ดอนขุมเงิน จ.ร้อยเอ็ด
ถอดความ "จารึกดอนขุมเงิน" ในบริเวณแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน กิ่งอำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด กรมศิลปากร สำนักงานศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด ดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ ขณะดำเนินการได้ขุดพบศิลาจารึกที่ฐานรูปเคารพ เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ กับได้ทำการขุดลอกบ่อน้ำจืด ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งประชาชนอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ต่างเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
บ่อน้ำนี้อยู่ห่างไกลจากจุดพบศิลาจารึกที่ฐานเคารพไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๐ เมตรเศษ ลักษณะเป็นบ่อที่ขุดลึกลงไปในพื้นดิน บ่อรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปากบ่อกว้างด้านละประมาณ ๒.๕๐ เมตร ลึกประมาณ ๖ เมตรเศษ ผนังข้างบ่อทั้ง ๔ ด้าน กรุด้วยหินทรายสีเหลืองรูปสี่เหลี่ยม หินที่กรุไว้เรียงเป็นแนวเรียบลงไปถึงก้นบ่อเหมือนกันทั้ง ๔ ด้าน แต่มีด้านหนึ่งอยู่ทิศตะวันตกในระหว่างหินกรุที่เรียงเป็นแนวเรียบนั้น มีหินยื่นออกประมาณ ๔๕ เซนติเมตร เรียงเว้นเป็นระยะจากปากบ่อลงไปถึงก้นบ่อในแนวเฉียง ทำเป็นขั้นบันไดสำหรับเดินลงไปยังก้นบ่อ
จารึกเมื่อมองจากด้านบน
ลักษณะสภาพของบ่อหลังจากขุดแต่งแล้ว เป็นบ่อน้ำที่มีความสวยงาม ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ และก็น่าจะยังคงอยู่ในลักษณะเดิมตั้งแต่แรกสร้างด้วย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เนื่องจากพบว่า หินกรุที่อยู่ผนังข้างบ่อน้ำ มีอักษรจารึกปรากฏอยู่ทั้งตอนบนใกล้ปากบ่อ และตอนล่างใกล้ก้นบ่ออักษรจารึกที่กล่าวถึงนี้ เป็นอักษรตัวเดียว จารึกอยู่บนหิน ๔ ก้อน ตำแหน่งที่พบอักษรจารึกมีรายละเอียดดังนี้
ผนังข้างบ่อด้านทิศเหนือ นับจากก้นบ่อขึ้นมา หินกรุก้อนที่สามริมขวา มีจารึกอักษร ๑ ตัว เป็นรูปอักษร ล
ผนังข้างบ่อด้านทิศใต้ นับจากก้นบ่อขึ้นมา หินกรุก้อนที่สามริมขวา มีจารึกอักษร ๑ ตัว เป็นรูปอักษร ช
จุดที่พบ
ผนังข้างบ่อด้านทิศใต้ นับจากก้นบ่อขึ้นมา หินกรุก้อนที่สี่ริมขวา มีจารึกอักษร ๑ ตัว เป็นรูปอักษร ป
สำนักงานศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการขุดค้น และขุดแต่งทางโบราณคดี ในบริเวณแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ได้พบหินมีอักษรจารึกเพิ่มขึ้นอีกชิ้นหนึ่งอยู่ห่างไปจากบ่อน้ำประมาณ ๑ ตัว คือ รูปอักษร ย หินที่มีจารึกอักษร ย นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเคยกรุอยู่ที่ขอบบ่อน้ำด้านทิศตะวันออก นับจากปากบ่อลงไปก้อนที่สี่ ซึ่งจะตรงกับตำแหน่งของแผ่นจารึกอักษร ป ที่กรุอยู่ด้านทิศตะวันตก
จารึกรูปอักษรทั้ง ๔ ตัวนี้ หากพิจารณาลักษณะของรูปอักษรโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่ารูปสัณฐานของเส้นอักษรเหมือนกับรูปอักษรในจารึกฐานรูปเคารพที่พบในแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน จารึกหลักนี้เมื่ออ่านแปลข้อความแล้วทราบว่า เป็นจารึกที่พระเจ้าจิตรเสน สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
ความในจารึกกล่าวถึงพระจิตรเสนผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีสารวเภามะ พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าศรีวีรวรมัน และแม้โดยศักดิ์จะเป็นพระอนุชาของ พระเจ้าศรีภววรมัน แต่ทรงมีพระชนมายุมากกว่า เมื่อพระองค์ได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ทรงเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน หลังจากที่พระองค์ทรงได้ชัยชนะชาวต่างประเทศ (ที่เป็นชนพื้นเมือง) ณ บริเวณนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว ได้สร้างรูปพระศิวะ และโคนนทิด้วยศิลา ประดิษฐานไว้ให้เป็นที่สักการะ
รูปอักษรจารึกที่หินกรุรอบขอบบ่อเป็นอักษรปัลลวะ และแต่ละตัวก็มีความหมายในภาษาสันสกฤต ดังได้จัดทำคำแปลจารึก พร้อมทั้งคัดจำลองอักษรจารึกและคำจารึกไว้ดังต่อไปนี้
ล หมายถึง พระศิวะหรือพระอิศวร ช หมายถึง พระวิษณุหรือพระนารายณ์ ป หมายถึงพระนางปารพตีหรือพระอุมา ชายาของพระศิวะ ย หมายถึงพระนางลักษมี ชายาของพระวิษณุ
จากตำแหน่งที่รูปอักษรประดิษฐานอยู่จะเห็นได้ว่าเทพเจ้าสำคัญจะประจำอยู่ก้นบ่อ ได้แก่ พระศิวะอยู่ก้นบ่อด้านทิศเหนือ ซึ่งน่าจะเป็นทิศที่หมายแทนถึงยอดเขาไกรลาส อันเป็นที่สถิตของพระศิวะ ส่วนพระวิษณุอยู่ก้นบ่อด้านทิศใต้ซึ่งน่าจะเป็นทิศที่หมายแทนถึงบาดาลหรือเกษียรสมุทร อันเป็นที่สถิตของพระวิษณุ
เนื่องจากบ่อน้ำแห่งนี้มีบันไดทำไว้เป็นทางลงไปสู่ก้นบ่อ อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่มีอักษร ป ประดิษฐานอยู่ตอนบนใกล้ปากบ่อ ถ้ากำหนดให้ด้านนี้เป็นจุดเริ่มต้น เวียนจากซ้ายไปขวาเป็นทักษิณาวรรต โดยเริ่มที่รูปอักษร ป ซึ่งหมายถึง พระนางปารพตี ชายาของพระศิวะ เวียนเคลื่อนที่ไปสู่อักษร ล ซึ่งหมายถึง พระศิวะ ที่ก้นบ่อด้านทิศเหนือ เมื่อนำอักษรทั้ง ๒ ตัวมาเรียงกัน คือ ปล จะมีรูปเป็นคำศัพท์ในภาษาสันสกฤต หมายถึงเคลื่อนที่ เดิน ไป ถ้าเวียนต่อไปอีก จะได้อักษรเรียงกัน ๒ ตัว คือ ยช เป็นคำศัพท์ภาษาสันสกฤต หมายถึงการบูชา บวงสรวง ไหว้ สังเวย อนึ่งถ้าเรียงอักษร ๒ คำนี้ในทางย้อนกลับจะได้คำศัพท์ ๒ คำ คือ ลป หมายถึงพูด กล่าว พูดซ้ำๆ และ ชย หมายถึงชัยชนะ ความมีชัย
ถ้านำคำทั้ง ๔ ข้างต้นมาเรียงต่อกัน จะได้อักษร ๘ ตัว คือ ปล ยช ลป ชย ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป็นคาถา หรือบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า อีกทั้งจำนวน ๘ ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งมงคลตามคติความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นประโยคตามหลักไวยากรณ์ในภาษาสันสกฤต แต่ก็อาจแปลสรุปเอาความได้ว่า หมายถึงการสวดภาวนาบูชายังให้การไปนั้นประสบชัยชนะ
อีกประการหนึ่ง หากเรียงอักษร ป จากทิศตะวันตกเวียนต่อไปรอบบ่อน้ำ โดยการเชื่อมประสานอักษร ป จากทิศตะวันตกกับอักษร ล ที่ทิศเหนือ จะได้อักษรเรียงกัน ๒ ตัว คือ ปล และนำอักษร ล จากทิศเหนือไปประสมกับอักษร ย ที่ปากบ่อด้านทิศตะวันออก จะได้อักษรเรียงอัน ๒ ตัว คือ ลย และหากเวียนต่อไปทำนองเดียวกันนี้ จากทิศตะวันออกไปสู่ทิศใต้ จะได้อักษรเรียงกัน ๒ ตัว คือ ยช และเวียนไปสู่ทิศตะวันตก จะได้อักษรเรียงกันอีก ๒ ตัว คือ ชป อักษรที่นำมาเรียงกันนี้ จัดได้เป็นคำศัพท์ ๔ คำ แต่ละคำมีความหมายในภาษาสันสกฤต ดังนี้
ปล หมายถึงเคลื่อนที่ เดิน ไป ลย หมายถึงเคลื่อนที่ เดิน ไป ยช หมายถึงการบูชา บวงสรวง ไหว้ สังเวย ชป หมายถึงสวดมนต์ ภาวนา ชักลูกประคำ
คำศัพท์ ๔ คำนี้ หากนำคำแปลมาสรุปเอาความหมายถึงการสวดภาวนาบูชา เพื่อการเคลื่อนที่ หรือการไป และเมื่อนำคำศัพท์ทั้ง ๔ คำ มาเรียงต่อกันแล้วจะได้รูปอักษร ๘ ตัว คือ ปล ลย ยช ชป และถ้าเรียงอักษร ๘ ตัวนี้ในทางย้อนกลับทำนองโอ้โลมปฏิโลมก็จะได้คำศัพท์อีก ๔ คำ คือ ลป ยล ชย ปช ซึ่งแต่ละคำก็มีความหมายในภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกัน ยกเว้น ยล เพียงคำเดียวที่เป็นภาษาเขมร ดังนี้คือ
ลป หมายถึงพูด กล่าว พูดซ้ำๆ ยล หมายถึงเข้าใจ รู้ชัด รู้แจ้งด้วยปัญญา ชย หมายถึงชัยชนะ ความมีชัย ปช หมายถึงแข็ง แกร่ง กวดขัน ตายตัว
คำปฏิโลมนี้ถ้านำมาเรียงต่อกันก็จะได้รูปอักษร ๘ ตัว คือ ลป ยล ชย ปช และถ้านำคำแปลมาสรุปเอาความ หมายถึง การสวดภาวนาบูชาซ้ำๆ ยังให้ได้ชัยชนะอย่างแน่นอน
อักษร ๘ ตัวที่นำมาเรียงกลับไปมา ล้วนเป็นอักษรชื่อของเทพเจ้าสำคัญของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งหากนำมากล่าวซ้ำๆ ก็จะมีลักษณะเป็นบทสรรเสริญเทพเจ้าหรือคำกล่าวบูชาเทพเจ้าเพราะตามคติศาสนาพราหมณ์ระบุว่า การออกนามเทพเจ้าซ้ำๆ กันร้อยครั้ง พันครั้ง หรือตลอดวัน ตลอดคืน เทพเจ้าจะพอพระทัย และโปรดประทานพรให้ได้ในทุกสิ่งที่ปรารถนา นอกจากนั้นความหมายของคำศัพท์ทุกคำก็ล้วนมีความหมายในทางมงคล บ่อบอกถึงการประกอบพิธีบูชา และสวดภาวนาบูชาซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง จักยังให้การไปหรือการกระทำกิจการต่างๆ ประสบชัยชนะและความสำเร็จทั้งปวง
การที่อักษรทั้งสี่ หรืออาจจะกล่าวว่านามของเทพเจ้าทั้งสี่จารึกลงบนแผ่นศิลา ประดิษฐ์ไว้รอบบ่อน้ำ น่าจะเป็นการเพิ่มคุณลักษณะของบ่อน้ำแห่งนี้ เทียบเท่ากับมีเทพเจ้าทั้งสี่สถิตประจำอยู่รอบสม่ำเสมอ ยังให้บังเกิดเทวบารมี ส่งพลังให้บ่อน้ำแห่งนี้มีความสำคัญ เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นอกจากนั้นอักษรนามเทพเจ้าทั้งสี่ยังเป็นอักษรที่ประกอบเป็นบทมนต์ หรือบทสรรเสริญเทพเจ้าอันเป็นมงคลยิ่ง จึงมีคุณลักษณะที่ส่งเสริมให้มีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มพูนขึ้นอีก กับยังส่งพลังให้น้ำในบ่อเป็นมงคล เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย
ความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำแห่งนี้ น่าจะได้มีการสืบทอดความเชื่อกันตลอดมาเป็นเวลายาวนานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบัน ย่างเข้าพุทธศตวรรษที่ ๒๖ แล้ว เนื่องจากชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงและประชาชนทั่วไปในจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อว่าบ่อน้ำแห่งนี้เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ กล่าวได้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำแห่งนี้ยั่งยืนยาวนานมากกว่า ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
การพบจารึกอักษร ๔ ตัวนี้ จึงนับว่าเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้สามารถวิเคราะห์ให้ได้ทราบถึงความสำคัญของบ่อน้ำ รวมไปถึงอารยธรรม ความเชื่อ และความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเจนละ ในยุคสมัยที่พระเจ้าจิตรเสน หรือพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้แกล้วกล้าในสงคราม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นั้นจากหลักฐานจารึกของพระองค์ที่พบแล้ว ทำให้ทราบว่าพระองค์ได้ขยายขอบเขตของอาณาจักรส่วนหนึ่งครอบคลุมบริเวณภาคอีสานของประเทศไทยปัจจุบัน ตลอดลำแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานีเข้ามาสู่แม่น้ำสายย่อยๆ ที่แยกจากแม่น้ำมูลไปตามแม่น้ำเสียวที่จังหวัดร้อยเอ็ด แยกไปทางแม่น้ำชีที่จังหวัดขอนแก่น แยกไปสู่ลำมาศ หรือลำปลายมาศที่จังหวัดบุรีรัมย์ และเลยไปตามทิวเขาดงรัก ต่อทิวเขาบรรทัดที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และอาจเลยต่อไปถึงทะเลที่จังหวัดจันทบุรีด้วย
จารึกของพระเจ้าจิตรเสนที่พบในเขตจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ได้สร้างสรรค์ไว้ ส่วนหนึ่งได้ตกทอดเป็นมรดกวัฒนธรรมโดยเฉพาะความเชื่อถือศรัทธาอย่างเชื่อมั่นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน เป็นหลักฐานหนึ่งที่บ่งบอกถึงองค์ประกอบแห่งพิธีกรรมตามคตินิยมของไศวนิกายที่เคยดำเนินอยู่อย่างรุ่งเรืองในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ของภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันคือภาคอีสานของประเทศไทย
(ถอดความ 'จารึกดอนขุมเงิน' ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร)
สถานที่ตั้ง : บ้านหนองคูณ ต.เด่นราษฎร์ กิ่งอ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด
ถ่ายภาพเมื่อ : 14 เมษายน 2558
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 16 เมษายน 2558
ปรับปรุงล่าสุด :
จำนวนผู้เข้าชม : 4208 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง