+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ท่านเกิดเมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นบุตรของนายมอ และ นางพิลา แก้วสุวรรณ แต่เดิมครอบครัวท่านอยู่อำเภอด่านซ้ายดินแดนอันศักดิ์สิทธ์แห่งพระธาตุศรีสองรักเนื่องจากตัวอำเภอด่านซ้ายอยู่กลางหุบเขาพื้นที่ราบมีไม่มากนัก ทำให้การทำมาหากินลำบากจึงได้พากันอพยพมาอยู่บ้านโคกมน
บวชสามเณรเมื่ออายุ 19 ปี ณ วัดบ้านนาแก ตำบลบบ้านากลาง อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นสามเณรอยู่ถึง 4 ปีกว่า และได้อุปสมบทเมื่ออายุ 23 ปี วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2467 ณ วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยมีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงปู่ชอบมีการสร้างวัดไว้มากมาย เป็นสถานบำเพ็ญภาวนาปฏิบัติธรรมหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ศรีสะเกษ มุกดาหาร และประเทศลาว ที่วัดหลักกิโลที่ 136 เส้นทางไปเวียงจันทร์ วัดที่หลวงปู่สร่างขึ้นส่วนใหญ่ จะตั้งขึ้นเป็นป่าช้าหรือในป่าลึก สำหรับที่จังหวัดเลย หลวงปู่ชอบได้สร้างวัดจำนวนทั้งสิ้น 8 แห่ง คือ วัดป่าห้วยลาด วัดป่าบ้านบง วัดป่าสานตม วัดป่าม่วงไข่ (ปัจจุบันหลวงพ่อขันตี จำพรรษาอยู่) วัดป่าฐานสโม วัดปาโคกมนและวัดป่าสัมมานุสรณ์ ในสายพระธุดงค์กรรมฐานที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นที่ยกย่องว่าหลวงปู่ชอบ ฐานสโมถือว่าเป็นศิษย์ที่สำคัญอีกรูปหนึ่ง ที่มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในด้านความเพียร มีนิสัยมักน้อย สันโดษ ชอบแสวงหาความวิเวกอยู่เป็นนิจ ข้อปฏิบัติและธรรมของหลวงปู่ชอบ เป็นที่ยอมรับจากบรรดาคณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป หลวงปู่ชอบมักอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ว่าแสวงหาที่สงัดวิเวก เร่งทำความเพียรถาวนาอย่างหนักอย่าประมาท หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย นับเป็นพระอริยสงฆ์ที่สำคัญรูปหนึ่งของจังหวัดเลย
ปีพุทธศักราช 2514 อายุ 70 ปี ท่านป่วยเป็นอัมพาต ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ วัดป่าสัมมานุสรณ์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2538 สิริรวมอายุได้ 93 ปี 11 เดือน 27 วัน 70 พรรษา
วัดท่าแขก อ.เชียงคาน จ.เลย
วัดท่าแขก เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของอำเภอเชียงคาน มีความเงียบสงบร่มรื่นและมีทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงที่สวยงาม เหมาะกับการสงบจิตใจ อีกทั้งยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญคือพระพุทธรูปสามพี่น้องที่ได้รับเคารพสักการะอย่างมากจากชาวเชียงคานและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป สภาพของพระพุทธรูปได้รับการอนุรักษ์รักษาเป็นอย่างดี และทางวัดก็ได้ติดตั้งป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดและพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์
ในขณะที่จารึกวัดท่าแขก ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ถูกวางแอบอยู่ที่พื้นภายในอุโบสถ จารึกชิ้นนี้สามารถนำมาจัดแสดงหรือเล่าเรื่องราวของวัดได้เป็นอย่างดี
บริเวณใกล้เคียงวัดท่าแขก มีโรงเรียนมูลมังหลวงปู่ชอบฐานสโม และรูปปั้นเหมือนหลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์สายกรรมฐานที่มีศิษยานุศิษย์มาก และท่านเป็นประธานองค์อุปถัมภ์การบูรณะและฟื้นฟูวัดท่าแขก อีกทั้งท่านมีดำริอยากสร้างโรงพยาบาล และสร้างโรงเรียนการกุศลเพื่อสงเคราะห์เด็กยากจน คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จึงได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนมูลมังหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2547 และเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนใน พ.ศ.2548
สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี 3 องค์ และจารึกอักษรธรรมอีสาน อยู่ภายในอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่
พระพุทธรูป 3 องค์ ชาวบ้านเรียกว่า พระพุทธรูปสามพี่น้อง มีลักษณะศิลปกรรมแบบสมัยทวารวดีตอนปลาย พระนามที่ชาวบ้านเรียกคือ หลวงพ่อแสนมงคล หลวงพ่อโชค และ หลวงพ่อชัย ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถด้านหลังเหนือพระประธาน (พระประธานมีพระนามว่า หลวงพ่อเชียงทองวัดท่าแขก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2537 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย)
หลวงพ่อแสนมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำจากหินทราย หน้าตักว้างประมาณ 60 เซนติเมตร สูง 1.2 เมตร
หลวงพ่อโชค เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำจากหินทราย หน้าตักว้างประมาณ 70 เซนติเมตร สูง 1.2 เมตร
หลวงพ่อชัย เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำจากหินทราย หน้าตักว้างประมาณ 65 เซนติเมตร สูง 1.2 เมตร
ตามประวัติการค้นพบพระพุทธรูปสามพี่น้องกล่าวว่า พ.ศ.2470 หลวงปู่เสาร์ กัตสีโล หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่คำหล้า ขันติธโร และคณะทั้งหมด 5 รูป ได้เดินทางมาพักภาวนาอยู่ที่วัดร้างท่าแขก หลวงปู่เสาร์ท่านพาหลวงปู่ชอบและพระเณร ร่วมกับเมืองเชียงคาน ทำการบูรณะซากปรักหักพังของอาคารแล้วพบพระพุทธรูปสามพี่น้องอยู่ภายในอุโบสถ
จารึกวัดท่าแขก วางอยู่บริเวณหน้าประตูด้านหลังอุโบสถ เบื้องขวา (ด้านทิศใต้) ของพระประธาน ลักษณะจารึกเป็นจารึกบนหินชนวน รูปเสาสี่เหลี่ยม กว้าง 18 เซนติเมตร สูง 79 เซนติเมตร มีจารึก 6 บรรทัด ข้อความจารึกบอกฤกษ์ยามในการสร้างโบสถ์
ข้อความจารึกบรรทัดที่ 1 ระบุ ศักราช 28 คือ จ.ศ.1028 ตรงกับ พ.ศ.2209 อันเป็นสมัยที่พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ.2181-2238)
นอกจากนี้ รอบอุโบสถมีกองอิฐและส่วนประกอบสถาปัตยกรรมก่ออิฐถือปูนอยู่เป็นกลุ่มๆ สันนิษฐานว่าเป็นซากโบราณสถานหรืออุโบสถหลังเดิม ที่ถูกอุโบสถหลังปัจจุบันก่อสร้างทับ
นอกจากนี้ วัดท่าแขกยังตั้งอยู่ในบริเวณแก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและเป็นแหล่งขายมะพร้าวแก้วที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเชียงคาน
พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลา 6.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม
สถานที่ตั้ง : วัดท่าแขก หมู่ 4 บ้านน้อย ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย
พิกัด : 17.904931 N, 101.683407 E
ถ่ายภาพเมื่อ : 25 ธันวาคม 2559
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 30 ธันวาคม 2559
ปรับปรุงล่าสุด :
จำนวนผู้เข้าชม : 3050 ครั้ง
ที่มาข้อมูล : sac.or.th
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง