+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
วัดหอก่อง มาลัยข้าวตอก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
ประวัติบุญมาลัยข้าวตอก
เนื้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวคือ ดอกมณฑารพซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อถึงกาลเวลาที่ดอกมณฑารพจะบาน และร่วงหล่นก็ด้วยเหตุการณ์สำคัญๆ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จารุรงคสันนิบาต และทรงแสดงธรรมจักรกัปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเสมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพันต่อการเสด็จดับขันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่าพระภิกษุผู้ได้ชื่อว่าอรหันตขีนาสพและหมู่เหล่าข้าราชการบริพารประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการบูชา เพราะถือว่าข้าว เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้และต่อมามีการนำมา ประดิษฐ์ตกแต่งเป็นมาลัยที่สวยงาม เป็นที่มาของ “มาลัยข้าวตอก” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ระยะเวลาการแห่พวงมาลัยอำเภอมหาชนะชัย จะมีการแห่พวงมาลัย ๒ ครั้ง คือ
1.วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน โดยแห่ไปทอดถวาย ณ วัดหอก่อง
2.วัดฟ้าหยาดจะทำพร้อม ๆ กับบุญ ประจำปี หรือบุญกุ้มข้าวใหญ่ รวมถึงบุญคูณลานให้เสร็จพร้อมกันทีเดียว อยู่ช่วงประมาณเดือนยี่หรือเดือนสอง
ประเภทของพวงมาลัยพวงมาลัยของชาวอำเภอมหาชนะชัยมี 2 แบบ คือ
พวงมาลัยข้าวตอกแตก วัสดุที่ทำประกอบด้วยข้าวตอกแตกเป็นหลัก
1.ข้าวตอกแตก คือ ข้าวเปลือกที่คั่วให้ข้าวแตกออกจากเปลือกด้วยความร้อนจากไฟ จะคล้ายกับข้าวโพดคั่ว
2.พวงมาลัยแบบเส้นด้าย เป็นพวงมาลัยที่ทำด้วยเส้นฝ้ายเป็นหลัก
วิธีการทำด้ายสุก
จะอยู่ในขั้นตอนนำด้ายที่ทำเป็นติ้วแล้วมาแช่น้ำประมาณ 1 คืน ให้อิ่มตัวแล้วต้มน้ำใส่ข้าวสารเจ้า จากนั้นคั้นชนเอาน้ำข้าวไว้เพื่อนำฝ้ายไปแช่หรือชุบให้อิ่มตัวก่อนจะบีบฝ้าย แล้วนำไปตาก เส้นฝ้ายจะมีลักษณะกลม ขณะที่นำไปตากต้องหมั่นไปดึงเพื่อให้เส้นด้ายถึงพอดี เมื่อด้ายแห้งแล้วก็นำไปเพื่อใช้ในงานที่จะทำต่อไป
วิธีการร้อยมาลัย
ผู้ที่ทำพวงมาลัยจึงนำข้าวตอกแตก หรือฝ้ายมาทำพวงมาลัย ดังนี้
1. พวงมาลัยข้าวตอกแตก จะร้อยต่อดอกแบบอุบะ โดยมีความยาวอยู่ 3 ขนาด เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า ทำสายพวงมาลัย จำนวนสายมากน้อย เล็กหรือใหญ่ ตามแต่ศรัทธากำลังความสามารถของผู้ทำ สายมาลัยจะผูกนำมามัดใส่กรงที่ทำด้วยไม้เป็นรูปสามเหลี่ยมสองอันผูกไขว้กัน ซึ่งจะทำให้เกิดมุมดังนี้
1.1 มุมนอก 6 มุม จะมัดสายมาลัยที่สั้นที่สุด มุมละ 5-9 สาย
1.2 มุมใน 6 มุม จะมัดสายมาลัยที่ยาวขนาดกลาง มุมละ 5-9 สาย
1.3 ตรงกลาง จะทำเป็นพวงใหญ่และยาวที่สุดสายเดียว จะมัดโยงมาจากไม้ที่ใช้ห้อยพวงมาลัยแห่
2. พวงมาลัยเส้นด้าย ก็จะนำฝ้ายที่ทำเป็นเส้นด้ายเป็นติ้ว (ไจ,ไนหรือปอย) แล้วมาตกแต่งใส่กรงไม้เหมือนพวงมาลัยข้าวตอกแตก จะมีมุมนอก มุมในและตรงกลางสายมาลัยข้าวตอกแตกหรือมาลัยฝ้าย เมื่อมัดใส่กรงไม้แล้วก็จะนำมาประดับตกแต่ง ดังนี้
1. ตกแต่งเป็นลวดลาย เช่น ลวดลายตาข่าย ลายเกล็ด ลายก้านสามดอก ลายกระเบื้อง สายสี่ก้านสี่ดอก ลายดาวกระจาย ลายแก้วชิงดวง ลายแมงมุม ลายดาวล้อมเดือน และลายวิมานแปลง ตามแต่ฝีมือและความรู้ความชำนาญ
2. ตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ ทำเป็นดอกไม้ พู่ พุ่ม หรือสีสันของการประดิษฐ์งานฝีมือ
สถานที่ตั้ง : วัดหอกล่อง 96 หมู่ที่4 ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
พิกัด : 15.524881, 104.243552
ถ่ายภาพเมื่อ : 21 พค. 2560, 6 มีค. 2561
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 6 มีค. 2561
ปรับปรุงล่าสุด : 6 มีค. 2561
ข้อมูลจาก : visityasothon.com
จำนวนผู้เข้าชม : 3925 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง