+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ฝ่ายคณะสงฆ์มีท่านเทวธัมมี (ม้าว) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เริ่มก่อสร้างกุฏิ วิหาร ศาลการเปรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2398 ตามประวัติท่านเทวธัมมี ได้ไปรับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เป็นสามเณร และได้เป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งผนวช จึงได้ถือลัทธิธรรมยุติกนิกายสืบสายมาตั้งคณะธรรมยุติกนิกายที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในภาคอีสาน โดยมีท่านพันธุโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ดังนั้น ท่านเทวธัมมี จึงถือว่าเป็นพระเถระที่มีศักดิ์ใหญ่ เป็นที่เคารพยำเกรงของบรรดาเหล่าพระภิกษุสามเณร ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนทั้งหลายในสมัยนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาประกอบพิธีฉลองสมโภชฝังลูกนิมิตร และยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม จึงได้ทูลเกล้าถวายพระอุโบสถหลังนี้ ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อจากวัดศรีทองเป็น "วัดศรีอุบลรัตนาราม" ตามนามขององค์อุปถัมภ์
วัดศรีอุบลรัตนาราม เคยเป็นที่บรรพชาอุปสมบทของพระเถระผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายคันธุระและวิปัสนาธุระหลายรูป มีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท), สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส), พระอาจารย์ทา โชติปาโล, พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต, พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ), สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต), พระพรหมมุนี (บู่ สุจิณฺโณ) เป็นต้น
พระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม
พระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม จำลองแบบจากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา 4 ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ 5 ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลังด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้นภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่น ๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่าง
พระแก้วบุษราคัม ศิลปะแบบล้านช้าง
พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปโบราณอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 ปางมารวิชัย สร้างด้วยแก้วสีน้ำผึ้ง (สีเหลือง) หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูง 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดอุบลราชธานี
ตามตำนานกล่าวว่าพระแก้วบุษราคัมเป็นสมบัติของเจ้าปางคำ เจ้าเมืองนครเขื่อนขัณท์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) และได้ตกทอดมาถึงพระเจ้าตาผู้เป็นลูกพระเจ้าปางคำ ต่อมาในปีพ.ศ. 2314 นครเขื่อนขัณท์กาบแก้วบัวบาน ถูกพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ยกทัพต่อตี พระเจ้าตาถึงแก่อสัญกรรมในสนามรบ บุตรชายคือ พระเจ้าวอ (พระวรราชภักดี) ท้าวคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์) ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวคำโส ท้าวคำสู ท้าวคำขุย จึงหนีศึกมาสร้างบ้านแปงเมืองที่บ้านดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี และได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาด้วย
เมื่อเจ้าพระวอผู้พี่ชายถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ท้าวคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์) สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดแรกนั้นก็ได้สร้างหอพระแก้วไว้ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม
ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้สั่งข้าหลวงมากำกับดูแลตามหัวเมือง ทำให้ราชบุตรหนูคำ เจ้าเมืองสมัยนั้นเกรงว่าข้าหลวงจะแสวงหาสมบัติเมืองไปเป็นของตน จึงนำพระแก้วออกจากวัดหลวงไปซ่อนไว้ที่บ้านวังกางฮุง
กระทั่งอุปราชโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) สร้างวัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) ขึ้น จึงอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุบลรัตนารามจวบจนทุกวันนี้ ในยามปกติพระแก้วบุษราคัมจะประดิษฐานไว้ในตู้แก้วในพระอุโบสถเท่านั้น แต่ในเทศกาลสงกรานต์ ทางวัดจะอัญเชิญลงมาให้ประชาชนได้สรงน้ำกันทุกปี
ใบเสมาหินศิลาแลง
ใบเสมา ทำด้วยหินศิลาแลง นำมาจาก บ้านน้ำอ้อม อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ประมาณปี พ.ศ. 2507-2508
โดย พระครูวิจิตรธรรมภาณี (เขโม เล็ง) จำนวน 5 ใบ ฝังไว้ข้างพระอุโบสถทางทิศเหนือและทิศใต้ ข้างละ 2 ใบ และฝังไว้ทางทิศตะวันออกของหอระฆังใหม่ 1 ใบ
สถานที่ตั้ง : วัดศรีอุบลรัตนาราม ถนนอุปราช ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี
พิกัด : 15.229295, 104.855997
ถ่ายภาพเมื่อ : 18 ธันวาคม 2560
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 29 ธันวาคม 2560
ปรับปรุงล่าสุด :
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย
จำนวนผู้เข้าชม : 2689 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง