+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
พิพิธภัณฑ์เมืองฟ้าแดด จ.กาฬสินธุ์
เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองในยุคโบราณ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ประมาณ 1,400 ปีล่วงมาแล้ว มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น คนพื้นเมืองเรียก ฟ้าแดดสูงยาง ในบทวรรณกรรมท้องถิ่นเรียก ฟ้าแดดสงยาง เรียกตามชื่อบ้านเรียก บ้านเสมา ตามประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต เรียก โนนผึ่งแดดหรือโพนผึ่งแดด เป็นต้น ตั้งอยู่ในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐปนดิน มีคูเมืองสองชั้น มีลักษณะเป็นท้องน้ำ นอกจากนี้ยังมี พระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดี แต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง มีการขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร 130 แผ่น
ประติมากรรมที่ถือว่าโดดเด่นที่สุดที่พบในชุมชนสมัยทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งไม่ใช่พระพุทธรูปหรือธรรมจักรที่นิยมในภาคกลาง คือ ใบเสมา ทั้งแบบที่มีภาพเล่าเรื่องและแบบที่ไม่มี ใบเสามาเหล่านี้อาจใช้ในการปักเขตแดนศาสนสถาน ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากกว่า 14 แห่ง ( จำนวนที่ขุดแต่งครั้งแรกในปี 2510-2511)
ประติมากรรมในทางพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจอีกประเภทคือ พระพิมพ์ดินเผา ซึ่งขุดพบที่เมืองโบราณแห่งนี้จำนวน 7 พิมพ์ด้วยกัน พิมพ์ที่พบมากที่สุด (83 องค์) ซึ่งอาจจะเป็นพิมพ์พื้นเมือง และแพร่หลายในเขตลุ่มน้ำชี เพราะพบที่เมืองโบราณคันธาระ อำเภอกันทรวิชัยด้วย คือ ปรางค์สมาธิบนฐานดอกบัว ส่วนพิมพ์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษของพระพิมพ์ลุ่มน้ำชี คือ ปางธรรมจักร ซึ่งพบเฉพาะที่เมืองโบราณฟ้าแดดสงยางและเมืองโบราณคันธาระเท่านั้น ไม่ปรากฏในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการจารึกบนพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสงยางด้วย ซึ่งอักษรที่ใช้จารึกเป็นอักษรสมัยหลังปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 14) ภาษามอญโบราณ ด้านบนมีเนื้อหากล่าวถึง พระเจ้าอาทิตย์ ส่วนด้านหลัง เป็นข้อความสั้นๆ กล่าวแต่เพียงสังเขปว่า "พระพิมพ์องค์นี้ ปิณญะอุปัชฌายาจารย์ ผู้มีคุณเลื่องลือไกล" ซึ่งก็อาจแปลความได้ว่า พระพิมพ์องค์นี้ ท่านปิณญะอุปัชฌาจารย์ เกจิผู้มีชื่อเสียงได้สร้างขึ้นไว้สำหรับให้สาธุชนได้รับไปบูชา
หลักฐานที่พบ พบร่องรอยของศาสนสถาน 14 แห่ง ลักษณะของแผนผังศาสนสถานที่สร้างขึ้นตามคติในพุทธศาสนา เป็นศิลปกรรมแบบทวารวดี พระธาตุยาคู ใบเสมาหินทรายสีแดง ที่มีทั้งเป็นแท่งหินกลม เหลี่ยมและแผ่นศิลา ทั้งแบบแผ่นหินทรายเกลี้ยง แผ่นหินทรายสลักลวดลาย และมีจารึกตัวอักษรโบราณ ที่พบส่วนใหญ่ไม่มีลวดลาย ส่วนแผ่นที่มีลวดลายมักเป็นเสมารูปกลีบบัว จำหลักเป็นลายสถูปแบบทวารวดี ภาพสำคัญคือภาพจำหลักเรื่องราวพุทธประวัติ และมหานิบาติชาดกที่งดงามมาก ทำให้ทราบถึงคติความเชื่อความนิยม รวมถึงการแต่งกายและสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ในสมัยนั้น เมืองฟ้าแดดสงยางจึงนับเป็นแหล่งเสมาหินใหญ่และสำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย ซึ่งใบเสมาในจำนวนนี้กว่า 130 แผ่น ที่กรมศิลปากรขึ้น
ทะเบียนไว้ ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น
นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ดินเผา เป็นงานอิทธิพลสกุลช่างฝีมือคุปตะ รุ่นหลัง อายุราว 1,000-2,000 ปี ลูกปัด เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา กล้องยาสูบดินเผาลวดลายอมราวดีก้านขดเป็นรูปตัวมังกร อายุ 7,000 ปี และที่น่าสนใจคือ กล้องยาสูบชนิดเดียวกันแต่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ อายุ 5,000-6,000 ปี เป็นเครื่องยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมิได้เริ่มขึ้นในบริเวณนี้ก่อนทุกๆ ที่ในโลก นอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกมนุษย์ปะปนอยู่ในหลุมขุดภายในบริเวณเมืองโบราณนี้ด้วย
พิพิธภัณฑ์เมืองฟ้าแดด : จัดแสดงใบเสมาเมืองฟ้าแดด พร้อมป้ายคำอธิบายให้ท่านได้ชมตลอดทั้งวัน ตั้งอยู่ที่ วัดโพธิ์ชัยเสมารามหรือวัดบ้านก้อม ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์จ.กาฬสินธุ์ (ตรงข้ามกับถนนที่จะเลี้ยวไปพระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง)
เส้นทางเข้าสู่เมืองฟ้าแดงสงยาง จากตัวจังหวัดไปตามเส้นทางหลวงสาย 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร
สถานที่ตั้ง : บ้านก้อม ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
ถ่ายภาพเมื่อ : 26 เมษายน 2557
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 10 กุมภาพันธ์ 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 8451 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง : ข้อมูลจาก prapayneethai.com