Isan Upload
ภาพสถานที่เพิ่มเติม
ศาลหลักเมืองจังหวัดสุรินทร์จ. สุรินทร์
ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เป็นสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร เดิมเป็นศาลที่ยังไม่มีเสาหลักเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลหลักเมืองใหม่ เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์ที่ได้มาจากนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเสาไม้สูง 3 เมตร วัดโดยรอบเสาได้ 1 เมตร ทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2517
ศาลหลักเมืองสุรินทร์เดิมเป็นศาลที่ยังไม่มีเสาหลักเมืองแต่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลานานนับ 100 ปี ครั้ง พ.ศ. 2511 จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการขอให้กรมศิลปากรออกแบบแปลนก่อสร้างตัวศาลหลักเมือง เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ซึ่งได้รับมอบมาจาก นายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ ราษฎร อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีความสูง 3 เมตรวัดรอบได้ 1 เมตรแกะสลักตกแต่งด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ต่อมา วันที่ 21 ส.ค. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเจิมเสาหลักเมือง ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานดำรัสว่า “การสร้างเสาหลักเมืองนี้ดี เป็นหลักแหล่งความสามัคคี ขอให้ชาวสุรินทร์จงมีความสามัคคีกัน สร้างความเจริญก้าวหน้า และขอให้ชาวสุรินทร์จงมีความร่มเย็นเป็นสุข”
นายสงวน สาริตานนท์ ผวจ.สุรินทร์ ในสมัยนั้น ได้อัญเชิญเสาหลักเมืองมายังจังหวัดสุรินทร์ มีการแห่ไปรอบเมืองและอัญเชิญเสาหลักเมืองขึ้นบนแท่นประดิษฐานไว้ที่ศาลหลักเมือง และเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2517 ได้ประกอบพิธียกเสาหลักเมือง และมีพิธีฉลองสมโภช
ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น เมื่อชาวบ้านพบถนนคอนกรีตที่ใช้เป็นสัญจรไปมา ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณศาล มีรอยแยกของถนนอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาถนนเริ่มยกตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ รถยนต์วิ่งผ่านไม่สะดวก หรือบางคันที่วิ่งผ่านต้องมีเหตุให้เครื่องยนต์ดับ จนต้องหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางบริเวณจุดตรงนี้ จากความผิดสังเกตของรอยแตกและยกตัวของถนนคอนกรีต จนสามารถมองเห็นช่องเป็นโพรงใหญ่อย่างชัดเจน ชาวบ้านบางคนลองเอามือล้วงเข้าไปในโพรงดังกล่าว บอกว่ารู้สึกถึงไอความร้อน ณ บริเวณนั้น จนอดที่จะแปลกใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้
เมื่อแรกขุดเจอพระพุทธรูปนาคปรก ต่อมาก็ได้พบกับวัตถุโบราณในบริเวณใกล้เคียง มีทั้งเครื่องลางรูปพญานาคที่ทำด้วยทองเหลือง เครื่องลางเป็นรูปพระนารายณ์นั่งคู่กับพระนางลักษมี ซึ่งมีพระพิฆเณศอยู่ตรงกลางด้านหน้าทำด้วยทองเหลือง รวมทั้งพระเครื่องดินเผาและกำไลโบราณทั้งหมดจำนวนมาก อายุราว 200 ปี
เมื่อได้ขุดลึกลงไปอีกจึงได้พบกับเครื่องปั้นภาชนะดินเผา เชื่อว่าน่าจะมีการสร้างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุราว 1,500 - 2,000 ปี สร้างความฮือฮาให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านได้นำมาตั้งไว้บูชา ณ ศาลหลักเมืองที่บริเวณใกล้เคียง
ข่าวอัพเดท
ข่าวสารอัพเดทสถานที่ :
ข่าวทั้งหมด
0 ข่าว