+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
กู่แก้วสี่ทิศ จ.ศรีสะเกษ
ตั้งอยู่บริเวณที่สาธารณะประโยชน์ป่าช้าดงใหญ่ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านหว้าน ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโบราณสถานอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวตำบลหว้านคำ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ค้นพบโดยพระครูสุวิมลธรรมรังสี เจ้าคณะตำบลหว้านคำ เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร ได้เข้ามาทำการตรวจสอบ พบว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณ 1,200 ปี
จากโบราณวัตถุที่พบสันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้คงเป็นชุมชนในสมัยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 มีการนับถือ ศาสนาพุทธ โดยประดิษฐ์ใบเสมาขึ้น เพื่อใช้ประกอบสังฆกรรม มีการสร้างสิ่งก่อสร้างที่น่าจะเป็นศาสนสถาน และมีการสร้างคูน้ำคันดิน เพื่อใช้กักเก็บน้ำในการอุปโภคบริโภคของชุมชน
สภาพทั่วไป มีลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลม มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น โดยก่อคันดินล้อมรอบคูน้ำด้านนอก ลักษณะเช่นนี้เชื่อว่าคงสร้างคูน้ำขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลัก ในการกักเก็บน้ำ ตัวแหล่งโบราณคดีมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
ประมาณ 60 เมตร
ระหว่างทำการขุด และบูรณะซ่อมแซมได้พบโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดบ้านหว้าน ผู้สนใจสามารถขอเข้าชมได้ตลอดเวลา กู่แก้วสี่ทิศนี้ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บ้านหว้าน มีเรื่องแปลกประหลาดที่ไม่สามารถอธิบายด้วยคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้เกิดขึ้นมากมาย ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก
วันที่ 13 เมษายน 2547 มีพิธีทำบุญตักบาตร โดยมมี นายประทีป กีรติเลขา นายอำเภอราษีไศล สมัยนั้นมาเป็นประธานเปิดงาน และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งที่สองของตำบลต่อจากเมืองลิง จึงเติมคำว่าแก้วสี่ทิศเข้าไป เมื่อก่อนเรียกว่ากู่เฉยๆ จากวันนั้นมาจึงเรียกว่ากู่แก้วสี่ทิศจนถึงทุกวันนี้ทำพิธีเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ประจำตำบลหว้านคำอย่างเป็นทางการ
สภาพปัจจุบัน คูน้ำและคันดินบางส่วนเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพื้นที่นา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดเมืองคง ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย รวมทั้ง
รูปปั้นของพญากตะศิลา ซึ่งเป็นเจ้าเมืองผู้นำชาวเยอ มีการบวงสรวงกันทุกวันเพ็ญเดือนสาม
หลักฐานที่พบ ซากโบราณสถานซึ่งอยู่ในสภาพพังทลาย เนื่องจากการถูกลักลอบขุดหาวัตถุโบราณ เหลือสภาพเพียงเศษอิฐ
กระจายอยู่ทั่วไป กลุ่มใบเสมาหินทรายบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวแหล่ง เศษภาชนะดินเผาทั้งประเภทเนื้อหยาบ และเนื้อแกร่ง
ก่อนที่จะได้รับการสำรวจและบูรณะจากกรมศิลปากร เมื่อ 13 กันยายน 2547
มีการสร้างอาคารโครงเหล็กมุงด้วยสังกะสี ครอบโบราณสถานไว้ ดังนี้
1.
กู่แก้วสี่ทิศ เป็นโบราณสถานที่ใหญ่กว่าโบราณสถานอื่น (ลักษณะคล้าย เขาคลังนอก เมืองศรีเทพ) ก่อด้วยอิฐ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมมีทางขึ้น 4 ทาง ตามทิศ 4 ทิศ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีทางขึ้นลงหนึ่งที่ ขนาดฐานโดยประมาณ 5 เมตร
2.
หลุมกรุด้วยอิฐ กว้างประมาณ 2.50 x 2.50 เมตร ลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณ 3 เมตร ตรงกลางขุดเป็นบ่อลึกประมาณ 4 เมตร ขอบบ่อก่ออิฐ
3.
กู่น้อย ก่อด้วยอิฐ เหลือแต่ส่วนฐาน ลักษณะเป็นเจดีย์เล็กๆ ทรงหกเหลี่ยมยอดแหลม ขนาด 1.20 x 1.20 เมตร
4.
กู่ใหญ่ (ตั้งอยู่ในป่า บริเวณใกล้ๆ กัน) ก่อด้วยอิฐ สภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ประมาณ ขนาด 3 x 3 เมตร
สถานที่ตั้ง : บ้านหว้าน หมู่1 ต.หว้านคำ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
ถ่ายภาพเมื่อ : 26 กรกฏาคม 2558, 22 พย. 2560
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 23 กุมภาพันธ์ 2559
ปรับปรุงล่าสุด : 22 พย. 2560
จำนวนผู้เข้าชม : 9882 ครั้ง
ที่มาข้อมูล : m-culture.in.th, province.m-culture.go.th
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง