+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
พระธาตุยาคู จ.กาฬสินธุ์
พระธาตุยาคู หรือพระธาตุใหญ่ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ก่อด้วยอิฐ ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกัน คือ
สมัยทวารวดี ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ มีปูนปั้นประดับ สร้างในสมัยทวารวดี
สมัยอยุธยา ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยม ซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิม เป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา
สมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอด สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
รอบๆ องค์พระธาตุ พบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นภาพพุทธประวัติ
พระธาตุยาคู ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480 และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม 2525 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2งาน
เมืองฟ้าแดดสงยาง
ฟ้าแดดสงยาง หรือที่เรียกเพี้ยนเป็น ฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากแผนผังของเมือง มีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณที่มีคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ความยาวของคันดิน ยาวโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางระหว่างคันดินทั้งสอง
จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-15 ดังหลักฐานทางพุทธศาสนาที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและภายนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทรายจำหลักภาพเรื่องชาดกและพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดดพธิ์ชัยเสมาราม ซึ่งอยู่ภายในเมือง บางส่วนยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งเดิม และบางส่วนนำไปเก็บรักษาและจัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ขอนแก่น
นอกจากนั้น ยังมีซากศาสนสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกเมือง เช่น พระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีย์บริวาร ศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด โนนฟ้าแดด เป็นต้น
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นโบราณสถานของชาติ โดยเป็นกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอน 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479
พระธาตุยาคู ถนนที่จะเลี้ยวเข้าอยู่ตรงข้ามวัดโพธิ์ชัยเสมาราม มีพิพิธภัณฑ์ใบเสมาหินทวาราวดี ให้ชมด้วย อย่าลืมแวะ วิ่งตรงไปอีกหน่อยฝั่งซ้ายมือกลางทุ่งนาจะเป็นโนนสาวเอ้ เป็นสถานที่ในตำนานอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เพราะอยู่ใกล้ๆ กัน
สถานที่ตั้ง : พระธาตุยาคู ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
ถ่ายภาพเมื่อ : 3 กุมภาพันธุ์ 2556
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 6 มีนาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 2371 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง : ข้อมูลจาก ป้ายกรมศิลปากร