กู่เมืองบัว จ.ร้อยเอ็ด
ตั้งอยู่ที่ดอนกู่ ทิศเหนือและทิศใต้ ล้อมรอบด้วยสระน้ำ เป็นที่เครพบูชาของชาวบ้าน
ตัวโบราณสถานตั้งอยู่บนเนินดิน (ดอนกู่) ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแนวคูน้ำล้อมรอบ บริเวณปราสาทพบทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้าง-เอราวัณ ศิลปะขอมแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตกอยู่ 1 ชิ้น จากการสัมภาษณ์กำนันตำบลเมืองบัว ทราบว่าเคยมีประติมากรรมรูปบุรุษและสตรีประดิษฐานอยู่บนฐานประติมากรรมที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของปรางค์ประธาน ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวพันกับตำนานพื้นบ้านเรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” และยังพบเทวรูปมีเศียรเป็นช้างลำตัวเป็นมนุษย์ ซึ่งคงหมายถึงรูปพระคเณศรวมอยู่ด้วย จากข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นไปได้ว่ารูปบุรุษและสตรีที่สูญหาย คงเป็นรูปพระศิวะและนางอุมาซึ่งเป็นต้นวงศ์ (บิดา-มารดา) ของพระคเณศและมักพบร่วมกัน ดังนั้น กู่เมืองบัวคงสร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย ศิลปะขอมแบบบาปวนตามรูปแบบของทับหลังที่ปรากฏ โดยอาจมีการดัดแปลงอีกครั้งในพุทธศตวรรษที่ 18 ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้างอาคารทั้งหลังเป็นที่นิยมในสมัยดังกล่าว
กู่เมืองบัว ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม 114 ตอนพิเศษ 80ง ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2540 หน้า 4 เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 9 ไร่ 91.43 ตารางวา
สถานที่ตั้ง : บ้านเมืองบัว หมู่ 6 ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด 45150
ถ่ายภาพเมื่อ : 4 พฤษภาคม 2557
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 14 เมษายน 2558
ปรับปรุงล่าสุด :
จำนวนผู้เข้าชม : 4007 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง