+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ฤษีดัดตน วัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร
ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ในปี พ.ศ. 2331 เมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (ปัจจุบันคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารหรือวัดโพธิ์) และข้อมูลของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน ระบุว่า มีเขาฤาษีดัดตน ซึ่งก็คือ สวนสุขภาพอยู่ใกล้พระวิหารทิศใต้ เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้เมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และประยุกต์กับคติของไทยที่ยกย่องฤาษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่าง ๆ เป็นรูปฤาษีดัดตน แสดงท่าไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียนและรักษาโรคได้อย่างกว้างขวาง
สมัยแรกสร้างนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2379 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด และโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระราชโอรส ในรัชกาล ที่ 1 พระนามเดิม พระองค์เจ้าดวงจักร) เป็นแม่กอง กำกับช่าง หล่อรูปฤาษีแสดงท่าดัดตน ด้วยสังกะสีผสมดีบุก (เรียกว่า ชิน) จำนวน 80 ท่า เสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสนาอำมาตย์และนักปราชญ์ราชบัณฑิต ร่วมกันแต่งโคลงประกอบรูปฤาษีดัดตน โดยพระองค์เองก็ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย และจารึกโคลงเหล่านั้นลงบนแผ่นศาลาติดไว้ตามผนังศาลารายรอบวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
"การดัดตน" เป็นการบริหารร่างกาย หรือกายกรรม เพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งมีผลพลอยได้คือ เพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น แก้โรคลมทั้งสรรพางค์กาย แก้เมื่อย แก้ปวด เป็นต้น ที่เรียกว่า "ฤษีดัดตน" คือ การพักผ่อนอิริยาบถ แก้เมื่อย แก้ขบ ระบบตามร่างกายของเหล่าฤษี ชีไพร ผู้ได้บำเพ็ญพรต เจริญภาวนามานานวันละหลายชั่วโม
รัชกาลที่ ๓ ระบุว่าท่าฤษีดัดตนมี 80 ท่า แต่ในปัจจุบันนี้คงเหลือเพียง 24 ท่า 25 ตน ท่าฤษีดัดตนเป็นการบริหารร่างกายของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเน้นการฝึกลมหายใจและใช้สมาธิร่วมด้วย จึงเป็นทั้งการบริหารร่างกายและบริหารจิต รวมทั้งช่วยในการบำบัดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง และยังทำให้ร่างกายตื่นตัว แข็งแรง และเป็นการพักผ่อน ท่าต่างๆ ที่ใช้ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย นับว่ามีประโยชน์เป็นอันมาก ได้แก่
1. ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของแขนขาหรือข้อต่างๆ เป็นไปอย่าง คล่องแคล่ว มีการเน้นการนวด โดยบางท่าจะมีการกดหรือบีบนวดร่วมไปด้วย
2. ทำให้โลหิตหมุนเวียน เลือดลมเดินได้สะดวก นับเป็นการออกกำลังกาย สามารถทำได้ในทุกอิริยาบถของคนไทย
3. เป็นการต่อต้านโรคภัย บำรุงรักษาสุขภาพให้มีอายุยืนยาว
4. มีการใช้สมาธิร่วมด้วยจะช่วยยกระดับจิตใจให้พ้นอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ความง่วง ความท้อแท้ ความเครียด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจหากมีการฝึกการหายใจอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการจารึกในโคลงบานพับแผนก บนแผ่นศิลารายรอบผนังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) กล่าวถึงความเป็นมาของฤาษีดัดตน ว่า
ลุศักราชพ้น พันมี เศษเฮย
ร้อยกับเก้าสิบแปดปี วอกตั้ง
นักษัตรอัฐศกรวี วารกดิก มาศแฮ
สุกรปักษ์ห้าค่ำครั้ง เมื่อไท้บรรหาร
ให้พระประยุรราชผู้ เป็นกรม หมื่นแฮ
ณรงค์หริรักษ์รัตน์ ช่างใช้
สังกสีดิบุกผสม หล่อรูป
นักสิทธิ์แปดสิบให้ เทิดถ้าดัดตน
เสร็จเขียนเคลือบภาพพื้น ผิวกาย
ตั้งทุกศาลาราย รอบล้อม
อาวาสเชตวันถวาย นามทั่ว องค์เอย
จารึกแผ่นผาพร้อม โรคแก้หลายกล
สถานที่ตั้ง : ฤษีดัดตน วัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร
ถ่ายภาพเมื่อ : 8 สิงหาคม 2555
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 23 กันยายน 2559
จำนวนผู้เข้าชม : 3593 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง : ข้อมูลจาก : watpho.com, yesspathailand.com