+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
ใบเสมาบริเวณวัดอัมพวันเหนือ บ้านตาดทอง จ.ยโสธร
ส่วนใหญ่เป็นใบเสมารูปทรงแบบแผ่น บางแผ่นสลักรูปหม้อต่อด้วยกรวยซึ่งอาจเป็นเครื่องบวงสรวงบูชา หรือบางท่านเชื่อว่าเป็นสถูปทรงหม้อน้ำ บางใบมีฐานบัวซึ่งพบที่วัดบึงขุมเงิน ธาตุก่องข้าวน้อย เป็นต้น
วัดอัมพวันเหนือ ตั้งอยู่หลังตลาดบ้านตาดทอง ใบเสมาฝังไว้หน้าพระอุโบสถซ้าย-ขวา และจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบใน " ศาลาใบเสมาหินพันปี " สามารถเข้าชมได้ทั้งวัน
ใบเสมาที่พบในวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่ อาจเป็นลักษณะแท่งหินธรรมชาติ หรือแผ่นหินที่ไม่มีการโกลนให้เป็นรูปร่าง แบบแผ่นหิน (Slab Type) ที่มีการถากโกลนให้เป็นแผ่น หรือแบบแท่งเสา (Pillar Type) ที่มีการถากโกลนให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม มีการตกแต่งลวดลายโดยการแกะสลักลงบนใบเสมา
ใบเสมา วัดอัมพวันเหนือ มีให้เห็นทั้งแบบแผ่นหินและแบบแท่งเสา ความสูงตั้งแต่ 50 เซนติเมตร จนถึง 2 เมตร พบเสมาแบบที่โกลนเป็นแผ่น เป็นรูปทรงสมบูรณ์ และแบบที่ยังไม่โกลน ไม่พบที่วัดศรีธรรมารามและวัดโพธิ์ศรีมงคล ซึ่งเป็นวัดที่นำใบเสมาจากแหล่งเดียวกันไป แม้กระทั่งบริเวณพระธาตุตาดทอง (ธาตุก่องข้าวน้อย) สถานที่พบใบเสมาเหล่านี้ ยังไม่พบใบเสมาชนิดแท่ง และแบบที่ยังไม่ได้โกลนให้เห็น ลายสลักเป็นสันสถูปหม้อต่อด้วยกรวยประดับลาย
ด้านหน้าศาลาใบเสมาหินพันปี ยังพบแท่นหินสี่เหลี่ยมเจาะรูตรงกลาง แท่นหินสี่เหลี่ยมเจาะรูทั้ง 4 มุม และแท่นหินหลายๆ ลักษณะอีกจำนวนหนึ่ง
ศาลาใบเสมาหินพันปี จัดแสดงใบเสมาหลายรูปแบบ ทั้งแบบแผ่นและแบบแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีการตกแต่งใบเสมาด้วยรูปสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะ ตามที่ได้กล่าว ไว้แล้วว่า การปักใบเสมาแบบใบเดียวที่กลางลานนั้น อาจหมายถึงเครื่องหมายแทนสถูป โดยสังเกตจากรูปแบบของใบเสมาที่มีการสลักรูปสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะไว้ หม้อปูรณฆฏะ เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัญลักษณ์ที่พบมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณ และยังพบอีกในศิลปะลังกาสมัยอนุราธปุระ ในราวพุทธศตวรรษที่ 8-10 ปูรณฆฏะ เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์ในการอวยพรผู้มาศาสนสถานให้มีความสุขไปด้วย และด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันการรับสืบ ทอดวัฒนธรรมศาสนา และศิลปกรรมมาจากอินเดีย และลังกาด้วยเช่นกัน
สถานที่ตั้ง : วัดอัมพวันเหนือ บ้านตาดทอง หมู่ 9 ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร
ถ่ายภาพเมื่อ : 14 สค. 59, 31 ธค. 59
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 15 สิงหาคม 2559
ปรับปรุงล่าสุด : 5 กันยายน 2561
จำนวนผู้เข้าชม : 3179 ครั้ง
แหล่งที่มาข้อมูล : archae.su.ac.th, finearts.go.th, manager.co.th
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง