+ เพิ่ม |
- ลด ขนาดตัวอักษร
หอมเหศักดิ์บ้านสิงห์ท่า เจ้าคำสู-เจ้าคำสิงห์ เจ้าเมืองยโสธร บ้านสิงห์ท่า
พระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์) ดำรงฐานะเจ้าประเทศราช เป็นผู้ก่อตั้งเมืองยศสุนทร เจ้าคำสิงห์เป็นหลานของเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (เจ้าฝ่ายหน้า) อันได้สืบวงศ์มาจากเจ้าพระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) อันเป็นเชื้อสายราชวงศ์เชียงรุ้งสิบสองปันนา ท่านเกิดที่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) ไม่ปรากฏปีเกิด ท่านได้อพยพหนีภัยสงครามลงมาพร้อมเจ้าพระวรราชภักดี (เจ้าพระวอ) เจ้าคำผง เจ้าฝ่ายหน้า เจ้าทิดพรหม และเจ้าก่ำ และเมื่อครั้งที่เจ้าฝ่ายหน้า เป็นผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า ซึ่งท่านเป็นน้องของเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) แห่งเมืองอุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2334 เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้วได้พาพรรคพวกยกกำลังเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ เจ้าฝ่ายหน้า พร้อมเจ้าคำสิงห์จึงได้ยกกำลังไปปราบขบถและจับตัวอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตเสียที่แก่งตะนะ ปากด่านแม่น้ำมูล ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าฝ่ายหน้าขึ้นเป็น "เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช" ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้างจำปาสักดิ์ องค์ที่ 3 ให้เจ้าคำสิงห์เป็นที่เจ้าราชวงศ์สิงห์ ปกครองดูแลเมืองโขง (สีทันดร) ให้ย้ายไพร่พลครัวเรือนส่วนหนึ่งจากบ้านสิงห์ท่าไปอาศัยอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชพร้อมด้วยบุตรหลานคือ เจ้าคำสิงห์ จึงรับสนองตามพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ส่วนทางบ้านสิงห์ท่าได้มอบให้เจ้าคำม่วง ผู้เป็นน้องชายของเจ้าฝ่ายหน้าปกครองดูแลแทน
เมื่อปี พ.ศ. 2354 เจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1173 ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ได้ 21 ปี เจ้าราชวงศ์สิงห์ก็ได้นำไพร่พลจำนวนหนึ่งกลับมาอยู่ที่บ้านสิงห์ท่าตามเดิม แล้วได้ ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์ที่วัดมหาธาตุจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเจ้าราชวงศ์สิงห์ได้พัฒนาบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมากจนเหมาะที่จะตั้งขึ้นเป็นเมือง จนถึงปี พ.ศ. 2357 เจ้าราชวงศ์สิงห์จึงมรใบกราบบังคมทูลขอยกฐานะบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองพระราชทานนามว่า เมืองยศสุนทร ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมือง มีราชทินนามว่า "พระสุนทรราชวงศา"
พระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์) ได้นำไพร่พลบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ เช่น วัดมหาธาตุ วัดหลวงพระเจ้าใหญ่ (ปัจจุบันคือวัดสิงห์ท่า) เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสืบมา และก่อสร้างฉางข้าว สร้างที่ว่าราชการเมือง สร้างท้องพระโรง (โฮงคำ) และปกครองเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดสมัย จนท่านถึงแก่พิลาลัยในปี พ.ศ. 2366 ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร อยู่ 9 ปี ผลงานหรือเกียรติคุณของพระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์) นับเป็นเจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรคนแรก ส่วนเจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรคนต่อมาก็ยังคงใช้ราชทินนามว่า "พระสุนทรราชวงศา" ต่อมา แต่จะตามด้วยนามเดิมเช่น พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสีชา) , พระสุนทรราชวงศา (เจ้าฝ่ายบุต) เป็นต้น
หอมเหศักดิ์ ญาพ่อเฒ่า่ 2 ท่าน คือ
เจ้าผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า คนแรก เจ้าคำสู พระพิชัยราชขัติยวงศา (เจ้าฝ่ายหน้า) พ.ศ. 2314-2329
เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร คนแรกพระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์) พ.ศ. 2357-2366
สถานที่ตั้ง : หอมเหศักดิ์บ้านสิงห์ท่า เจ้าเมืองยโสธร บ้านสิงห์ท่า อ.เมือง จ.ยโสธร
พิกัด : 15.792029, 104.142814
ถ่ายภาพเมื่อ : 28 กรกฎาคม 2561
วันติดตั้งหน้าเว็บ : 4 สิงหาคม 2561
จำนวนผู้เข้าชม : 2315 ครั้ง
หมายเหตุ : เว็บมาสเตอร์เดินทางไปชมและถ่ายภาพเอง
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย