ธาตุลูกฆ่าแม่, ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ จ.ยโสธร
ธาตุลูกฆ่าแม่ หรือธาตุกล่องข้าวน้อยวัดทุ่งสะเดา มีลักษณะเป็นธาตุแบบลาว (ล้านช้าง) ฝีมือช่างพื้นถิ่น เป็นธาตุ (เจดีย์) ขนาดเล็กงทรงแปดเหลี่ยมประกอบด้วยฐานเอวขัน กล่าวคือเป็นฐานบัวเตี้ยๆ ที่ตกแต่งเป็นบัวคว่ำบัวหงาย ส่วนตรงกลางเป็นหน้ากระดานที่คอดเล็ก เหนือขึ้นไปตกแต่งเป็นบัวหงาย (บัวปากระฆัง) รองรับองค์ระฆังที่ตกแต่งแบบทรงสูง
ชะลูดขึ้นไปจนถึงส่วนยอดที่เรียวแหลม
ธาตุลักษณะนี้ เป็นธาตุที่พัฒนาต่อมาจากธาตุสี่เหลี่ยมแบบลาว (ล้านช้าง) ที่พบหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว
ประวัติของการสร้างธาตุแห่งนี้แตกต่างไปจากธาตุอื่น ๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยเป็นนิทานพื้นบ้านเล่าว่า มีชายหนุ่มชาวนา (บ้างว่าชื่อ ทอง) ที่ได้ทำนาทั้งชีวิต วันหนึ่งในเวลาเที่ยงรู้สึกเกิดอาการร้อนรนและความหิวโซ มารดาของหนุ่มชาวนาได้ส่งข้าวมาช้า เขาโกรธมารดาและทำร้ายใส่มารดา จนเกิดหกล้มและเสียชีวิต เขากินข้าวที่มารดาส่งมาให้ แต่ก็ไม่หมดก่อง และลูกชายก็เห็นมารดาเสียชีวิตบนพื้น จึงรู้สึกเสียใจมากที่ได้ทำผิดไป จึงได้สร้างธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อชดใช้บาปกรรม
ธาตุเจดีย์ที่บ้านสะเดานั้นอยู่ในบริเวณวัดเก่าลักษณะเจดีย์เหมือนกู่อัฐิสัณฐานไม่ต่างกับก่องข้าวหรือข้องใส่ข้าวเหนียวที่เติมส่วนยอดให้เป็นเจดีย์เป็นฝีมือพื้นบ้าน ด้านหน้ามีฐานอิฐอูปโมงค์ไว้พระพุทธรูปเช่นเดียวกัน เรื่องเจดีย์สองแห่งนี้สรุปตุบตับได้ว่า ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่น่าจะเป็น ธาตุเจดีย์ที่บ้านสะเดา ซึ่งมีตำนานเล่าว่า หนุ่มชาวนาบ้านสะเดาชื่ออะไรไปตั้งกันเอาเอง (เดิมให้ชื่อทอง เพื่อให้สอดคล้องกับพระธาตุองค์แรก) เป็นคนขยันทำนาแต่เช้าตรู่ ทุกวันมารดาจะทำอาหารมาส่งที่ทำนาตอนกลางวัน วันหนึ่งทำนาเหนื่อยมากจนหิวโซ และมารดาก็เกิดมาส่งข้าวช้าเพราะทุกวันนั้นใช้ก่องข้าวขนาดใหญ่วันนั้นหาไม่เจอคงเสียเวลาหาจนตัดสินใจเอาก่องข้าวน้อยใส่มาก่อน
เมื่อลูกชายเห็นก่องข้าววันนี้เป็นก่องข้าวน้อยเลยโกรธมารดาและทำร้ายด้วยความหิว แม้มารดาจะบอกว่าแม่ใส่ข้าวมาจนแน่นก็ตามก็ไม่เชื่อ มีการเล่าเรื่องให้มารดาหกล้มหัวฟาดพื้นบ้างเล่าว่าลูกชายโมโหเอาไถทุ่มใส่บ้างก็แต่งเติมเสริมกันไป เมื่อลูกชายกินข้าวในก่องข้าวน้อยแล้วจึงรู้ว่าก่องข้าวน้อยนั้นจุข้าวกินไม่หมด ครั้นลูกชายเห็นมารดาเสียชีวิตลงก็สำนึกผิด จึงขอสร้างธาตุก่องข้าวน้อยทดแทนคุณมารดาขึ้น ก่อนถูกนำไปต้องโทษประหารในความผิดนั้น ดังนั้นธาตุก่องข้าวน้อยจึงควรจะเรียกเป็นเจดีย์ก่องข้าวน้อยเสีย ตามตำนานนี้ ไม่ใช่พระธาตุหรือธาตุอะไรเลย
เค้าเรื่องจริงน่าจะเกิดขึ้นช่วงต้นรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปีมาแล้ว หากย้อนประวัติศาสตร์ก็จะสอดรับกันว่าเมื่อพ.ศ.2357 รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดให้ยกฐานะเป็น “เมืองยโสธร” เดิมชื่อเมืองยศสุนทร ด้วยมีเจ้าเมืองชื่อพระสุนทรราชวงศา ต่อมาพ.ศ.2443 ได้แบ่งพื้นเป็น 2 อำเภอ เรียกอำเภออุทัยยโสธร และ อำเภอปจิมยโสธร และ พ.ศ.2450 ได้ยุบเมืองยโสธรไปรวมกับจังหวัดอุบลราชธานี จนพ.ศ.2515 จึงตั้งเป็นเมืองยโสธรกลับตามเดิม และเป็นภูมิเมืองการเกษตรที่ข้าวบริบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติ
ธาตุบ้านสะเดา ชื่อเรียกขานแต่ก่อน ประวัติแต่เดิม
องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐสององค์แรก มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นรูปแบบของธาตุอีสานทรงแปดเหลี่ยม มีช่วงฐานต่ำ เหนือขึ้นมาเป็นส่วนแอวขันรองรับองค์เรือนธาตุ ลักษณะคล้ายลาดบัวขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม และยอดบัวคล้ายบัวแปดเหลี่ยมทรงสูง เป็นยอดธาตุที่ซ้อนกับสองชั้น คั่นด้วยแอวขันขนาดเล็ก ช่วงล่างมีลายปูนปั้นเป็นรูปกลีบบัว เหนือสุดขององค์ธาตุเป็นยอดฉัตร ด้านหน้าของธาตุมีร่องรอยแท่นวางของบูชา
ธาตุองค์ที่สองตั้งอยู่ใกล้ธาตุองค์แรก แต่มีขนาดเล็กกว่า ปัจจุบันเหลือแต่เพียงส่วนฐาน ตรงกลางมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมคล้ายเป็นกรุ
โบราณวัตถุ ที่บรรจุในกรุกลางฐานได้แก่ พระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาดปิดทอง พระพิมพ์ กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีนจากโบราณวัตถุ และลักษณะของธาตุ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ โดยฝีมือช่างพื้นเมือง
บ้างก็ว่า โดนประหารชีวิตบ้าง บวชตลอดชีวิตบ้าง....
สถานที่ตั้ง : บ้านสะเดา ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร
ถ่ายภาพเมื่อ : 24 สิงหาคม 2557
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 3 เมษายน 2558
ปรับปรุงล่าสุด : 19 พฤศจิกายน 2562
จำนวนผู้เข้าชม : 6468 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง