พระธาตุตาดทอง จ.ยโสธร
"ธาตุตาดทอง" อยู่กลางทุ่งนา ที่บ้านตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร บริเวณบ้านตาดทองเคยเป็นแหล่งชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานการอยู่อาศัยเป็นแหล่งฝังศพและมีเศษภาชนะแบบที่พบในทุ่งกุลาร้องไห้ มีเนินดินขนาดราว ๕๐๐ X ๖๕๐ เมตรรูปวงรี มีคูน้ำล้อมรอบ แต่ปัจจุบันทางหลวงตัดผ่านกลางเนิน จนแบ่งออกเป็นสองฟากและมีบ้านเรือนตั้งอยู่หนาแน่น พบใบเสมาจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าบริเวณลุ่มน้ำชีตอนปลายต่อเนื่องกับอำนาจเจริญและอุบลราชธานีมีการผสมผสานของวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเจนละในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ดังพบจากโบราณสถานที่ดงเมืองเตยซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลนัก
ต่อมาบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมล้านช้างมีการสร้างธาตุซึ่งมีเรือนธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มจระนำอยู่ทั้งสี่ทิศและมีรูปทรงคอดที่กลางเรือนธาตุทำให้คล้ายกับรูปร่างของก่องข้าว ซึ่งเป็นทรงสูงแบบก่องใส่ข้าวที่พบในท้องถิ่น ในตำนานของบ้านตาดทองซึ่งผูกพันกับพระธาตุพนมในวัฒนธรรมในเขตลุ่มน้ำโขง เล่ากันว่า ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้นำเอาของมีค่าต่างๆ รวบรวมใส่ถาดทองคำเพื่อจะนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่องค์พระธาตุพนมสร้างเสร็จเสียก่อน ชาวบ้านจึงได้สร้างธาตุตาดทองและนำของมีค่ามาบรรจุไว้ในนี้แทน
ส่วน "ธาตุลูกฆ่าแม่" ที่เชื่อว่าสร้างตามตำนานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่นั้น เป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนา ตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลายอารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยเหตุเพียงข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิดที่ตนกระทำมาตุฆาตสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ที่ "วัดทุ่งสะเดา" ห่างไปราว ๒ กิโลเมตร เป็นสถูป๒ องค์ ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์หนึ่งเหลือแต่ฐานอีกองค์หนึ่งมีฐานและเรือนธาตุเป็นรูปแปดเหลี่ยมมียอดเรียวแหลม
ข้อมูลใหม่จากป้ายกรมศิลปากร
ประวัติพระธาตุตาดทอง ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24 และอาจมีความเกี่ยวเนื่องกับนิทานพื้นบ้านเล่าสืบกันมาว่า
เมื่อผู้คนในแถบอำเภอรัตนบุรีทราบข่าวการบูรณะพระธาตุพนม จึงพร้อมใจกันรวบรวมวัตุมงคลสิ่งมีค่า
เพื่อนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่เมือเดินทางถึงบ้านตาดทองได้พบกับชาวบ้านสะเดา ตำบลตาดทอง ที่ไปช่วยบูรณะพระธาตุได้เดินทางกับมาบ้าน เพราะการบูรณะพระธาตุพนมได้เสร็จสิ้นแล้ว
ผู้คนเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์บรรจุของมีค่าที่ตนนำมา ชาวบ้านสะเดาจึงนำถาดทองที่ใช้อัญเชิญของมีค่านำไปบรรจุในพระธาตุพนม มารองรับของมีค่าที่ชาวอำเภอรัตนบุรีที่จะนำไปบรรจุในเจดีย์ที่กำลังสร้าง จึงเรียกว่า
" พระธาตุตาดทอง หรือ ถาดทอง "
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมพระธาตุตาดทอง เป็นเจดีย์ทรงมณฑป ยอดบัวเหลี่ยม ในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส สร้างก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียง รองรับฐานบัวท้องไม้ ลูกแก้วอกไก่ ส่วนมณฑปทำย่อเก็จมีซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน
ยอดซุ้มโค้งแบบซุ้มหน้านาง ภายในประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา เสาซุ้มทำลายแสงตาเวน (ตะวัน) ประดับกระจก ส่วนยอดเป็นบัวสี่เหลี่ยมทำย่อเก็จเป็นรูปบัวเหลี่ยมมีเครื่องยอดซ้อนกัน 3 ชั้น ยอดแหลม
โดยรอบมีใบเสมาสมัยทวารวดี และกลุ่มเจดีย์รายจำลองทรงบัวเหลี่ยม
ด้านหน้าพระธาตุตาดทอง มีอูปมุงแบบพื้นถิ่นอีสานในผังเหลี่ยมจตุรัส ลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมหลังคาโดมเอนลาดสอบเข้าหากัน สันหลังคาประดับปูนปั้นรูปนาค ยอดหลังคาในตอนกลาง เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน
เอกลักษณ์ของพระธาตุตาดทอง คือ การออกแบบรูปทรงเจดีย์ที่สวยงาม และเป็นพระธาตุแห่งหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องนิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ อีกทั้งมีประวัติอ้างอิงเกี่ยวข้องกับเหตุการณการสร้างพระธาตุพนม
ข้อมูล ธาตุลูกฆ่าแม่หรือธาตุก่องข้าวน้อย
สถานที่ตั้ง : บ้านตาดทอง ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร
ถ่ายภาพเมื่อ : 24 สิงหาคม 2557, 14 สิงหาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 3 เมษายน 2558
ปรับปรุงล่าสุด : 19 พฤศจิกายน 2562
จำนวนผู้เข้าชม : 3880 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง