+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (องค์บน)
พุทธสถานภูปอ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปแกะสลักหิน อยู่สูงขึ้นไป ณ เพิงผาใกล้ยอดเขา ซึ่งยื่นออกมา 3.45 เมตร และสูงจากพื้น 2.65 เมตร
ก้อนหินที่รองรับเพิงผา จึงมีความสูงพอที่จะสลักรูปพระนอนประทับบนอาสนะ ลักษณะ คือ แกะเป็นแท่นสี่เหลี่ยมมีขาหนึ่งคู่ มีลักษณะคล้ายขาเตียงจนถึงพื้นด้านล่าง หน้าเพิงผาเป็นลานกว้างประมาณ 8.40 เมตร ความยาวของภาพสลักนับจากพระประภาวลีเหนือเศียรจนถึงขอบเตียงปลายพระบาท 5.20 เมตร ส่วนกว้างสุด 1.50 เมตร
ลักษณะองค์พระ สลักเป็นปฏิมากรรมนูนสูง สูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 55 ซม. เป็นรูปพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์ (ประทับนอน) เส้นมีความอ่อนช้อยไปตามรูปทรงของปางไสยาสน์ ไม่ได้แกะในกรอยสี่เหลี่ยมเส้นตรง ทำให้ดูมีชีวิตชีวา ลอยเด่นออกมาจากพื้นหลัง
องค์พระทอดองค์ยาวในท่านอนตะแคงขวา รูปแบบที่เรียกว่า " สีหไสยาสน์ " ท่านอนดุจพญาราชสีห์ อันเป็นพุทธลักษณะที่พระพุทธเจ้าปฏิบัติ จนเกิดเป็นปางสีหไสยาสน์หรือปางไสยาสน์นั่นเอง พระเศียรหันสู่ทิศเหนือค่อนมาทางทิศตะวันตกเพียงเล้กน้อย พระพักตร์หันสู่ทางทิศตะวันตก วงพระพักตร์รูปไข่ พระขนงเป็นเส้นโค้งคม ยาวรับกับพระเนตร พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มพระสรวญเล็กน้อยรับกับพระปรางค์และพระหนุอิ่มเอิบ พระกรรณยาวได้สัดส่วน เป็นพระพักตร์พระพุทธรูปแบบอมราวดีและแบบสุโขทัย เม็ดเกศาเป้นรูปก้นหอยขนาดใหญ่ พระอุษณีษ์นูนเป้นรูปกรวย ต่อด้วยพระเกตุมาลาเป็นเปลวสั้นสลักเป็นเส้นบางๆ
พระเศียรหนุนบนพระกรขวาซึ่งมีหมอน (ขวาง) เป็นรูปสามเหลี่ยมรองรับ พระกรซ้ายวางพาดแนบพระวรกาย ซึ่งแสดงส่วนเว้า ส่วนโค้งตามแบบรูปร่างมนุษย์ แสดงการครองผ้าแบบห่มเฉียงแนบพระองค์ สลักร่องเป็นแนวสังฆาฏิพาดทับไปบนพระปฤษฏางค์ซ้าย ปลายสังฆาฏิหยักริ้วเล็กน้อย แสดงริ้วอุตราสงค์ (จีวรผ้าห่มของพระสงฆ์) และริ้วชายอันตรวาสก (สบงผ้านุ่งของพระสงฆ์) พระบาทซ้ายเกยพระบาทขวา คู้เล็กน้อยไม่ซ้อนกันแบบสนิทในแนวฉากหรือเกือบจะตั้งฉากตามพุทธประติมารูปพระนอนทั่วไป
สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 ลักษณะศิลปะแบบทวารวดี ผสมผสานแบบพุทธศิลปสุโขทัย เรียกว่า ปางสีหไสยาสน์ (พระพุทธรูปปางไสยาสน์ )
บันไดทางขึ้นเพื่อสักการะ ทั้งหมด 426 ขั้น
พระพุทธปางปรินิพพาน (องค์ล่าง)
ลักษณะ เป็นภาพแกะสลักบนแผ่นหินใต้เพิงผาเชิงเขา สูงขึ้นจากพื้นหิน 15 ชม. ความยาวของภาพสลัก 3.30 เมตร กว้าง 1.27 เมตร ภาพสลักนี้มิได้สลักแต่รูปองค์พระนอนลอยๆ แต่สลักบนแผ่นพื้นหินให้เป็นรูปผ้าปูลาดรององค์พระ และผ้า (หมอน) รองหนุนพระเศียร และรองพระบาททั้งคู่
รอบๆ พระวรกายและพระเศียร สลักเป็นรูปประภาวลี ที่มีเส้นกรอบนอกของประภาวลีรอบพระเศียร สลักเป็นดวงดอกไม้เป็นระยะ ทำให้ดูคล้ายพระรัศมีเพิ่มมากขึ้น องค์พระนอนข้างตามแบบสีหไสยาสน์ พระเศียรประทับบนพระหัตถ์ และพระกรข้างขวาหันสู่ทิศเหนือ พระพักตร์หันสู่ทิศตะวันตก
พระพักตร์เป็นรูปเหลี่ยมแป้น ขมวดพระเกศาใหญ่ พระอุษณีนูนแหลมเป็นรูปกรวย รายละเอียดพระพักตร์คมชัด พระกรซ้ายวางแนบทอดพระองค์ พระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวาในแนวเกือบตั้งฉาก แสดงการครองผ้าแบบห่มเฉียงแนบพระองค์ ไม่แสดงผ้าเป็นจีบแต่อย่างได เว้นแต่แสดงชายผ้าแผ่พริ้วเล้กน้อยในช่วงล่าง ปลายพระบาทด้านล่างมีตัวอักขระโบราณ แต่ในปัจจุบันมีผู้ทาสีทองสังเคราะห์ทับตลอดแผ่นหินที่มีภาพสลักนี้ ทำให้ไม่อาจทราบว่าข้อความประการได หรือกำหนดอายุสมัยของอักขระที่คนโบราณได้จากรึกไว้ได้
สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 ลักษณะศิลปกรรมสร้างตามศิลปแบบทวารวดี สกุลช่างอีสานอย่างเห็นได้ชัด โดยเรียกว่า ปางปรินิพพาน
ปางปรินิพพาน เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะ บรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา (เรียกโดยทั่วไปว่าพระนอน หรือพระไสยาสน์) เช่นเดียวกับปางโปรดอสุรินทราหู และปางทรงพระสุบินหรือเรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์
ความแตกต่างระหว่าง ปางปรินิพพาน กับ ปางไสยาสน์
หลายตำราบอกว่าปางปรินิพพาน ต่างจากปางไสยาสน์ตรงที่พระหัตถ์ขวาของพระพุทธองค์จะไม่ทรงชันพระเศียรตั้งขึ้น แต่จะแผ่ราบลงกับพื้น ซึ่งเป็นลักษณะทอดร่างวางขันธ์ดับ มุ่งสู่มหาปรินิพพาน
สถานที่ตั้ง : วัดอินทร์ประทานพร ภูปอ ต.ภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
ถ่ายภาพเมื่อ : 5 มีนาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 6 มีนาคม 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 6066 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง : ข้อมูลจาก ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในวัด | th.wikipedia.org