+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ประวัติอาคารขุนอำไพพาณิชย์
อาคารขุนอำไพพาณิชย์ เดิมเป็นบ้านเก่าของขุนอำไพพาณิชย์ กับนางอำไพพาณิชย์ ภริยา ซึ่งเป็นคหบดีรุ่นเก่าชาวศรีสะเกษ ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวเวียดนาม (ญวน) และจีน อาคารได้รับอิทธิพลของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบญวนผสมจีน
ขุนอำไพพาณิชย์เป็นคหบดีในพื้นที่ ประกอบธุรกิจค้าขายมีความมั่งคั่ง และสร้างอาคารขุนอำไพพาณิชย์ขึ้นบริเวณย่านตลาดใน (ย่านตลาดเก่า) ซึ่งเป็นย่านธุรกิจศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้ายุคแรก ๆ ของเมืองศรีสะเกษ
หลังการเสียชีวิตของขุนอำไพพาณิชย์และภริยา ผู้สืบทอดสกุลนาคสีหราชคือนายหงษ์ทอง นาคสีหราช อาคารหลังนี้ได้รับการตกทอดเป็นมรดกให้กับนางเฉลา ช.วรุณชัย บุตรบุญธรรม ซึ่งเดิมเป็นหลานแต่นำมาชุบเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเนื่องจากขุนอำไพพาณิชย์ไม่มีบุตร หลังจากนั้นอาคารขุนอำไพพาณิชย์ก็ได้ตกทอดมายังทายาทตระกูลนาคสีหราชอีกหลายรุ่น จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการอนุรักษ์อาคารมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นและส่งมอบมาให้ไว้เป็นอย่างดี จนกระทั่งองค์กรต่าง ๆ และหน่วยงานราชการได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์ตามลำดับ เนื่องจากเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญ ความโดดเด่นด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของอาคารดังกล่าว
ลักษณะเด่น :
สถาปัตยกรรมและองค์ประกอบ :
อาคารขุนอำไพพาณิชย์ มีลักษณะเป็นอาคารแบบตึกแถว สร้างแบบปราศจากฐานรากด้วยการก่ออิฐ (แบบครึ่งแผ่น) ถือปูน 2 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็น 6 คูหา ชั้นล่างปูพื้นด้วยกระเบื้องอิฐแดง ทางเข้าทำเป็นประตูบานพับแบบประตูเฟี้ยม จำนวน 6 ช่อง โดยเปิดแยกข้างละ 3 บานสำหรับแต่ละช่องคูหา เหนือประตูเป็นกรอบวงโค้ง จากชั้นล่าง มีบันไดสำหรับการเดินขึ้น-ลง 2 ทาง
ชั้นบนปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็ง บางคูหาก่อเป็นผนังทึบมีช่องหน้าต่าง บางคูหาเป็นผนังทึบที่มีช่องประตู เปิดรับออกสู่ระเบียงพื้นไม้ชั้นบน ซึ่งยื่นออกมาจากตัวอาคาร 1 เมตร เหนือหน้าต่างและประตูเป็นกรอบวงโค้ง โครงสร้างส่วนหลังคาด้านกว้างมีลักษณะเป็นหน้าจั๋วก่ออิฐฉาบปูนเรียบ มุงหลังคาด้วยสังกะสี
ศิลปะ ลวดลายการตกแต่งและองค์ประกอบ
ตัวอาคารโดยรวมของอาคารขุนอำไพพาณิชย์ตกแต่งด้วยการทาสีครีมหรือสีเหลืองอ่อน ลายปูนปั้นประดับส่วนต่าง ๆ ทาด้วยสีเหลืองเข้มและสีขาว ผนังเหนือกรอบวงโค้งของประตู หน้าต่างแต่ละชั้นในแต่ละคูหา ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ที่ยอดปั้นลมและปลายทั้ง 2 ข้างของหน้าจั๋วแต่ละด้านตกแต่งด้วยลวดลายปูนบัวประดับยอดใน ส่วนที่อยู่ด้านบนสุดเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษาและก้านขด
ลวดลายปูนปั้น ทั้งผนังอาคารด้านหน้าและด้านหลัง ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นของอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้ ลวดลายส่วนมากได้รับอิทธิพลทางศิลปะและคติความเชื่อแบบจีนโบราณ คือ มักเป็นลวดลายที่มีความหมายสื่อถึงความเป็นมงคล ได้แก่
ฮก ลก ซิ่ว อันหมายถึง ชาติวาสนา ความมั่งคั่งหรือทรัพย์สมบัติ และความยั่งยืน ตามลำดับ
ฮก สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพดวงอาทิตย์ฉายรัศมี เป็นประกายเจิดจรัส และดอกพุดตาน
ลก สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพดอกเบญจมาศ
ซิ่ว สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพนกกระเรียน
ลายภาพพรรณพฤกษา ประกอบด้วยลายดอกบ๊วย ร่วมกับลายก้วนขด
ลายภาพสรรพสัตว์ ประกอบด้วยค้างคาวคายเหรียญเงินโบราณจำนวน 2 เหรียญ ซึ่งหมายถึงความพรั่งพร้อมด้วยโชคลาภและโภคทรัพย์
สถานที่ตั้ง : อาคารขุนอำไพพาณิชย์ ถนนอุบล ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ (วันที่เข้าชม ปิดด้านบน)
พิกัด : 15.114429, 104.332592
ถ่ายภาพเมื่อ : 23 กรกฏาคม 2560
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 23 กรกฏาคม 2560
ปรับปรุงล่าสุด :
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย
จำนวนผู้เข้าชม : 2193 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง