโนนเมืองมี “พิพิธภัณฑ์เปิด” ในแหล่งขุดค้น มีสิ่งก่อสร้างและหลักฐานต่างๆ คือ
1. อาคารคลุมหลุมขุดค้น 5 หลัง
2. อาคารศูนย์ข้อมูล 1 หลัง
3. ศาลเจ้าปู่ (บริเวณที่มีใบเสมาหินปักอยู่)
4. หอพระ ตั้งอยู่บนเนินดิน
นอกจากนั้นยังมีการค้นพบเครื่องมือเหล็กประเภท จอบ เคียว และกระดูกของสัตว์ต่างๆ เช่น เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด ทำให้ทราบว่าผู้คนที่นี่ดำรงชีวิต ด้วยการเกษตรกรรม มีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมาจนถึงสมัยลพบุรี(พุทธศตวรรษที่ 16-17) และทิ้งร้าง ไปในที่สุด
สถานที่ตั้ง : เมืองโบราณโนนเมือง อ. ชุมแพ จ. ขอนแก่น
ถ่ายภาพเมื่อ : 24 ธันวาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 28 ธันวาคม 2559
ปรับปรุงล่าสุด : 6 กันยายน 2561
จำนวนผู้เข้าชม : 3484 ครั้ง
ที่มาข้อมูล : finearts.go.th, sujitwongthes.com, thai.tourismthailand.org
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง