กู่คันธนาม จ.ร้อยเอ็ด
ปราสาทกู่คันธนามตั้งอยู่ในเขตการปกครองของบ้านคันธนาม ตำบลยางคำ อำเภอ โพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยตั้งอยู่ประมาณเส้นรุ้งที่ 15 องศา 07 ลิปดา 40 ฟิลิปดา เหนือและ เส้นแวงที่ 103 องศา 53 ลิปดา 35 ฟิลิปดา ตะวันออก พิกัดกริดที่ 48 puc 919097 โดยเดินทางจากตัวอำเภอโพนทรายมาทางทิศใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 2086 (สุวรรณภูมิ - ราษีไศล) มาทางอำเภอ ราษีไศล ประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงบ้านกู่คันธนาม ตัวปราสาทกู่คันธนามอยู่ภายในบริเวณวัดกู่คันธนาม ห่างจากแนวถนนมาทางตะวันตกประมาณ 100 เมตร ตัวปราสาทตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่รูปยาวรี ขนาดประมาณ 300 x 1,000 เมตร วางตัวในแนวตะวันออก – ตะวันตก มีความสูงจากระดับพื้นที่โดยรอบประมาณ 6- 10 เมตร มีถนนสาย 2086 ตัดผ่านกลางเนิน บนเนินมีสภาพเป็นป่าสงวน และเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านจำนวน 2 หมู่ คือ หมู่ 5 บ้านหนองชำ ทางด้านทิศตะวันออกของถนน และบ้านกู่คันธนามทางด้านตะวันตกของแนวถนนโดยตัวปราสาทจะอยู่ทางทิศเหนือติด กับหมู่บ้าน ซึ่งจะตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวถนน รพช. จากทางแยกทางหลวงไปทางบ้านยางคำ มีบ้านเรือนประมาณ 50 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 298 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพ
ปราสาทกู่คันธนามตั้งอยู่ในเขตวัดกู่คันธนาม ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านและเป็นที่จำพรรษาของอดีตเจ้าคณะอำเภอโพนทราย ที่ตั้งวัดโดยรอบเป็นพื้นที่ป่าสงวน มีสภาพเป็นป่าโปรงค่อนข้างทึบ บางส่วนถูกถางเพื่อปลูกไม้ยูคา ขุดบ่อเลี้ยงปลา และใช้เป็นพื้นที่ทำปศุสัตว์ ภายในพื้นที่วัดแต่เดิมเป็นป่าทึบเช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นรกทึบ มีสัตว์ป่ามากมาย ภายในพื้นที่วัดแต่เดิมเป็นป่าทึบเช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นรกทึบ มีสัตว์ป่ามากมาย และเป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มโจรในแถบนั้น เมื่อมีการตั้งวัดขึ้นเมื่อประมาณ 30 - 40 ปีที่แล้ว จึงปรับปรุงสถานที่ โดยโค่นต้นไม้ใหญ่ลงเกือบหมด คงเหลือบ้างเล็กน้อยทางด้านหลังวัด (ทางด้านทิศตะวันตก) บางส่วน มีการปลูกขึ้นใหม่ ปัจจุบันจึงมีสภาพเป็นป่าโปร่งมีต้นไม้ค้อนข้างมาก เหลือเค้าที่เคยเป็นป่ามาก่อน มีอาคารปลูกสร้างอยู่ภายในวัดหลายหลัง บางส่วนปลูกสร้างอยู่บนปราสาทประธานและบริเวณลานหน้าปราสาทประธาน โดยที่พักหรือกุฏิอยู่ทางด้านทิศใต้ของปราสาท มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นประปราย โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตก พื้นที่ภายในปราสาทส่วนมากมีวัชพืชปกคลุมในช่วงฤดูฝน ตัวโบราณสถานปราสาทกู่คันธนาม
มีลักษณะผังแบบเดียวกับโบราณสถานประเภทที่เรียกกันว่า อโรคยาศาลาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุกเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 36 วันที่ 15 มีนาคม 2536 มีพื้นที่ 2 ไร่ 35 ตารางวา ภายในแผนผังของโบราณสถานประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย กำแพงแก้ว และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง บริเวณนอกกำแพงแก้ว ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. ปราสาทประธาน มีขนาดประมาณ 5x5 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง เดิมมีผนังครบทั้ง 4 ด้าน เมื่อมีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุจึงทลาย ส่วนยอดลงมาเรื่อย ๆ เพื่อหาของมีค่า ซึ่งภายในคูหาของปราสาทเดิมมีดินอัดอยู่เต็ม ตัวปราสาทสูงประมาณ 3- 4 เมตร ปัจจุบันพังทลายลงมาจนเกือบหมดและวัดกู่คันธนามได้ก่อผนังปราสาทขึ้นไปใหม่ โดยสร้างกุฏิไว้บนบริเวณส่วนหลังคาของปราสาท ซึ่งผนังปราสาทเดิมยังพอมีให้เห็นบ้าง ทางด้านทิศใต้ สูงจากพื้นประมาณ 3 – 3.5 เมตร ส่วนหน้าบันยังเห็นร่องรอยการเซาะหินเป็นซุ้มซ้อนกันสองชั้น บริเวณผนังก่อเป็นประตูหลอก ตัวเรือนธาตุเอียงทรุดมาทางด้านตะวันตก ส่วนผนังด้านอื่น ๆ ก่อขึ้นมาใหม่สูงประมาณ 4 เมตร ซึ่งเป็นฐานเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากฐานอาคารจมดินอยู่จึงไม่ทราบความสูงที่แน่นอนได้ ผนังทางด้านตะวันตกและด้านเหนือถูกก่อเป็นบันไดทางขึ้นไปกุฏิที่ตั้งอยู่บน ตัวปราสาท โดยใช้ก้อนแลงที่นำมาจากภายในปราสาทนั้นมาก่อเป็นฐาน แต่บันไดทางด้านทิศเหนือได้พังทลายลงมาเนื่องจากแลงที่เอามาก่อเกิดการทรุด ตัว จึงทำให้ผนังที่ก่อขึ้นไปใหม่พังทลายลงมาบางส่วน ซึ่งมีก้อนหินทรายสีแดงปะปน อยู่ด้วยและยังพบชิ้นส่วนฐานรูปเคารพอยู่ในบริเวณที่พังทลายลงมาด้วยซุ้ม ประตูเข้าอยู่ทางด้านตะวัน-ออกเดิม เหลือเพียงส่วนฐาน ปัจจุบันก่อขึ้นไปใหม่เช่นกัน
2. บรรณาลัย ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีขนาดกว้าง4.2 เมตร ยาว 8 เมตร ส่วนหลังคาและซุ้มประตูทางเข้าพังทลายลงมาเหลือความสูงประมาณ 4.30 เมตร ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ด้านตะวันออกทำเป็นประตูหลอก ไม่มีหน้าต่าง หน้าบันทางด้านตะวันออกยังคงมีร่องรอยของซุ้มหน้าบ้านภายในตัวอาคารมีแท่น ฐานรูปเคารพเสาประดับกรอบประตูตั้งอยู่ จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า เคยมีการขัดพบพระพุทธรูปบริเวณประตูหลอกทางด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันถูกขายไปแล้ว
3. โคปุระและกำแพงแก้ว ตัวกำแพงก่อด้วยศิลาแลงสูงจากพื้นดินในปัจจุบันประมาณ 1.20 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร ล้อมรอบตัวปราสาทและบรรณาลัยไว้ภายใน ขนาดกว้าง 27 เมตร ยาว 34 เมตร เหลือแนวกำแพงที่ค่อนข้าง สมบูรณ์อยู่ทางด้านทิศใต้ โดยบางส่วนของแนวกำแพงด้านนอกยังคงสลักเป็นลวดลายยังมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนกำแพงด้านอื่น ๆ พังทลายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออก ถูกพังทลายลง เพื่อใช้เป็นทางเข้าออก เนื่องจากตัวโคปุระเดิม พังทลายลงมาหมดแล้ว ตอนกลางของกำแพงด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของโคปุระหรือประตูทางเข้า โดยมีแผนผังเป็นรูปกากบาท โดยในปัจจุบันยังคงมองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน แต่ไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าได้ ตัวโคปุระก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนที่รับน้ำหนักจะใช้หินทรายสีชมพูเป็นคานซึ่งยังคงมีปรากฎอยู่ ปัจจุบันตัวโคปุระมีขนาด ประมาณกว้าง 10 เมตร ยาว 13 เมตร สูง 3.70 เมตร
4. สระน้ำ ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงแก้วออกมาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแต่เดิมถูกดินถม จนหมดต่อมาเมื่อมีการตั้งเป็นวัด จึงขุดพบสระน้ำ ซึ่งแต่เดิมเป็นบ่อกรุด้วยแลง แต่ในการขุดชาวบ้านใช้รถขุดดิน ทำให้บ่อเดิมเสียหายมากจึงกรุบ่อกันใหม่ทำให้บ่อมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ปัจจุบันวัดนำผักตบชวาและปลามาปล่อยเลี้ยงในบ่อ บริเวณรอบสระทำเป็นแปลงผักสวนครัวพบชิ้นส่วนแท่นฐานรูปเคารพอยู่ในบริเวณนี้ ด้วย ตัวสระน้ำในปัจจุบันมีขนาด 8 x 8 เซนติเมตร
ข้อมูลจาก : สำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด
สถานที่ตั้ง : บ้านคันธนาม ตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด
ถ่ายภาพเมื่อ : 20 พฤษภาคม 2555
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 18 เมษายน 2558
ปรับปรุงล่าสุด :
จำนวนผู้เข้าชม : 4301 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง